เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพไทยอัดฉีด 1.21 แสนล้าน ผุดเมกะโปรเจกต์

เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพไทยอัดฉีด 1.21 แสนล้าน ผุดเมกะโปรเจกต์

เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพประเทศไทยเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี อัดงบ 1.21 แสนล้าน ผุด 13 โครงการใหม่ พร้อมรีโนเวตใหญ่ 6 ทำเลใจกลางเมือง ปั้นมิกซ์ยูสทำเลทอง พร้อมผุดโครงการใหม่ 5 โครงการเมกกะโปนเจกต์ ประเมินกำลังซื้อฟื้น หลังทราฟฟิกพุ่ง 15-20% รับแรงหนุนทัวริสต์โต

KEY

POINTS

  • เซ็นทรัลพัฒนา เปิดแผนลงทุนใหญ่ 5 ปีงบลงทุน 1.21 แสนล้านบาท
  • รุกเปิดโครงการใหม่ 13 แห่งในปี 2567 นำโดยเซ็นทรัล นครปฐม 30 มี.ค.นี้ 
  • วางยุทธศาสตร์เปิดโครงการ มิกซ์ยูส ขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจกต์ 5 แห่งใน 5 ปี ตามทำเลใจกลางมีศักยภาพ 
  • แรงเชื่อมั่นจากกำลังซื้อกลับมาแล้ว ทราฟฟิกโต 15-20% ทัวริสต์โตใช้จ่ายพุ่ง 10 เท่า
  • ชี้กำลังซื้อในประเทศแข็งแกร่ง ยอดสาขา POPMART เซ็นทรัลเวิลด์ทำสถิติสูงสุด เมื่อเทียบสาขาอื่นๆ ในทั่วโลก - Dior เซ็นทรัลภูเก็ต สร้างยอดขายนิวไฮ
  • เสนอรัฐลดภาษีสินค้าแฟชั่นดึงต่างชาติ - ออกมาตรการ Easy E-Receipt ต่ออีก 2-3 ครั้งในรอบปี กระตุ้นในประเทศ

เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพประเทศไทยเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี อัดงบ 1.21 แสนล้าน ผุด 13 โครงการใหม่ พร้อมรีโนเวตใหญ่ 6 ทำเลใจกลางเมือง ปั้นมิกซ์ยูสทำเลทอง พร้อมผุดโครงการใหม่ 5 โครงการเมกกะโปนเจกต์ ประเมินกำลังซื้อฟื้น หลังทราฟฟิกพุ่ง 15-20% รับแรงหนุนทัวริสต์โต

เซ็นทรัลพัฒนา กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีเส้นทางดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปี กับการเป็นแลนด์มาร์กศูนย์การค้าขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีเครือข่ายศูนย์การค้ารวม 41 แห่งทั่วประเทศ และในเมืองท่องเที่ยวรวมกว่า 10 แห่ง สร้างอาณาจักรธุรกิจแข็งแกร่ง ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ แม้ปี 2567 ท่ามกลางความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังไม่แน่นอน แต่เซ็นทรัลพัฒนา ยังมีความเชื่อมั่นและเดินหน้าลงทุนตามแผนที่วางไว้

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ฉายภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อปีนี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวและสูงกว่าช่วงโควิด สะท้อนได้จากกำลังซื้อและทราฟฟิกของศูนย์การค้าในเครือที่เปิดให้บริการรวมจำนวน 41 แห่ง มีความคึกคักและทราฟฟิกเพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน รวมถึงยอดขายเติบโตสูงกว่าโควิด แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ตามยุทธศาสตร์ของบริษัทจะใช้งบลงทุน 121,000 ล้านบาท ช่วง 5 ปีนับนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2567-2571 ในการเปิดโครงการใหม่ การปรับปรุง รวมถึงพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ โดยวางแผนเปิดใหม่ 5 โครงการนับจากนี้ ซึ่งมิกซ์ยูสขนาดใหญ่วางงบไว้ที่ 20,000 ล้านบาทต่อโครงการ เน้นทำเลใจกลางเมือง ซูเปอร์ไพร์ม โลเคชัน รอบกรุงเทพฯ อยู่ในบริเวณถนนใหญ่และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า พร้อมวางเป้าหมายทำให้แลนด์มาร์กร่วมดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยทั้งหมดจะมีพื้นที่รวมกันกว่า 2.2 ล้าน ตร.ม.ในระยะยาว

โปรเจกต์มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ เริ่มจากปีนี้กับโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่จะทยอยเปิดให้บริการ เริ่มตั้งแต่โรงแรมดุสิตธานี พร้อมเปิดโฉมใหม่เดือน ก.ย. ส่วนอาคารสำนักงานและศูนย์การค้า Central Park เปิดกลางปี 2568  วางเป้าหมายให้ เป็น The World’s New Magnitude โมเดลเดียวกับเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยที่ผ่านมา โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่สำเร็จแล้วกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพไทยอัดฉีด 1.21 แสนล้าน ผุดเมกะโปรเจกต์

สำหรับแผนในปี 2567 นี้ มีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 13 โครงการ เริ่มตั้งแต่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ต่อมา เซ็นทรัล นครปฐม มูลค่า 8,200 ล้านบาท มีแผนเปิดให้บริการวันที่ 30 มี.ค. และเซ็นทรัล กระบี่ มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท เปิดปี 2568 โดยการเลือกที่กระบี่ วางไว้เป็นโครงการมิกซ์ยูส มีทั้งศูนย์การค้า ต่อมา โครงการที่อยู่อาศัย และโรงแรม แบ่งการลงทุนเป็นเฟสๆ สำหรับกระบี่ เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้ามาจำนวนมาก

พร้อมกันนี้ในปีนี้มีแผนขยายโครงการที่อยู่อาศัยรวม 10 โครงการ และโรงแรมแห่งใหม่ที่ระยอง จับมือกับ International Chain ระดับโลก ทำให้ในภายในปี 2567 มีโครงการศูนย์การค้า 42 โครงการ, คอมมูนิตี้ มอลล์ 17 โครงการ, ที่อยู่อาศัย 43 โครงการ, โรงแรม 10 โครงการ, และออฟฟิศ 10 โครงการ โดยแต่ละโครงการจะร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคึกคักและเปลี่ยนโฉมแต่ละทำเลให้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพไทยอัดฉีด 1.21 แสนล้าน ผุดเมกะโปรเจกต์

อีกไฮไลต์การลงทุนครั้งใหญ่ของบริษัท กับการปรับโฉมโครงการใหม่ (Asset Enhancement) 5 ปีจากนี้ วางงบลงทุน 23,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4,000 ล้านบาท นับเป็นการลงทุนเทียบชั้นศูนย์การค้าใหม่ ปีนี้เตรียมปรับ 6 โครงการ ได้แก่ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, บางนา, แจ้งวัฒนะ, รัตนาธิเบศร์, พัทยา และมารีน่า รองรับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งมีโครงการใหญ่ที่น่าติดตามในปีนี้กับ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ทำเลหมุดหมายย่านตะวันตก เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ แลนด์มาร์กฝั่งทำเลภาคเหนือ และเซ็นทรัล บางนา ศูนย์กลางย่านตะวันออกที่จะปรับครั้งใหญ่

เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพไทยอัดฉีด 1.21 แสนล้าน ผุดเมกะโปรเจกต์

หวังมาตรการรัฐลดภาษี-Easy E-Receipt

นางสาววัลยา กล่าวต่อว่า ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อต้นปีนี้กลับมาขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนแล้ว มีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศและยอดทราฟฟิกที่เติบโตแข็งแกร่ง รวมถึงนโยบายฟรีวีซ่าร่วมกับประเทศจีน ทำให้นักท่องเที่ยวขยายตัวโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา รวมถึงนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย เข้ามาในประเทศจำนวนมากในทำเลภูเก็ต โดยที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากต่างชาติจะมีการใช้จ่ายสูงกว่าคนไทยรวมประมาณ 10 เท่า

แนวทางที่อยากเสนอภาครัฐคือ การปรับลดภาษีสินค้าแฟชั่นลงมาครึ่งหนึ่งจากปกติ 30% ซึ่งอยู่ในอัตราสูงกว่าสิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย หากประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมียอดการใช้จ่ายสูงกว่าคนในประเทศ 10 เท่า ผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางชอปปิงในโลกระยะยาว

อีกทั้งอยากให้ภาครัฐมีการจัดทำมาตรการ Easy E-Receipt ต่ออีก 2-3 ครั้งในรอบปี เพื่อกระตุ้นคนในประเทศออกมาใช้จ่าย ต่อยอดจากการทำในช่วงต้นปีที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

สำหรับภาพรวมรายได้ของบริษัทปี 2567 ประเมินว่าจะเติบโต 10% จากปีก่อน โดยผลประกอบการปี 2566 สร้าง New High มีรายได้ 46,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 26% มาจากยอดทราฟฟิกศูนย์การค้าและยอดขายร้านค้าที่ดีกว่าเป้าหมาย รวมถึงการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPNREIT สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 16% ให้อัตราผลตอบแทน (Yield) 10% 

"ในช่วงสองเดือนที่เปิดให้บริการมา ภาพรวมพบว่า กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ขยายตัวมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 2562 แล้ว จากการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าต่างๆ"

เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพไทยอัดฉีด 1.21 แสนล้าน ผุดเมกะโปรเจกต์

ปรับโฉมศูนย์การค้า 6 แห่งในปีนี้

นายชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ กล่าวเสริมว่า ตามแผน Asset Enhancement จะลงทุน 23,000 ล้านบาท ปรับโฉมใหม่แบบ turnaround ทั้งหมด 6 ศูนย์การค้า รอบทำเลกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย

  • “เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า” เติมเต็มไลฟ์สไตล์โซนปิ่นเกล้า รองรับกำลังซื้อที่สูงขึ้น
  • “เซ็นทรัล บางนา” เป็น ดิสทริค ทรานฟอร์เมชั่น จับกลุ่มลูกค้าระดับท็อปเทียร์ในย่านบางนา
  • “เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ” สร้างคอนเซปต์มอลล์ใหม่ตอบโจทย์ อีโค ไลฟ์สไตล์
  • “เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์” สร้างแลนด์มาร์กไลฟ์สไตล์ใหญ่และครบสุดในย่านสำหรับเมืองท่องเที่ยว
  • “เซ็นทรัล พัทยา” ปรับโฉมใหม่รองรับกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก 
  • “เซ็นทรัล มารีน่า” ปรับเป็นเอาต์เล็ต ฟอร์แมต จากการมองโอกาสพฤติกรรมการช้อปของนักท่องเที่ยวในกลุ่มสำคัญ

การวางแนวทางบริหารธุรกิจ Retail-Led Synergy เชื่อมโยงจุดแข็งแต่ละธุรกิจมาเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน ผลักดันศักยภาพเมืองหลัก เมืองรองทั่วประเทศ ปัจจุบันมีพอร์ตมิกซ์ยูสรวม 20 โครงการ จะเพิ่มเป็น 25 โครงการในปี 2568

"บริษัทพร้อมดึงแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเสริม เพื่อร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า รองรับการแข่งขันในตลาดที่มีมากขึ้น และการเป็นเบอร์หนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเดินหน้าใช้งบในการปรับปรุงโฉมศูนย์การค้าต่างๆ มาตลอด" 

เซ็นทรัลพัฒนา มั่นใจศักยภาพไทยอัดฉีด 1.21 แสนล้าน ผุดเมกะโปรเจกต์

กลยุทธ์สร้างเซ็นทรัลพัฒนาแข็งแกร่ง 

ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงของเซ็นทรัลพัฒนา นำโดย ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา Chief Marketing Officer, พร้อมด้วย นายวุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์ Head of Property Management และ นายอิศเรศ จิราธิวัฒน์ Head of Fashion and Luxury Partner Management ร่วมนำเสนอกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนร่วมกับพาร์ทเนอร์สู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งมีทั้ง 

  • Evolving Centre of Life: ดูแลทุกโครงการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ จากจุดแข็งคือการเข้าใจ Customer Insight มีความเข้าใจตลาดทั้งในประเทศและกลุ่ม Tourist ซึ่งมีศูนย์การค้าที่เป็นทัวริสต์มอลล์กว่า 10 สาขา รวมถึงการมอง Trendspotting Pioneer ทำให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัฒนาเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งที่มีแบรนด์มาเปิดสาขาแรกกว่า 76 แบรนด์ และ แฟลกชิปสโตร์กว่า 44 แบรนด์ มากที่สุด ยกตัวอย่าง เซ็นทรัลเวิดล์ แบรนด์ดังระดับโลกที่มาเปิด อาทิ Shake Shack, The Cheesecake Factory, Nitori, Lululemon, BHC Chicken รวมถึง Pop Mart ที่เปิดสาขาแฟลกชิปสโตร์แรกของประเทศไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงมีอีกหลายแบรนด์มาเปิดสาขาแรกในไทยเช่น UNIQLO, Muji, Haidilao, และ Gentlewoman เป็นต้น ก่อนขยายสาขาไปในทำเลแห่งอื่นๆ 
  • Ignite Newness: สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไปทุกแห่งอย่างการเปิด เซ็นทรัล นครสวรรค์ ร่วมหนุนสู่เมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยมีแผนดึงโรงพยาบาลมาต่อยอดโครงการมิกซ์ยูส 
  • Holistic partnership & Data-Driven Solutions: ดึงจุดแข็งของ Ecosystem ช่วยปั้นธุรกิจคู่ค้าผ่าน The 1 BIZ – Marketing Intelligence Solutions โดยเป็น The Most Powerful CRM Tool ยุคใหม่

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เสริมว่า ภาพรวมแบรนด์ใหม่ที่ได้มาเป็นพาร์ทเนอร์ในการเปิดสาขาในศูนย์การค้าเซ็นทรัลสร้างการเติบโตที่ดี อย่าง แบรนด์ POPMART จากประเทศจีน เปิดสาขา แฟลกชิปสโตร์ครั้งแรกในประเทศไทยที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สามารถสร้างยอดขายได้สูงสุด เมื่อเทียบกับสาขาที่มีอยู่ในโลกกว่า 400 สาขาไปแล้ว 

รวมถึงแบรนด์ลักชัวรี Dior ได้เข้ามาเปิดในเซ็นทรัลภูเก็ต สาขาแรกในทำเลภาคใต้ สามารถปิดยอดขายทำสถิติสูง เมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ที่มีอยู่ แสดงถึงโอกาสและกำลังซื้อที่มีสูงในพื้นที่ จากทั้งคนไทยและทัวริสต์ที่มีมหาศาล

"การลงทุนใหม่ในแต่ละโครงการบริษัทมีการศึกษาตลาดและกลุ่มลูกค้าในเชิงลึก ทำให้โครงการใหม่ในแต่ละทำเลสร้างผลตอบรับที่ดี ไม่เฉพาะศูนย์การค้า แต่รวมถึงการร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ให้เติบโตไปด้วย"