การทำแบรนด์ที่ยั่งยืน | กุณฑลี รื่นรมย์
ทุกวันนี้เราจะได้ยินหรือเห็นคำว่า “ความยั่งยืน” (sustainable) บ่อยมากขึ้นในด้านบริหารธุรกิจ คำนี้มักจะถูกนำไปเขียนต่อท้ายคำอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ในวิสัยทัศน์ของบริษัท แผนธุรกิจ นโยบายของบริษัท ฯลฯ
เช่น การจัดการอย่างยั่งยืน การตลาดอย่างยั่งยืน การพัฒนาอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมทั้งการทำแบรนด์อย่างยั่งยืน ฯลฯ
คำว่า ยั่งยืน จึงเป็นคำสำคัญอย่างมากทั้งในปัจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่ต้องมีบทบาทหน้าที่สร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ
การทำแบรนด์ที่ยั่งยืน มีความน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ เพราะแบรนด์มีความหมายครอบคลุมอย่างกว้างขวาง แบรนด์อาจหมายถึงผลิตภัณฑ์ หรือบริการ สถานที่ บริษัท/องค์กร รวมถึงประเทศด้วย ดังนั้น การทำแบรนด์อย่างยั่งยืนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะหมายถึงการทำให้แบรนด์นั้นสามารถอยู่ได้นาน มีความยืนยง
การบำรุงรักษาแบรนด์ใดๆ ให้อยู่ได้อย่างยาวนานหรือยั่งยืน ต้องอาศัยทรัพยากร เช่น คน เงินหรืองบประมาณ เวลา เครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้จะต้องมีปัจจัยที่ผู้บริหารต้องติดตามและวิเคราะห์อยู่หลายปัจจัย
เช่น ปัจจัยด้านพฤติกรรมและความพอใจของลูกค้า ปัจจัยด้านสินค้า/บริการ ปัจจัยด้านกลยุทธ์ของแบรนด์คู่แข่งในตลาด และปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่สามารถมีผลกระทบกับแบรนด์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เช่น ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น ลูกค้าในปัจจุบันนิยมใช้แอปพลิเคชันในการซื้อขายสินค้าและบริการ และทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ แต่ก็ต้องการความปลอดภัยในการใช้งานด้วย
การวิเคราะห์ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้และทันกับสถานการณ์ ซึ่งอาจจะได้ข้อมูลมาจากการทำวิจัยเอง หรือจะซื้อข้อมูลการตลาดจากบริษัทวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจ เพื่อจะได้มีข้อมูลที่สามารถใช้ในการตัดสินดำเนินการได้อย่างถูกต้อง
ในการดูแลและบำรุงรักษาแบรนด์ให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจต่อไปในใจลูกค้านั้น ต้องกระทำตั้งแต่เริ่มต้น ผู้บริหารต้องกำหนดเป็นนโยบายเรื่องการสร้างแบรนด์ให้มีความยั่งยืน มีขั้นตอนการทำงานตามระยะเวลาที่ชัดเจน และต้องมี KPI (key performance indicator) ที่จะใช้วัดหรือตรวจสอบ เป็นการติดตามผลการทำงานว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน เพียงไร
ที่สำคัญคือ ต้องสื่อสารนโยบาย มาตรการต่างๆ และ KPI ให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับทราบถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบรนด์ที่ให้บริการจะต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ามีความพอใจหรือถึงขั้นประทับใจ
เช่น โรงพยาบาล คลินิก โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านเสริมสวย ศูนย์บริการต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์และต้องคงภาพลักษณ์ที่ดีนั้นให้อยู่ได้อย่างยาวนานในใจลูกค้าต่อไป
การทำแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จและจะมีความยั่งยืนได้นั้น สามารถดูจากยอดขายที่สม่ำเสมอ และแบรนด์มีแนวโน้มจะเติบโตตามระยะเวลา แม้จะเผชิญปัญหาหรืออุปสรรคอันเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ในบางครั้ง
ผู้บริหารจึงต้องมีแผนการพัฒนาแบรนด์ โดยหมั่นติดตามความต้องการของผู้บริโภคและสังคมที่เกี่ยวข้อง ควรมีการทำนวัตกรรมเพื่อสร้างความทันสมัยก้าวหน้าให้กับแบรนด์เป็นครั้งคราว และมีการส่งเสริมการตลาดในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น การลดราคา แจกของแถม ฯลฯ
เพื่อไม่ให้แบรนด์หยุดนิ่งนานเกินไป และเพื่อเป็นการกระตุ้นลูกค้าไม่ให้ลืมแบรนด์ ผู้บริหารต้องพยายามปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือบริการเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น และลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าในการซื้อ และมีความชื่นชมในการใช้แบรนด์นั้นๆ
การทำแบรนด์ที่ยั่งยืน จึงเปรียบเสมือนกับการทำความดีของแบรนด์ที่สะสมตามกาลเวลา โดยมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง พนักงาน ลูกค้า ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสังคม นั่นเอง