เที่ยวปีใหม่ ‘คนไทย’ แน่นญี่ปุ่น! แนวโน้มปี 67 มาแรงแตะ 1.5 ล้านคน

เที่ยวปีใหม่ ‘คนไทย’ แน่นญี่ปุ่น! แนวโน้มปี 67 มาแรงแตะ 1.5 ล้านคน

'สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว' ประเมินว่าในช่วง 'เทศกาลปีใหม่ 2567' จะมี 'นักท่องเที่ยวไทย' เดินทางไป 'เที่ยวต่างประเทศ' เพิ่มขึ้น 20% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยที่ประเทศต่างๆ งัดสารพัดกลยุทธ์ดึงดูดคนไทยไปเที่ยว และไม่มีปัจจัยลบอื่นๆ มากระทบการเดินทาง

ยกเว้นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อการชอปปิงสินค้าแบรนด์เนมบ้าง ทำให้คนไทยปรับตัวเน้นชอปปิงสินค้าอุปโภคบริโภคเชิงไลฟ์สไตล์แทน

เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จุดหมายปลายทางที่โดดเด่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 คนไทยเลือกไปเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 คือ “ญี่ปุ่น” ทั้งตลาดกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และกรุ๊ปทัวร์ เนื่องจากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบเลย!

รองลงมาคือ “จีน” ที่หลังจากเปิดประเทศ ก็เริ่มโปรโมตเมืองท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้น ตามมาด้วยเวียดนาม และ สปป.ลาว ส่วนจุดหมายในยุโรป พบว่าต้องการนักท่องเที่ยวไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการอนุมัติวีซ่าแก่คนไทยให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

“ญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางที่คนไทยเลือกไปเที่ยวแบบไม่แผ่วเลย แม้จะเคยไปกันแล้ว แต่ก็ยังเลือกเดินทางซ้ำต่อเนื่อง เพื่อสัมผัสประสบการณ์ในอีกหลายๆ เมือง หรือเมืองหลักเช่นเดิม แต่เพิ่มเติมคือเก็บรายละเอียดในย่านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจแบบลึกซึ้งขึ้นไปอีก ส่งผลให้ตลอดปี 2566 สมาคมฯ คาดว่าจะมีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นทะลุ 1 ล้านคน”

ขณะที่ปี 2567 คาดจะมีจำนวนคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 1.2-1.5 ล้านคน ใกล้เคียงหรือดีกว่าสถิติ 1.3 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดด้วยซ้ำ!

เนื่องจากสถานการณ์ “ราคาตั๋วเครื่องบิน” เริ่มปรับตัวลดลง หลังมีสายการบินเข้ามาเปิดเส้นทางใหม่มากขึ้น ทำให้ซัพพลายที่นั่งโดยสารในตลาดเพิ่มขึ้น บวกกับญี่ปุ่นเป็นจุดหมายที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT ได้ดีอยู่แล้ว หรือแม้แต่ตลาดกรุ๊ปทัวร์เองก็ยังมีลูกค้าเดินทางอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือปัจจัย “เงินเยนอ่อนค่า” ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อคนไทยในการชอปปิง

“สมาคมฯ มองด้วยว่าในปี 2567 ยังไม่เห็นประเทศหรือจุดหมายที่จะมาเป็นคู่ต่อสู้กับญี่ปุ่นได้แบบสูสี”

อย่าง “ไต้หวัน” ที่ล่าสุดเห็นทำการตลาดอย่างหนัก แม้จำนวนคนไทยจะเติบโตบ้าง แต่ก็ไม่หวือหวา เพราะลักษณะสินค้าท่องเที่ยวใกล้เคียงกับญี่ปุ่น ทำให้คนไทยบางส่วนยอมจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้เที่ยวญี่ปุ่นเลย

ขณะที่ “เกาหลีใต้” ยังคงได้รับผลกระทบจากประเด็นดราม่า “แบนเที่ยวเกาหลี” ทำให้คนไทยรู้สึกว่ามีความไม่แน่นอนในการเดินทางจากปัญหาการกรอกข้อมูลลงระบบและการอนุมัติการเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เกาหลีใต้ จึงประเมินว่าตลาดคนไทยเที่ยวเกาหลีใต้น่าจะทรงตัวในปี 2567

เที่ยวปีใหม่ ‘คนไทย’ แน่นญี่ปุ่น! แนวโน้มปี 67 มาแรงแตะ 1.5 ล้านคน

ทั้งนี้ สมาคมฯ ประเมินภาพรวมว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น 5-10% จากฐานที่คาดว่าจะได้ 8-10 ล้านคนในปี 2566 โดยจะยังไม่กลับไปเท่ากับภาวะปกติเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด เนื่องจากยังต้องจับตาปัจจัย “เศรษฐกิจโลก” ว่า “อัตราดอกเบี้ย” ในภาพรวมจะปรับลดลงมากน้อยแค่ไหน ถ้าลดลง ก็จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อกำลังซื้อด้านการท่องเที่ยวของคนไทยให้มีมากขึ้น

รายงานข่าวจาก “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น” (JNTO) รายงานสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2566 ระบุถึงตลาด “นักท่องเที่ยวไทย” ว่ามีจำนวนเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นสะสม 869,800 คน ฟื้นตัว 75.4% เมื่อเทียบกับจำนวน 1,154,041 คนของช่วงเดียวกันเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด มากเป็นอันดับ 6 รองจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง และสหรัฐตามลำดับ เฉพาะเดือน พ.ย. พบว่ามีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่น 114,100 คน ฟื้นตัว 81.3% เมื่อเทียบกับจำนวน 140,265 คนของเดือน พ.ย. 2562

เที่ยวปีใหม่ ‘คนไทย’ แน่นญี่ปุ่น! แนวโน้มปี 67 มาแรงแตะ 1.5 ล้านคน

ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลก ฉบับล่าสุดประจำปี 2566 ของ “วีซ่า” (Visa Global Travel Intentions Study 2023) รายงานว่า ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวไทยสนใจจะไปเยือนมากที่สุดในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี 2566

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า 10 จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในปี 2566 ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ไต้หวัน สปป.ลาว และฝรั่งเศส

สำหรับปัจจัย 5 อันดับแรกที่เป็นแรงจูงใจให้ออกเดินทางในอีก 12 เดือนข้างหน้าคือ เพื่อการผ่อนคลาย 67% การชอปปิง 41% การเปิดประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งใหม่ 37% การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลให้แก่ตนเอง 26% และความต้องการออกไปผจญภัย 25%

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า นักเดินทางใช้บัตรแทนเงินสดอย่างแพร่หลายสำหรับการเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะการใช้จ่ายรายการหลักในการเดินทาง เช่น การสำรองที่พักล่วงหน้า 78% และตั๋วเครื่องบิน 62% ขณะที่เมื่ออยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวในต่างแดน นักท่องเที่ยวเลือกที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรไปกับการชอปปิง 44% ออกไปรับประทานอาหาร 41% และทำกิจกรรมต่างๆ 40%

จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนักเดินทางชาวไทยส่วนมาก 78% แสดงให้เห็นว่าพวกเขาใส่ใจในเรื่องความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไป ทั้งยังทราบด้วยว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ตามเกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 43% บอกว่าพวกเขาไม่น่าจะปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางใดๆ และ 95% ของผู้ทำแบบสอบถามยังคงวางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่อไป