แผน ‘เอสแอนด์พี’ ดันรายได้โต ปั้นร้านอาหาร-เบเกอรีไซส์เล็กเจาะปั๊มน้ำมัน

แผน ‘เอสแอนด์พี’ ดันรายได้โต  ปั้นร้านอาหาร-เบเกอรีไซส์เล็กเจาะปั๊มน้ำมัน

ฤดูร้อนมาเยือน หลายหมวดหมู่สินค้ามีแคมเปญ กิจกรรมการตลาดเพื่อต้อนรับไฮซีซันกันอย่างคึกคัก ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหมวดหมู่ ที่เดินหน้างัดกลยุทธ์ปลุกกำลังซื้อ ดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

“เอสแอนด์พี” บิ๊กแบรนด์ร้านอาหารและเบเกอรีของเมืองไทย ที่มีสินค้าหลายรายการเสิร์ฟลูกค้า ซึ่งปี 2567 บริษัทยังเดินหน้าขยายร้านอาหาร พัฒนาร้าน “โมเดลใหม่” เพื่อเพิ่มโอกาสเติบโต และสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค

อรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการธุรกิจ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) ฉายภาพแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท ปี 2567 คาดการณ์เติบโตระดับ 7-8% และการฟื้นตัวถือว่ากลับมาเกินกว่า 90% แล้ว ผู้บริโภคมีการออกมารับประทานอาหารนอกบ้านกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัญญาณไตรมาส 1 ถือว่าใกล้เคียงกับปีก่อน แต่เอสแอนด์พี มีแรงหนุนจากแคมเปญการตลาด “เทศกาลข้าวแช่” ซึ่งคิกออฟได้ราว 5 วัน สร้างยอดขายได้กว่า 600 ชุด(เซ็ต)แล้ว

ด้านแผนธุรกิจปี 2567 บริษัทยังเดินหน้าเปิดร้านอาหารและเบเกอรีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปั้นโมเดลใหม่ “ร้านอาหารและเบเกอรี” ขนาดกะทัดรัด 100 ตารางเมตร (ตร.ม.) เจาะทำเลสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) เพื่อรองรับผู้บริโภคที่ชอบทานมื้อเช้า จากเดิมร้านใหญ่จะมีขนาด 170-200 ตร.ม. และลงทุนราว 6-7 ล้านบาทต่อสาขา

ส่วนเมนูที่จำหน่ายในร้านโมเดลใหม่ เน้นมื้อเช้า เช่น ข้าวต้ม แซนด์วิชร้อน อาหารเช้า ฯ จำนวนเมนูที่เสิร์ฟจะมีราว 60 เมนู จากเดิมร้านใหญ่ไม่เน้นขายเมนูอาหารเช้า รวมถึงจำนวนเมนูที่ขายมากถึง 110 เมนู

“ปีนี้จะเห็นการเปิดร้านอาหารและเบเกอรีโมเดลใหม่จำนวน 5 สาขา จากปัจจุบันเรานำร่อง 2 สาขา ที่ปั๊ม ปตท.พระราม 4 และปั๊มปตท.ถนนบรมราชชนนีขาออก ร้านใหม่เราต้องการตอบโจทย์ผู้บริโภคในการทานอาหารมื้อเช้า ส่วนการขยายร้านเบเกอรีปีนี้จะเพิ่มอีก 20 จุด และร้านรูปแบบอื่นรวมเปิด 30 จุด จากสิ้นปีที่แล้วบริษัทมีร้านอาหารและเบเกอรีทุกแบรนด์ ทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศให้บริการทั้งสิ้น 463 สาขา เฉพาะไทยมี 450 สาขา”

ด้านการทำตลาด บริษัทยังให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าเชื่อมการบริโภคทั้งนั่งทานที่ร้าน ซื้อกลับบ้าน ดิลิเวอรี ฯลฯ ให้เป็นหนึ่งเดียว จากปัจจุบันค่อนข้างแยกจากกัน หากทำได้จะช่วยเพิ่ม “ความถี่” ในการซื้อสินค้าและบริการเป็น 3 ครั้งต่อเดือน จากเฉลี่ย 2 ครั้งต่อเดือน แม้ว่าการซื้อกลับบ้านจะถี่มากก็ตาม

นอกจากนี้ บริษัทจะกระตุ้นการเติบโตของกลุ่มเบเกอรี โดยเฉพาะ “เค้กปอนด์” พระเอกทำรายได้ จากเดิมเน้นซื้อช่วงวันเกิด ได้มีการออกสินค้าใหม่ เช่น เค้กมะพร้าว เค้กโอวัลติน ครันชี เฟลค เพิ่มโอกาสการบริโภคทุกโอกาส

“ธุรกิจร้านอาหารยังขยายตัวได้ และปีนี้เอสแอนด์พีตั้งเป้ารายได้เติบโต 7% แต่ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจคือการบริหารจัดการต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าแรงที่จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทมีพนักงานที่ปฏิบัติการหรือโอเปอเรชันเกือบ 4,000 คน”

ส่วนซัมเมอร์นี้ ยังลุยแคมเปญ “เทศกาลข้าวแช่” มีการเพิ่มเมนู และดึง “ดรีม อภิชญา พานิชตระกูล” เป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมสร้างสรรค์โฆษณาเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ ช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้าง จากฐานลูกค้าหลักอายุ 40 ปีขึ้นไป พร้อมตั้งเป้าหมายยอดขายเมนูข้าวแช่ตั้งแต่ 1 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2567 จำนวน 2 แสนชุด เติบโต 15% จากปีก่อน

“ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราขยายฐานผู้บริโภคข้าวแช่สู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อผลักดันการเติบโต มีการเอ็ดดูเคตการทานผ่านป้ายสื่อสารหรือพีโอพีอยู่บนโต๊ะ”

มณีสุดา ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เอสแอนด์พี เสิร์ฟเมนูข้าวแช่ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน 36 ปีแล้ว ซึ่งปี 2567 มีการเพิ่มเซ็ตเมนู ข้าวเหนียวมะม่วง ไอศกรีมข้าวเหนียวมะม่วง รวมถึงดึงเมนูแตงโมปลาแห้ง มาเอาใจลูกค้าด้วย

ส่วนการจัดเซ็ตได้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ทั้งด้านความสะดวกสบายในการรับประทาน และบริการดิลิเวอรี จากเดิมจะจำหน่ายและให้บริการทานที่ร้านเป็นหลัก

สำหรับภาพรวมรายได้บริษัทปี 2566 อยู่ที่ 6,224 ล้านบาท เติบโต 9% หรือคิดเป็น 512 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%