แกะสูตร "ไมเนอร์ฟู้ด" สู้เงินเฟ้อ! ดันร้านอาหาร 44 แบรนด์อัพรายได้

แกะสูตร "ไมเนอร์ฟู้ด" สู้เงินเฟ้อ! ดันร้านอาหาร 44 แบรนด์อัพรายได้

“ไมเนอร์ ฟู้ด” ผู้ให้บริการด้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์ระดับโลก ด้วยเครือข่ายร้านอาหาร 2,410 ร้าน กระจายใน 24 ประเทศ ภายใต้ 44 แบรนด์ร้านอาหาร อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บอนชอน, สเวนเซ่นส์ และซิซซ์เลอร์ เป็นความท้าทายยิ่งนักกับการงัดสารพัดกลยุทธ์ใดมาใช้สู้ภาวะ “เงินเฟ้อ”

ซึ่งกำลังป่วน "ต้นทุน" ภาคธุรกิจในปัจจุบัน

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อปี 2563 แต่กลุ่มธุรกิจอาหารของไมเนอร์ฯสามารถทำกำไรสุทธิต่อเนื่อง 7 ไตรมาส จนถึงไตรมาส 1 ปีนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ

นอกเหนือจากการจัดโปรโมชั่นเพิ่มยอดขายแล้ว บริษัทได้ใช้กลยุทธ์ “ฟื้นฟูแบรนด์” (Brand Revitalization) ทำตลาดเชิงรุก สร้างความสดใหม่แก่แบรนด์ เจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ออกแบบร้านอาหารและประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การเปิดตัว “สเวนเซ่นส์ คราฟต์ บาร์” แฟลกชิปสโตร์แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่สยามพารากอน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และการสร้างประสบการณ์แตกต่างในการนั่งทานที่ร้านของแบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี โดยมี “ไมเนอร์ ฟู้ด อินโนเวชั่น ทีม” (เอ็ม-ฟิต) ช่วยเฟ้นหาสินค้าใหม่ๆ มาดึงดูดลูกค้า

“กลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยสร้างคุณค่าของแบรนด์ (Brand Equity) ให้อยู่ในใจ Top of Mind และสร้างความผูกพันกับลูกค้า ทำให้แบรนด์สดใหม่ สามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคทั้งเจเนอเรชั่นเก่าและใหม่ในระยะกลางและระยะยาว”

อีกกลยุทธ์สำคัญคือการขยายร้านอาหารแบบชาญฉลาดหรือ Smart Expansion” เลือกฟอร์แมตของร้านอาหารให้เหมาะกับโลเกชั่นและตรงความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่แบบนั่งทานเต็มรูปแบบ, ร้านอาหารขนาดเล็กลง มีที่นั่งสำหรับทานในร้าน เหมาะกับการสั่งกลับบ้านและดิลิเวอรี่, ร้านแบบ Grab & Go และร้านแบบ Drive-Thru เพื่อสร้างกำไรต่อร้านให้มากขึ้นกว่าเดิม

ควบคู่กับการเดินกลยุทธ์ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น” พยายามเข้าถึงและสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เติมเต็มประสบการณ์แบบ “ออมนิ-ชาแนล” (Omni-channel) ให้ดียิ่งขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสั่งอาหารจนถึงการชำระเงิน หลังจากลูกค้าใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อสั่งซื้ออาหารได้คล่องขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด พร้อมจัดทำลอยัลตี้ โปรแกรม ส่งเสริมให้ลูกค้าซื้อซ้ำ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละเซ็กเมนต์ และขยายช่องทางดิลิเวอรี่ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน 1112 Delivery ด้วย

สำหรับสถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทมองว่าเป็นปัจจัยที่พอจะคาดการณ์และเตรียมปรับตัวตั้งรับได้ สามารถหากลยุทธ์มาลดทอนผลกระทบได้ทัน ต่างจากวิกฤติโควิด-19 ที่มาแบบตูมเดียว!

“กลยุทธ์ที่เราใช้รับมือกับภาวะเงินเฟ้อ แน่นอนว่ามีเรื่องการบริหารต้นทุนวัตถุดิบ โดยทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สั่งซื้อจากซัพพลายเออร์หลายรายเพื่อให้ได้ราคาวัตถุดิบดีที่สุด พร้อมมอนิเตอร์ราคาวัตถุดิบอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มสต็อกบางตัวในช่วงที่ราคาลดลง เป็นการตุนเอาไว้ให้เรามีเวลาและสายป่านไปบริหารรับมือภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างเมนูอาหาร และปรับราคาบางเมนูให้สอดคล้องกับต้นทุน โดยอาจเป็นสินค้าที่ลูกค้าไม่ได้อ่อนไหว (Sensitive) กับการขึ้นราคา”

ชัยพัฒน์ เล่าเพิ่มเติมว่า จาก “ฮับธุรกิจร้านอาหาร” ของไมเนอร์ฟู้ดซึ่งปักธงใน 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย และจีน พบว่าตอนนี้ฮับธุรกิจร้านอาหารในไทยฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศ ส่วนฮับธุรกิจร้านอาหารในออสเตรเลีย เห็นการเดินทางท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจเพิ่มขึ้นหลังผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่วน “ฮับธุรกิจร้านอาหารในจีน” ได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังดีที่ได้กำไรจากฮับฯในไทยและออสเตรเลีย รวมถึงประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาช่วยลดทอนผลกระทบ

“อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในฮับฯประเทศจีน เพราะเริ่มมีการคลายล็อก ผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา น่าจะเห็นการฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปีนี้ในลักษณะ V-shape”

สำหรับภาพรวมกลุ่มไมเนอร์ฟู้ด จากข้อมูล ณ สิ้นเดือน มี.ค.2565 ฮับธุรกิจร้านอาหารในไทยมีสัดส่วนการสร้างรายได้สูงสุด 60% ของรายได้ทั้งหมดในกลุ่มธุรกิจอาหาร รองลงมาคือจีน 17% ออสเตรเลีย 10% และประเทศอื่นๆ มีสัดส่วนรายได้รวมกันที่ 13%