Womenomics กับมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการหญิง
เก็บตกงานสัมมนา Unleashing the Full Potential of Women in International Trade แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการหญิง และความสำคัญของเศรษฐกิจพลังหญิง (womenomics)
งานสัมมนาจัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 90 ปีของการก่อตั้ง ร่วมกับ The Asia Pacific Foundation of Canada และ Air Canada เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศแคนาดา เกาหลีใต้ และไทย
ผู้เขียนมีโอกาสได้นำเสนอข้อมูลจากงานวิจัย สรุป 3 ปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการหญิง ประกอบด้วย ศรัทธา (faith) ความรู้ (wisdom) และการบริหาร (management)
ผู้ประกอบการหญิงส่วนใหญ่จะบอกว่าเริ่มต้นธุรกิจ เพราะศรัทธาเชื่อมั่นว่าธุรกิจของตนนั้นมีคุณค่า จะช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ แต่แทบจะไม่ค่อยได้ยินคำนี้จากผู้บริหารหญิง (และชาย) ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งกว่า แรงบันดาลใจ (passion)
ในการประกอบธุรกิจนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความเชี่ยวชาญ คลุกคลีจนสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งได้ ต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร หมั่นฝึกฝนพนักงาน เรียนรู้ซัพพลายเออร์และลูกค้า เปิดใจให้กับนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
และการเป็นผู้ประกอบการต้องมีทักษะทางการบริหาร ทั้งบัญชี การเงิน การตลาด การสร้างทีมงาน ฯลฯ
จากข้อมูลวิจัย พบว่าการเรียนด้านบริหารธุรกิจมีส่วนสำคัญ ร้อยละ 80 ของซีอีโอและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 10,000 คน เรียนสาขาบัญชีหรือบริหารธุรกิจในระดับปริญญาตรีหรือโท
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการทำธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยี และติดต่อการค้ากับต่างประเทศ การยกระดับสู่มาตรฐานสากลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
อย่างไรก็ดี ผู้หญิงอาจเสียเปรียบเมื่อต้องยืนอยู่บนเวทีเดียวกันกับผู้ชาย อย่างเช่นหากไปตามเวทีประกวดสตาร์ตอัปรายใหม่เพื่อระดมทุน ซึ่งมักเน้นธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด จะพบว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนมากเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป เมนเทอร์ อินคิวเบเตอร์ หรือนักลงทุน
ขณะที่ผู้ประกอบการหญิงจำนวนไม่น้อยประสบกับปัญหาภาพลักษณ์ที่เกิดจากบทลงโทษของการเป็นแม่ (motherhood penalty) หรือกำแพงของการเป็นแม่ (maternal wall) นักลงทุนมักลังเลที่จะลงทุนกับผู้ประกอบการหญิง เพราะเกรงว่าธุรกิจอาจต้องหยุดชะงัก หากแต่งงานและมีบุตร
ในอีกด้านหนึ่งพบว่า ร้อยละ 90 ของธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprises) ในไทยและทั่วโลกบริหารงานโดยผู้หญิง ผู้หญิงมีภาพลักษณ์และทำได้ดีกว่าผู้ชายในธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แม้ผลกำไรจะไม่ได้มากนักแต่ก็ยั่งยืน
ยังพบอีกว่าสัดส่วนผู้ประกอบการหญิงสูงในธุรกิจที่มีผู้หญิงและเด็กเป็นลูกค้าหลัก เช่น แฟชั่นและความงาม อาหารเพื่อสุขภาพ การศึกษา การดูแลสุขภาพและครอบครัว
ดังนั้น การเริ่มต้นกิจการในธุรกิจที่เอื้อต่อผู้หญิง (highly feminized sectors) อาจเป็นวิธีการหนึ่งของการทดลองไอเดียและเรียนรู้สภาพการเป็นผู้ประกอบการ
สำหรับมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงนั้น มีทั้งระบบพี่เลี้ยง (mentorship) การสร้างเครือข่ายทางสังคม (social networking) การส่งเสริมต้นแบบ (role model) ซึ่งสะท้อนการรวมตัวของผู้หญิงเพื่อฟันฝ่าอุปสรรค ประสานพลังช่วยเหลือและส่งต่อกำลังใจซึ่งกันและกัน
แต่ผลการวิจัยพบว่าระบบสปอนเซอร์ชิฟ (sponsorship) ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง พี่เลี้ยงอาจให้คำชี้แนะเรื่องต่างๆ แต่สปอนเซอร์คือผู้ประทับตรารับประกันความสามารถ และช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของธุรกิจให้กับคนในวงกว้าง
สปอนเซอร์อาจจะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้เงินกู้แก่ธุรกิจรายใหม่ แล้วช่วยประชาสัมพันธ์ว่าเป็นธุรกิจที่ทำประโยชน์ต่อสังคม หรืออาจเป็นองค์กรกลางอย่าง UN Women, Kenan Foundation, Sasakawa Peace Foundation ที่มอบรางวัลหรือให้เงินทุนสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่
หรืออาจเป็นรายการโทรทัศน์ โซเชียลมีเดียที่มาสัมภาษณ์แนะนำธุรกิจในสื่อสังคมออนไลน์ ส่องสปอทไลต์ไปที่ธุรกิจนั้นๆ
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการไทยอาจไม่ใช่การเริ่มต้นธุรกิจ (starting up) แต่เป็นการพัฒนาธุรกิจให้เติบใหญ่ (scaling up) ซึ่งต้องมีระบบบริหารทีมที่มีประสิทธิภาพ การร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการสร้างพันธมิตรกับต่างชาติ
บริษัทยูนิคอร์นของไทยยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่ามองเพียงแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น ต้องกล้าคิดออกสู่ต่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้น แม้จะเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นในต่างจังหวัด
รศ.พัฒน์นรี ศรีศุภโอฬาร ที่ร่วมงานสัมมนาด้วยในครั้งนี้ ได้แนะนำว่าให้รู้จักเข้าถึงและเรียนรู้ผู้บริโภคในเมืองและในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสินค้าของตนให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ตรงจุด ตลอดจนภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญกับขั้นตอนการบ่มเพาะจนตั้งไข่ได้ มากกว่าขั้นตอนการให้รางวัลผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จแล้ว
รวมทั้งการสร้างตาข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ที่ให้ความล้มเหลวของการเริ่มต้นธุรกิจเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ควรถอดบทเรียน มิใช่มลทิน (stigma)
สุดท้ายนี้กล่าวกันว่า สมองไม่มีเพศ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการทุกท่านที่ศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองทำ เชื่อมั่นว่าธุรกิจของคุณจะช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้น และจงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจพลังผู้หญิง ที่มีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ.