'ต่างชาติเที่ยวไทย' จ่ายค่าที่พักพุ่ง 27% 'UAE' แชมป์เปย์หนักต่อวันสูงสุด!

'ต่างชาติเที่ยวไทย' จ่ายค่าที่พักพุ่ง 27%  'UAE' แชมป์เปย์หนักต่อวันสูงสุด!

เมื่อโครงสร้างตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดินทางเข้าประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่ “กลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง” (Free Individual Traveler : FIT) โดยปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีกลุ่ม FIT ครองสัดส่วน 88% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคน

KEY

POINTS

  • โครงสร้างตลาด "นักท่องเที่ยวต่างชาติ" เดินทางเข้าประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่ยุค "เดินทางด้วยตัวเอง" (FIT) เกือบเบ็ดเสร็จ ด้วยสัดส่วนเกือบ 90% ของฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยทั้งหมด ทั้งในยุคก่อนและหลังโควิดระบาด เมื่อปี 2562 และปี 2566 ตามลำดับ
  • นักท่องเที่ยว FIT ยอมควักกระเป๋าจ่าย "ค่าโรงแรมที่พัก" ในปี 2566 แพงขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปี 2562 หลังยอมจ่ายค่าตีตั๋วเครื่องบินราคาค่อนข้างแรงมาไทยแล้ว
  • ด้าน "ค่าอาหารและเครื่องดื่ม" นักท่องเที่ยวใช้จ่ายหมวดนี้ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิยม "สตรีทฟู้ด" (Street Food) ราคาไม่แรง เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566

เมื่อโครงสร้างตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดินทางเข้าประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่ “กลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง” (Free Individual Traveler : FIT) โดยปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีกลุ่ม FIT ครองสัดส่วน 88% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคน

เมื่อโครงสร้างตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดินทางเข้าประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่ “กลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง” (Free Individual Traveler : FIT) โดยปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีกลุ่ม FIT ครองสัดส่วน 88% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคน ขณะที่ปี 2566 หลังหมดยุคโควิด กลุ่ม FIT ยังคงรักษาสัดส่วนใกล้เคียงเดิมที่ 87% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 28 ล้านคน

ธีระศิลป์ เทเพนทร์ รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฉายภาพว่า เทรนด์นักท่องเที่ยวต่างชาติยุคหลังโควิดระบาดเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. ตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น

2. นักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) มีจำนวนมากขึ้น

3. นักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางเป็นหมู่คณะ หรือ กรุ๊ปทัวร์ มีน้อยลง

4. โปรไฟล์นักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เป็นตลาดระดับบนมากขึ้น

5.หมวดค่าใช้จ่ายด้านที่พัก (Accomodation) สูงขึ้นชัดเจน

“นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม FIT ที่เดินทางเข้าไทยมีลักษณะเป็นตลาดบนมากขึ้น รวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวจีน ที่ปัจจุบันเป็นกลุ่ม FIT มากเกือบ 90%”

'นักท่องเที่ยวจีน' ยุคใหม่ สไตล์ 'ไฮบริด'

อย่างไรก็ตาม “นักท่องเที่ยวจีน” กลุ่ม FIT ยังมีพฤติกรรมจัดการเดินทางแบบผสมสาน หรือ “ไฮบริด” (Hybrid) นิยมซื้อแพ็กเกจทัวร์บางส่วนจากผู้ประกอบการบริษัททัวร์ หรือมาซื้อแพ็กเกจทัวร์หน้างาน ทั้งแบบเต็มวันและครึ่งวัน เช่น ทัวร์เที่ยวคลอง ทัวร์เชิงสุขภาพ คอร์สเรียนทำอาหารไทย และคอร์สตรวจสุขภาพฟัน ทำให้ ททท.เดินหน้าออกแบบแพ็กเกจทัวร์ร่วมกับบริษัทค้าส่งทัวร์ (โฮลเซล) ต่อเนื่อง

“โครงสร้างราคาตั๋วเครื่องบินไม่ได้ถูกเหมือนเมื่อก่อน นักท่องเที่ยวที่มีเงินจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินราคาแพง ก็พร้อมจ่ายค่าที่พักราคาระดับบน โดยเฉพาะโรงแรมในภูเก็ตที่ตอนนี้อยู่ในช่วงไฮซีซัน หลายแห่งมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเกือบ 100% กระทบโรงแรมระดับ 3 ดาวทั่วประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีนัก เพราะกลุ่มแบ็กแพ็กเกอร์ยังไม่กลับมา”

\'ต่างชาติเที่ยวไทย\' จ่ายค่าที่พักพุ่ง 27%  \'UAE\' แชมป์เปย์หนักต่อวันสูงสุด!

ผลสำรวจปี 66 กลุ่ม FIT ต่างชาติเปย์ 'ค่าที่พัก' ในไทยแพงขึ้น 27%

สอดรับผลสำรวจ “พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่จัดการเดินทางด้วยตัวเอง (FIT)” โดย ททท. เปรียบเทียบข้อมูลปี 2566 ไตรมาส 1-3 (หลังโควิด) กับปี 2562 ช่วงไตรมาส 1-4 (ก่อนโควิด) พบว่า ค่าใช้จ่าย “หมวดที่พัก” มีสัดส่วนมากที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค ทั้งยังเป็นหมวดที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุดด้วย ปี 2562 เฉลี่ย 18,451 บาท/คน/ทริป เพิ่มขึ้น 27% เป็น 23,518 บาท/คน/ทริป ในปี 2566

ขณะที่ “ภาพรวมการใช้จ่าย” ในการท่องเที่ยวประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 48,209 บาท/คน/ทริป ในปี 2562 เป็น 50,898 บาท/คน/ทริป ในปี 2566 ถือเป็น “สัญญาณเชิงบวก” สะท้อนการฟื้นตัวจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

\'ต่างชาติเที่ยวไทย\' จ่ายค่าที่พักพุ่ง 27%  \'UAE\' แชมป์เปย์หนักต่อวันสูงสุด!

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวใช้จ่ายลดลงใน “หมวดอาหารและเครื่องดื่ม” จากเฉลี่ย 5,875 บาท/คน/ทริป เมื่อปี 2562 เป็น 4,094 บาท/คน/ทริป สอดคล้องกับกิจกรรมในหมวดอาหารที่นักท่องเที่ยวในปี 2566 มีความนิยมอาหารประเภท “สตรีทฟู้ด” (Street Food) เพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัดจาก 62.90% ในปี 2562 เป็น 77.37% ในปี 2566

ทั้งนี้ “อาหารท้องถิ่น” (Local Food) เป็นหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง บ่งบอกถึงความต้องการสัมผัสกับอาหารไทยแบบดั้งเดิมระหว่างท่องเที่ยวในไทย ส่วนอาหารประเภท “ไทย ไฟน์ไดนิ่ง” (Thai Fine Dining) และ “อินเตอร์ ควิซีน” (Inter Cuisine) ได้รับความนิยมลดลง สวนทางกับอาหารที่ช่วยให้ได้รับประสบการณ์ หรือมีความใกล้ชิดกับท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ด้านกิจกรรมการรับประทานอาหารในลักษณะเฉพาะ เช่น ฟาร์มผลไม้ ดินเนอร์ล่องเรือ และร้านอาหารมิชลิน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพฤติกรรมแบบ “คาเฟ่ ฮอปปิง” (Cafe Hopping) เติบโตก้าวกระโดด จาก 11.60% ในปี 2562 เพิ่มเป็น 33.24% ในปี 2566 สะท้อนถึง “วัฒนธรรมกาแฟ” ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก

\'ต่างชาติเที่ยวไทย\' จ่ายค่าที่พักพุ่ง 27%  \'UAE\' แชมป์เปย์หนักต่อวันสูงสุด!

 

UAE แชมป์ 'เปย์หนักสูงสุดต่อวัน' ในไทย

ในปี 2566 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาค “ตะวันออกกลาง” มีการใช้จ่ายมากที่สุดเฉลี่ย 88,512 บาท/คน/ทริป รองลงมาเป็นโอเชียเนีย 64,860 บาท/คน/ทริป อเมริกา 60,473 บาท/คน/ทริป และยุโรป 59,344 บาท/คน/ทริป

“จาก 10 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันขณะท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดในปี 2566 เป็นนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย โอมาน และคูเวต โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ครองแชมป์ด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 8,834 บาท/คน/วัน”

สำหรับ 10 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มี ค่าใช้จ่าย/คน/วัน สูงสุดในปี 2566
มีดังนี้

1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 8,833 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 10.55 คืน)

2. บังคลาเทศ 8,217 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 6.11 คืน)

3. ซาอุดีอาระเบีย 7,696 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 13.02 คืน)

4. คาซัคสถาน 7,653 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 9.81 คืน)

5. โอมาน 7,556 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 13.58 คืน)

6. เวียดนาม 6,989 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 5.24 คืน)

7. คูเวต 6,982 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 15.74 คืน)

8. สิงคโปร์ 6,842 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 4.72 คืน)

9. ฮ่องกง 6,784 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 5.81 คืน)

10. บรูไน 6,697 บาท/คน/วัน (พำนักเฉลี่ย 5.03 คืน)

 

AWC รุกเปิดโรงแรมหรู ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ อัปราคาห้อง

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ “AWC” กล่าวว่า ดีมานด์ “นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ” ใช้จ่ายสูง จะเข้ามาเป็น “ขาหลัก” ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เครือ AWC จึงวางกลยุทธ์นำแบรนด์โรงแรมระดับคุณภาพจากทั่วโลกมาเมืองไทย ด้วยการจับมือกับพันธมิตรเชนโรงแรมระดับโลก เพื่อสร้างซัพพลายโรงแรมดึงดีมานด์นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพเข้ามา

ปี 2567 AWC มีแผนเสริมศักยภาพและเปิดให้บริการโครงการในทุกกลุ่มธุรกิจรวมกว่า 18 โครงการ โดยมีโครงการสำคัญของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ อาทิ โรงแรม แฟร์มอนท์ แบงคอก สุขุมวิท โรงแรมพัทยา แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา และโรงแรมระดับลักชัวรี ไลฟ์สไตล์ ในพัทยา จากสิ้นปี 2566 AWC มี 22 โรงแรมเปิดดำเนินการ รวม 6,029 ห้องพัก และห้องอาหารอีกหลากหลายแห่งในโรงแรมและจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทย

“กลยุทธ์ของ AWC เน้นพัฒนาซัพพลายโรงแรมคุณภาพ ให้สามารถดึงเรตราคาห้องพักเพิ่มขึ้นได้ เพราะลูกค้าจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินมาไทยค่อนข้างสูงแล้ว เขายอมจ่ายค่าโรงแรมสูงขึ้น ต่างจากยุคก่อนโควิดที่ไม่กล้าขยับเรตราคาห้องพัก โรงแรมต่างๆ สู้กันด้วยราคา ทำให้อัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับ 80%”

\'ต่างชาติเที่ยวไทย\' จ่ายค่าที่พักพุ่ง 27%  \'UAE\' แชมป์เปย์หนักต่อวันสูงสุด!