3 ร้านโชห่วย คู่มหา’ลัยไทย ที่ ‘สะดวกซื้อเจ้าสัว’ ก็เอาไม่ลง!

3 ร้านโชห่วย คู่มหา’ลัยไทย ที่ ‘สะดวกซื้อเจ้าสัว’ ก็เอาไม่ลง!

สะดวกซื้อเจ้าสัวก็เอาไม่ลง! “3 ร้านโชห่วย” เคียงคู่นิสิตนักศึกษานับสิบปี “จีฉ่อย-บิ๊กเต้-ป้าโรบอท” มีทุกอย่างตั้งแต่ใบลงทะเบียนเรียนยันกระด้ง! ด้าน “ป้าโรบอท” สร้างตำนานมาเมื่อไหร่ก็เจอคนเดิม แท้จริงไม่ใช่หุ่นยนต์-ฝาแฝด เป็นเพียงพี่น้องหน้าคล้ายเท่านั้น

Key Points:

  • ท่ามกลางร้านสะดวกซื้อของเจ้าสัวมากหน้าหลายตา ยังมี “ร้านโชห่วย” ของผู้ประกอบการรายเล็กอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็น “จีฉ่อย” “บิ๊กเต้” หรือ “ร้านป้าโรบอท”
  • “ร้านจีฉ่อย” อยู่คู่จุฬาฯ มายาวนานถึง 64 ปี ขึ้นชื่อเรื่องสินค้าสารพัดอย่างที่มีตั้งแต่เครื่องเขียน ค้อน เลื่อยไฟฟ้า ข้าวมันไก่ ใบลงทะเบียนเรียน ไปจนถึงกระด้ง
  • ส่วน “ร้านบิ๊กเต้” แม้เปิดมาได้เพียง 8 ปี แต่สามารถทำการตลาดจนกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียภายในชั่วข้ามคืน ฝั่ง “เชียงใหม่” มี “ร้านป้าโรบอท” มาพร้อมกับตำนานขายคนเดียว 24 ชั่วโมง จนคุณป้าเจ้าของร้านถูกขนานนามว่า “ป้าโรบอท” 

3 ร้านโชห่วย คู่มหา’ลัยไทย ที่ ‘สะดวกซื้อเจ้าสัว’ ก็เอาไม่ลง!
การมาถึงของ “คอนวีเนียนสโตร์” ภายใต้บรรยากาศการแข่งขันที่เข้มข้นดุเดือด ทำให้บรรดา “คนตัวเล็ก” อย่างร้านโชห่วย-ร้านขายของชำในรูปแบบดั้งเดิมต้องปรับตัวกันอย่างหนัก บ้างก็ล้มหายตายจากไปตามแนวโน้มตลาดค้าปลีกที่มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น บ้างก็งัดอาวุธออกมาสู้ตั้งแต่การตั้งราคา เพิ่มไลน์สินค้าใหม่ๆ รวมถึงความสะดวกสบายที่อาจจะหาไม่ได้จากร้านโชห่วยเล็กๆ ทำให้ร้านสะดวกซื้อกลายเป็นสมรภูมิที่ “เจ้าสัว” ต่างหมายปอง ด้วยมูลค่าตลาดที่สูงถึง “400,000 ล้านบาท”

ท่ามกลางการแข่งขันที่ขับเคี่ยวกันเช่นนี้ กลับมีร้านขายของชำบางแห่งที่อยู่รอดเหนือกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “นายทุนน้อย” จะเอาชนะร้านสะดวกซื้อเชนใหญ่ได้ หากแต่โชห่วยเหล่านี้กลับรู้ที่ทางของตนเองว่า ต้องแข่งในสนามใด และมีจุดแข็งตรงไหนที่จะสามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้

“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนสำรวจ “3 ร้านโชห่วย” อยู่คู่นิสิตนักศึกษาไทยจนกลายเป็นตำนานประจำย่าน บางร้านอยู่มานานกว่าครึ่งศตวรรษ บางร้านแม้เปิดมาได้ไม่นานแต่กลับทำการตลาดได้โดดเด่นจนเป็นไวรัลไปทั่วโซเชียลภายในชั่วข้ามคืนเลยทีเดียว

​​​​​​ 3 ร้านโชห่วย คู่มหา’ลัยไทย ที่ ‘สะดวกซื้อเจ้าสัว’ ก็เอาไม่ลง!

  • หาอะไรไม่เจอให้ลองถาม “จีฉ่อย” 

มองภายนอกอาจดูเหมือนร้านขายเครื่องเขียน-กิฟช็อปทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว “จีฉ่อย” หาให้ได้ตั้งแต่ข้าวมันไก่ ใบลงทะเบียนเรียน แหวนรุ่นบางคณะ เลื่อยไฟฟ้า สายยาง กระบวยตักน้ำ ไปจนถึงกระด้ง ขอแค่เอ่ยปากว่าต้องการสินค้าตัวไหน “จีฉ่อย” ก็หามาให้ได้ ว่ากันว่า คำพูดติดปากของ “จีฉ่อย” ชื่อของอาม่าเจ้าของร้านและเป็นชื่อเดียวกันกับร้านโชห่วยแห่งนี้ คือ “พรุ่งนี้ลื้อค่อยมาเอา”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ “ศิลปวัฒนธรรม” ระบุถึงคำบอกเล่าของ “จีฉ่อย” ที่ย้อนไปถึงภูมิหลังว่า ครอบครัวตนมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน “จีฉ่อย” เป็นคนที่ 2 ทางบ้านฐานะค่อนข้างดี ประกอบกับหลายสิบปีก่อนพ่อของ “จีฉ่อย” ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 จึงนำเงินบางส่วนแบ่งมาเป็นทุนเปิดร้านโชห่วยแห่งนี้

เดิมทีร้าน “จีฉ่อย” ตั้งอยู่ริมถนนพญาไท ภาพจำของนิสิตและอาจารย์จุฬาฯ คือ ร้านห้องแถวคูหาเดียวพื้นที่ไม่มากแต่อัดแน่นไปด้วยสินค้าสารพัดชนิด ในช่วงแรกๆ “ร้านจีฉ่อย” ให้ลูกค้ารื้อหาสินค้าได้ตามต้องการ แต่มาระยะหลังด้วยความที่สินค้ามีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จะหาอะไรไม่ต้องไปค้นเองเพียงบอก “จีฉ่อย” หรือ “อาอี๊รัชนี” ทั้งคู่ก็จะช่วยกันหาสินค้าที่ต้องการมาให้ได้ หรือถ้าของที่อยากได้ไม่มีในร้าน “จีฉ่อย” จะหามาให้พร้อมบอกวันเวลามารับสินค้าอีกครั้งหนึ่ง

จากตึกแถวบริเวณตลาดสามย่าน ตรงข้ามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน “ร้านจีฉ่อย” ย้ายไปเปิดทำการที่ชั้น 1 อาคารยูเซ็นเตอร์ (U-Center) ซอยจุฬา 4 ถนนพระราม 4 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ มีป้ายสีชมพูขนาดใหญ่ติดด้านบนชื่อร้านว่า “หนึ่งตำนาน คู่จุฬาฯ จีฉ่อย”

จากคำบอกเล่าของศิษย์เก่าจุฬาฯ ระบุว่า ตั้งแต่ “ร้านจีฉ่อย” ย้ายมาอยู่ตรงนี้ก็ดูจะเงียบเหงาลงไปจากเดิมบ้าง อาจเป็นเพราะที่ตั้งอาคารยูเซ็นเตอร์ห่างไกลจากที่ตั้งเดิม ประกอบกับปัจจุบันมีร้านโชห่วยให้นิสิต-อาจารย์เลือกซื้อกันมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น “ร้านจีฉ่อย” ก็ยังคงขึ้นชื่อเรื่อง “สินค้าหายาก” ที่หากหาซื้อจากที่ไหนไม่ได้ ต้องตรงมาที่นี่เท่านั้น

3 ร้านโชห่วย คู่มหา’ลัยไทย ที่ ‘สะดวกซื้อเจ้าสัว’ ก็เอาไม่ลง! -เต้-ศตวัสส์ ฝ่ายรีย์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน “บิ๊กเต้”-

  • “บิ๊กเต้” โชห่วยลูกเล่นแพรวพราว พารายได้แตะ “24 ล้าน”

ร้านโชห่วย 3 สาขา ย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่เคยโด่งดังจากไวรัลโปรโมตสินค้าด้วยคำโฆษณาหยอกล้อกวนโอ๊ยปนน่ารัก แม้ว่า “ร้านบิ๊กเต้” จะมีอายุเพียง 8 ปี แต่กลับเป็นที่จดจำของผู้คนได้อย่างรวดเร็วจากการวางจุดยืนตนเองเป็นเพื่อนคนหนึ่ง

ใครเลยจะรู้ว่า จากเดิมที่ “เต้-ศตวัสส์ ฝ่ายรีย์” ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน “บิ๊กเต้” เคยขาดทุนติดต่อกัน ทั้งยังกังวลว่า ร้านจะไปต่อได้อย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดร้านสะดวกซื้อ-มินิมาร์ท ปัจจุบัน “บริษัท ร้านบิ๊กเต้ จำกัด” มีรายได้รวมในปี 2565 ที่ “24 ล้านบาท”

“เต้-ศตวัส” เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ “เดอะคลาวด์” (The Cloud) ไว้ว่า ช่วงแรกตนรู้สึกกังวลไม่น้อยเพราะเจ้าของร้านมินิมาร์ทเดิมก่อนหน้าที่ “เต้” จะเข้ามาเซ้งได้ล้มเลิกทำร้านไปแล้วถึงสองเจ้า “เต้” เริ่มต้นการทำร้านจากศูนย์ ลาออกจากพนักงานประจำมาเรียนผูกเรียนแก้วิชาธุรกิจไประหว่างทาง จากตอนแรกที่ยังจับทางลูกค้าไม่ได้ ไม่มีกลยุทธ์สร้างแบรนด์ดิ้งใดๆ ให้เกิดความแตกต่างกับคู่แข่งรายอื่นๆ จนเงินเก็บที่นำมาเปิดร้านเริ่มละลายหายไปกับภาวะขาดทุน

กระทั่งกลับมาตั้งหลัก-ศึกษาอินไซต์กลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งก็คือ “นักศึกษา” เริ่มจากสินค้าที่เด็กนักศึกษาต้องการเป็นแบบไหน เวลาเปิดปิดควรเช้าหรือดึกเท่าไร และจะสื่อสารกับลูกค้าอย่างไรให้โดนใจมากที่สุด นี่จึงเป็นที่มาของกระดาษโพสต์อิทสอดแทรกมุกตลกที่ทำให้เกิดไวรัลจนเป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดีย ที่ “เต้” ระบุว่า เริ่มต้นจากความสนุกจนกลายเป็นจุดขายที่ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจเลือกซื้อสินค้าที่ร้าน

3 ร้านโชห่วย คู่มหา’ลัยไทย ที่ ‘สะดวกซื้อเจ้าสัว’ ก็เอาไม่ลง! -ตัวอย่างกระดาษโพสต์อิทที่ทำให้ “ร้านบิ๊กเต้” เป็นไวรัล-

“ร้านบิ๊กเต้” หรือ “ร้านพี่เต้” ที่น้องๆ นักศึกษาเรียกกันติดปากเปิดทำการครั้งแรกในปี 2558 ข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รายได้ “บริษัท ร้านบิ๊กเต้ จำกัด” ในปีแรก (ปี 2558) อยู่ที่ 2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 347,305 บาท หลังจากนั้นก็สามารถพารายได้แตะ “หลักสิบล้าน” ภายในปีถัดไป โดยปี 2559 มีรายได้รวม 10.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 378,325 บาท หลังจากนั้นก็สามารถรักษาระดับรายได้ราวๆ 8-10 ล้านบาทได้เรื่อยมา โดยมีกำไรบางปีเพียง “หลักหมื่น” และบางปีก็ “ขาดทุน” ด้วยซ้ำไป กระทั่งในปี 2565 “บริษัท ร้านบิ๊กเต้ จำกัด” มีรายได้ทะยานสูงถึง 24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1.4 ล้านบาท นับเป็นผลประกอบการที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งร้าน

ปัจจุบัน “ร้านบิ๊กเต้” ทั้งสามสาขาถูกขนาบด้วยร้านสะดวกซื้อของยักษ์ค้าปลีกไทย “เต้” บอกว่า ทางเดียวที่จะสู้ได้ คือตั้งใจศึกษาและพัฒนาร้านให้ดียิ่งขึ้น การสื่อสารกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่ร้านจะได้ทราบถึงความต้องการได้อย่างครอบคลุม หากลูกค้าต้องการสินค้าที่ภายในร้านไม่มีวางขาย ลูกค้าสามารถสอบถามเพื่อให้ทางร้านจัดหามาให้ได้ ซึ่งกลยุทธ์นี้คล้ายกับ “ร้านจีฉ่อย” ที่ทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย นี่อาจเป็นจุด “คิกออฟ” ที่ร้านคอนวีเนียนสโตร์สเกลใหญ่ให้กับลูกค้าไม่ได้

3 ร้านโชห่วย คู่มหา’ลัยไทย ที่ ‘สะดวกซื้อเจ้าสัว’ ก็เอาไม่ลง! -ด้านหน้าร้าน “สวนดอกมินิมาร์ท” หรือ “ร้านป้าโรบอท”: เครดิตภาพจาก Facebook: วันละร้านเชียงใหม่-

  • ไปตอนไหนก็เจอคนเดิม เพราะนี่คือ “ร้านป้าโรบอท”

ร้านโชห่วยชั้นเดียว ตั้งอยู่ริมถนนบริเวณสี่แยกโรงพยาบาลประสาท มีทั้งหนุ่มสาว วัยกลางคน ชาวบ้านในชุมชน รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยแวะเวียนกันเข้ามาจับจ่ายซื้อหาสารพัดสิ่งที่มินิมาร์ทแห่งนี้ “สวนดอกมินิมาร์ท” คือชื่อร้านอย่างเป็นทางการ แต่กลับไม่ค่อยมีคนในพื้นที่เรียกนัก โดยมักเรียกร้านโชห่วยอายุ 30 ปีเศษๆ แห่งนี้ว่า “ร้านป้าโรบอท”

“ร้านป้าโรบอท” มีสินค้าทุกอย่างที่จำเป็นในครัวเรือน ตั้งแต่อาหารแห้ง เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว เสื้อผ้า เครื่องนอน พรม หมอน ถังน้ำ กะละมัง ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และของกับแกล้ม เดิมที “ร้านป้าโรบอท” เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยมีคุณป้าเจ้าของร้านนั่งประจำที่โต๊ะแคชเชียร์ทุกครั้ง เป็นที่มาของฉายา “ป้าโรบอท” เพราะไม่ว่าจะไปเวลาไหนก็จะเจอคุณป้าคนเดิมนั่งเฝ้าหน้าร้าน บ้างก็ว่า คุณป้ามีฝาแฝดจึงทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า เป็นป้าโรบอทคนเดิมตลอด 24 ชั่วโมง ทว่า แท้จริงแล้วคุณป้าไม่ได้มีฝาแฝด หากแต่เป็น “น้องสาวหน้าคล้าย” เท่านั้น

3 ร้านโชห่วย คู่มหา’ลัยไทย ที่ ‘สะดวกซื้อเจ้าสัว’ ก็เอาไม่ลง! -“ป้าโรบอท” เจ้าของร้าน: เครดิตภาพจากเว็บไซต์ “กินดีอยู่เหนือ”-

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ “สวนดอกมินิมาร์ท” ไม่ได้เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงแล้ว สามารถแวะเวียนไปหาซื้อของกินของใช้ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 03.00 น. ของอีกวัน นี่อาจเป็นบทพิสูจน์เกี่ยวกับข่าวลือที่ว่า คุณป้าเป็นหุ่นยนต์ ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถสลับกะมาเฝ้าร้านกันตลอด 24 ชั่วโมงได้อีกแล้ว

และนี่คือที่มาที่ไปของ “3 ร้านโชห่วย” ที่ยืนอยู่ท่ามกลางสมรภูมิร้านสะดวกซื้อได้จนถึงปัจจุบัน

 

อ้างอิง: Facebook: WanlaranKindeeyunueaMGR OnlinePost TodayReview Chiang MaiSilpa-MagThe CloudUrban Creature