‘Sizzler’ หวังดึงคนรายได้น้อยเข้าร้าน เพิ่ม ‘เมนูราคาถูก’ ครอบคลุมทุกหมวด

‘Sizzler’ หวังดึงคนรายได้น้อยเข้าร้าน เพิ่ม ‘เมนูราคาถูก’ ครอบคลุมทุกหมวด

“Sizzler” ขอโตไตรมาสละ 10% หลังทำ “New High” ขายดีกว่าปี 2565 ลูกค้ากลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น หวังกวาดผู้บริโภคทุกเซกเมนต์ อัดพรีเมียมโปรดักต์-เพิ่มเมนู “Entry Price Point” ครบทุกหมวด พร้อมลุยต่างประเทศ ประเดิม “เวียดนาม” เป็นที่แรก

“9,000 ล้านบาท” คือมูลค่าตลาดสเต๊กในไทยที่มีแนวโน้มว่า จะโตต่อเนื่องได้อีกเรื่อยๆ ภายใต้ก้อนเค้กชิ้นโตเฉียดหมื่นล้านบาท “ซิซซ์เล่อร์” (Sizzler) ครอบครองมาร์เก็ตแชร์ไว้แล้ว 30% ในฐานะเจ้าตลาดที่มีส่วนแบ่งมากที่สุด

ที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของร้านซิซซ์เล่อร์มักถูกจดจำในฐานะ “เจ้าแห่งสลัดบาร์” กระทั่งปี 2566 จึงขอทวงคืนภาพจำร้านสเต๊กพรีเมียม ด้วยการออกเมนูใหม่ๆ พร้อมทั้งแคมเปญส่งเสริมการตลาดที่มุ่งเน้นไปในส่วนของ “พรีเมียม โปรดักต์” มากขึ้น ซึ่งก็พบว่า ยอดขายในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 2566 เติบโตกว่าช่วงต้นปี และยังมีลูกค้าเก่ากลับเข้ามาใช้บริการที่ร้านเพิ่มขึ้นด้วย

‘Sizzler’ หวังดึงคนรายได้น้อยเข้าร้าน เพิ่ม ‘เมนูราคาถูก’ ครอบคลุมทุกหมวด

แต่อย่างไรก็ตาม การมุ่งเน้นไปที่ “พรีเมียม โปรดักต์” เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการติดสปีดธุรกิจ “อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์) ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า นอกจากการหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาเสิร์ฟ ร้านยังต้องการสร้างฐานลูกค้า “Loyalty Member” มากขึ้น สมาชิกกลุ่มนี้จะได้รับส่วนลดพิเศษต่างๆ ซึ่งก็พบว่า ปีที่ผ่านมา “Loyalty Member” เติบโตขึ้นจาก 250,000 ราย เป็น 550,000 ราย 

ทว่า การเพิ่มเมนูที่มีความพรีเมียมขึ้นอาจไม่ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ที่ต้องการ “อนิรุทร์” ระบุว่า เมนู “Entry Price Point” หรือเมนูราคาย่อมเยาที่เข้าถึง “Lower Segment” ก็มีเพิ่มเติมมาเช่นกัน จากเดิมที่จะมีเฉพาะเมนูเนื้อไก่ แต่จากการเก็บข้อมูลอินไซต์จากลูกค้าก็พบว่า ต้องการเมนูหมู ปลา และเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ด้วย ร้านจึงมีการเพิ่มเนื้อสัตว์ให้หลากหลายขึ้นในกลุ่มราคา “Entry Price Point” ในราคา 299 บาท ซึ่งก็พบว่า ทำให้ลูกค้าหลายคนกลับมากินที่ร้านบ่อยขึ้น

สำหรับการเติบโตและการวางเป้าหมายของ “ซิซซ์เล่อร์” นับจากนี้ ผู้บริหารเปิดเผยว่า ปัจจุบันร้านซิซซ์เล่อร์มีทั้งหมด 64 สาขาทั่วประเทศ ปีนี้มีแผนจะขยายอีก 2 แห่งในประเทศ มองว่า ยังมีโอกาสเติบโตในแถบจังหวัดเมืองรองที่ยังไปไม่ถึง ปัจจุบัน ร้านซิซซ์เล่อร์มีสาขาในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วน 54% แทบทุกศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ มีซิซซ์เลอร์ประจำการเกือบครบหมดแล้ว หลังจากนี้มองว่า ยังมีโอกาสในต่างจังหวัดอีกมาก “กระบี่” เป็นอีกแห่งที่มองไว้

ส่วนสาขานอกประเทศ “ซิซซ์เล่อร์” ประเดิมเป็นแห่งแรกในเวียดนามเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา โดยเป็นการซื้อขายแฟรนไชส์แบบที่บริษัทอยู่ในฐานะ “แฟรนไชส์ซอร์” ไม่ได้เป็นการให้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ แต่สิทธิในการขยายจำนวนสาขา ขึ้นอยู่กับ “แฟรนไชส์ซี” และมีการปรึกษาร่วมกันกับแบรนด์ ซึ่งในอนาคตก็อาจได้เห็นแฟรนไชส์ซีอีกหลายเจ้า

‘Sizzler’ หวังดึงคนรายได้น้อยเข้าร้าน เพิ่ม ‘เมนูราคาถูก’ ครอบคลุมทุกหมวด -“อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์)-

หากถามว่า ทำไมจึงเลือกเวียดนามเป็นแห่งแรก “อนิรุทร์” ระบุว่า เนื่องจากเจ้านี้เป็นแฟรนไชส์ซีที่ดูแลแบรนด์อื่นๆ ในเครือ “ไมเนอร์ ฟู้ด” อยู่แล้ว เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่ทำงานด้วยกันมานาน อนาคตมีแผนจะขยายร้านซิซซ์เล่อร์ไปยังประเทศอื่นๆ แถบอาเซียนอีก ยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยเจรจา ซึ่งปัจจุบันก็มีที่เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม 1 แห่ง และอีก 10 แห่งในประเทศญี่ปุ่น

“ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เรามีการเติบโตในแง่ยอดขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวในปีก่อนหน้า 10% และเราคาดหวังจะเติบโตแบบนี้ทุกไตรมาส ตอนนี้แบรนด์ซิซซ์เล่อร์ค่อนข้างแข็งแรง มีลูกค้าโตเพิ่มขึ้น 25% คิดว่า เราเริ่มมาถูกทางแล้ว กลยุทธ์ต้องชัดเจน ตอบสนองเรื่องที่ลูกค้าต้องการเรื่องความสดใหม่และตามเทรนด์ และทำอย่างไรจึงจะตอบสนองลูกค้า ให้เขารู้สึกว่า เป็นทำวันธรรมดาที่แสนพิเศษขึ้นมาในทุกๆ ด้านได้” อนิรุทร์ กล่าวปิดท้าย