'สตรีมมิงแห่งชาติ' เกิดช้า ซ้ำรอยเปลี่ยนผ่าน 'ทีวีดิจิทัล'

'สตรีมมิงแห่งชาติ' เกิดช้า  ซ้ำรอยเปลี่ยนผ่าน 'ทีวีดิจิทัล'

นับถอยหลังการสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล (ไลเซ่นส์) ในปี 2572 จากจำนวนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 15 ช่อง ยังเผชิญการหารายได้เม็ดเงินโฆษณาที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ 6 ปีของเวลาที่เหลือ เอเยนซีมอง 5 ช่องเหมาะสม ส่วนการทรานส์ฟอร์มสู่แพลตฟอร์ม “สตรีมมิงแห่งชาติ” นักวิชาการมอง “ช้า” แต่ต้องทำเพื่อรับโลกการเสพสื่อ บริโภคคอนเทนต์แห่งอนาคต

เป็นเวลา 9 ปีของการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ(ไลเซ่นส์)มีอายุ 15 ปี นับตั้งแต่ 25 เม.ย.2557-24 เม.ย.2572 แรกเริ่มมีทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ผ่านเพียงครึ่งทางภาวะ “ขาดทุน” เรทติ้ง คนดูต่ำ การเจอพายุดิจิทัลถาโถม ทำให้เดือนเม.ย.2562 มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 4/2562 เพื่อไขก๊อกหาทางออกให้ผู้เล่น “คืนใบอนุญาต” พร้อมได้รับเงินชดเชย ที่สุด 9 ช่องโบกมือลา เหลือเพียง 15 รายที่เดินหน้าสู่ต่อ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคดูรายการทีวีน้อยลง เม็ดเงินโฆษณา “หดตัว” และสัดส่วนลดลงต่อเนื่อง อีกด้านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือสตรีมมิงต่างๆ แย่งคนดู

ทั้งนี้ ระยะเวลา 6 ปีที่เหลือของไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล ขณะที่เทรนด์โลกมองการเปลี่ยนผ่านใช้คลื่นความถี่ทีวีไปสู่การสื่อสาร และมองวิสัยทัศน์ “ปิดสวิทช์ทีวี” โดยการใช้คลื่นความถี่ ไปสู่การสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิง เป็นช่องทางป้อนคอนเทนต์ให้คนดู

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการด้านสื่อและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า แนวทางความอยู่รอดของอุตสาหกรรมทีวีดิทัลในช่วง 6 ปีที่เหลือของระยะเวลาใบอนุญาตประกอบการกิจการหรือไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล มีหลายด้าน เช่น การปรับกระบวนทัศน์และวิธีคิดของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมจากหวังประคองให้อยู่รอดไปสู่การมีเป้าหมายร่วมกันสร้างวคามเจริญให้กับวงการ การปฏิรูปกลยุทธ์ทางธุรกิจในระบบนิเวศสื่อผสมผสาน การเสริมแกร่งระบบนิเวศแพลตฟอร์มขององค์กร สร้างและพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมระดับชาติ เป็นต้น

  • สตรีมมิงแห่งชาติเกิดช้าแต่ต้องทำ

ทั้งนี้ การสร้างแพลตฟอร์มระดับชาติอย่าง “สตรีมมิง” ที่ประเทศไทยกำลังมีแนวคิดดำเนินการยอมรับว่ามีความล่าช้า แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทีวีและตอบโจทย์พฤติกรรมคนดูในอนาคต

สำหรับเหตุผลที่มองการพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติช้า เนื่องจากพิจารณาจากบทเรียนการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัลเมื่อ 10 ปีก่อน เป็นสิ่งที่ถูกพิสูจน์ว่าไทยค่อนข้างช้า แต่การเดินหน้าแพลตฟอร์มสตรีมมิงครั้งนี้แตกต่างจากการเกิดทีวีดิจิทัลตรงที่อดีตไม่มีการวางรากฐาน ไม่มีการคิดหาทางออก การแก้ปัญหา และการจัดสรรคลื่นความถี่ยังใช้วิธีคิดแบบเดิม

“แพลตฟอร์มสตรีมมิง โอทีทีเกิดมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ช่วงของการเติบโตสูงสุดหรือพีค เกิดขึ้นใน 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากถามว่าไทยเดินช้าไหมในการสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ คำตอบคือช้า แต่ครั้งนี้เราจะมีโร้ดแมป การกำหนดวิสัยทัศน์ในการเชื่อมต่อโลกของการใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ และการมุ่งรับกับเทรนด์โลกในการรุกโอทีที ช้า หากเราไม่ทำอะไรเลย จะสะท้อนการไม่เตรียมพร้อมรับโลกแห่งอนาคต”

  • หาประโยชน์ร่วมสตรีมมิงแห่งชาติ-ธุรกิจ

ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมิ่งแห่งชาติ บริบทที่น่าสนใจคือการหาจุดสมดุลของผลประโยชน์ร่วม โดยเฉพาะระหว่างผู้ประกอบการทีวีดิจิจัลประเภทธุรกิจ 15 ราย ซึ่งปัจจุบันทุกรายมีแพลตฟอร์มรับชมคอนเทนต์ออนไลน์เป็นของตัวเองกลับแพลตฟอร์มระดับประเทศ จึงต้องหารือกันเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม สร้างทางเลือก และการอยู่รอดต่อไป

สำหรับค่ายทีวีดิจิทัลต่างๆ มีการปรับตัวหารายได้ และดึงคนดู โดยพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิงเป็นของตัวเอง เช่น ช่อง3 มีแอปพลิเคชัน 3Plus และโมเดลจ่ายค่าสมาชิกผ่าน 3Plus Premium) ช่อง 7 มี BUGABOO TV ช่องโมโน 29 มี MONOMAX และ GIGATV ช่องวัน 31 มี oneD นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มสตรีมมิงอื่น เช่น trueID และ AIS Play รวบรายการทีวีดิจิทัลทุกค่ายป้อนคนดู เป็นต้น

ปัจจุบันสมรภูมิแพลตฟอร์มสตรีมมิงยังมีการแข่งขันสูง เพื่อแย่งคนดู อีกด้านต้นทุนทางธุรกิจก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ทำให้ที่ผ่านมา เห็นผู้เล่นบางรายไม่สามารถอยู่รอดได้ ต้องยกเลิกกิจการ รวมถึงแพลตฟอร์มระดับโลกอย่างดีสนีย์พลัสควบรวมกับฮูลู(Hulu) เป็นต้น

  • ค่าไลเซ่นส์-มักซ์ ลดภาระต้นทุนทีวีดิจิทัล

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในช่วง 6 ปีที่เหลือของระยะเวลาไลเซ่นส์ฯ ยังมีความหวัง ภายใต้ปัจจัยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เลวร้ายจนเกินไป และมีโอกาสเติบโตกระเตื้องขึ้นมาได้ อีกด้านซึ่งสำคัญมากขึ้นต้นทุนใบอนุญาตประกอบกิจการ 2 งวดสุดท้ายที่ไม่ต้องชำระ รวมถึงค่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลหรือมักซ์

“ต้นทุนสำคัญลดลงไปมาก ทั้งค่าไลเซ่นส์ 2 งวดที่ไม่ต้องชำระและค่ามักซ์”

นายสุภาพ ยังกล่าวในงาน “The Future of Media 2024” ช่วง 6 ปีสุดท้ายของระยะเวลาใบอนุญาต ค่ายทีวีดิจิทัลยังต้องเร่งฝีเท้าเพื่อหาทางทำให้ผลการดำเนินงานพ้นภาวะขาดทุน หยุดความสูญเสีย หลังจากเกินกว่าครึ่งทางที่ผ่านมาทำได้เพียงให้ธุรกิจอยู่รอด และพอตั้งหลักได้เท่านั้น

  • เงินโฆษณาทีวีขาลง

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ หรือเอ็มไอ กรุ๊ป(MI GROUP) กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการประมูลทีวีดิจิทัลปลายปี 2566 สถานการณ์เม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาทางทีวี มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปี 2556 เม็ดเงินโฆษณาทีวีมีมูลค่า 77,000 ล้านบาท ปี 2565 ลดเหลือ 37,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนในปี 2556 ทีวีครองเม็ดเงิน 65% ปี 2565 ลดเหลือ 45.3% ปี 2566 อยู่ที่ 42.8% และแนวโน้มปี 2567 จะมีสัดส่วน 40.3% ขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ตหรือดิจิทัลปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ปี 2566 มีสัดส่วน 34.3% ปีหน้าคาดเพิ่มแตะ 36.4%

“จากสถานการณ์ปัจจุบันทั้งเม็ดเงินโฆษณาและคนดู มองว่าจำนวนผู้เล่นทีวีดิจิทัลควรมีไม่เกิน 5 ช่อง เหมาะสมที่สุด”

อย่างไรก็ตาม หากมองหนทางรอดของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในช่วง 6 ปีที่เหลือของใบอนุญาตฯ ท่ามกลางพฤติกรรมคนดูเปลี่ยน หันไปเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้สื่อทีวี ในอนาคตจะเหมาะสมกับการนำเสนอคอนเทนต์บางประเภทเท่านั้น เช่น ข่าว การเล่าข่าว ละครออกอากาศที่แรก(First run) รายการกีฬา การถ่ายทอดสด เป็นต้น

“ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมเสพสื่อของผู้บริโภคได้ จึงต้องเน้นการสร้างและนำเสนอคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การเสพสื่อ ซึ่งทีวีแล้ว คอนเทนต์ข่าว ละครเฟิร์สรัน กีฬา การถ่ายทอดสดยังพอสดใส ส่วนการหารายได้จำเป็นต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ นอกจากค่าโฆษณา เช่น ลิขสิทธิ์คอนเทนต์ สปอนเซอร์ชิปต่างๆ การลุยกลยุทธ์ร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์หรือ Co-content creation กับคนโฆษณาผ่านการทำ Branded Content การสื่อสารตลาดแบบ O2O2Oหรือ offline to online to on-ground ให้เกิดรูปแบบการผสานสื่อทำการตลาดแบบครบวงจรหรือ IMC มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาหรือ Advertisers”

อย่างไรก็ตาม หากถอดบทเรียนของทีวีดิจิทัล ถือเป็นความโชคร้ายที่การประมูลเกิดขึ้นในช่วงก่อนจุดเปลี่ยนของสื่อ และพฤติกรรมการเสพสื่อพอดี จึงทำให้การคาดการณ์ในการประมูลจำนวนช่อง ประเภทของช่อง รวมถึงราคาใบอนุญาตฯ ตลอดจนการประเมินของผู้ประกอบการหรือผู้ร่วมประมูล ก่อนการเข้าร่วมประมูล โดยพิจาณาฉากทัศน์หรือซีนาริโอขณะนั้นมองอุตสาหกรรมสื่อ เม็ดเงินโฆษณาจะเฟื่องฟู และพฤติกรรมผู้บริโภคยังไม่เปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของพายุดิจิทัลหรือดิจิทัล ดิสรัปชั่น