กางแผนปั้น ‘ย่านการค้าระดับโลก‘ ใต้ปีก ศุภลักษณ์ อัมพุช ปักธงทำสิ่งที่ไม่มีใครทำ!

กางแผนปั้น ‘ย่านการค้าระดับโลก‘ ใต้ปีก ศุภลักษณ์ อัมพุช ปักธงทำสิ่งที่ไม่มีใครทำ!

ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยทำ! ผ่าแผนขยายอาณาจักร “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ใต้ปีก “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ผนึก “Emporium-EmQuartier-EmSphere” ปักหมุด “ดิ เอ็มดิสทริค” ย่านการค้าแห่งใหม่ พร้อมดัน “Bangkok Mall” สู่เดสทิเนชันแห่งใหม่ของโลก

Key Points: 

  • “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกแนวหน้าของไทยกำลังก่อร่างอภิมหาโปรเจกต์อย่าง “ดิ เอ็มดิสทริค” (The EmDistrict) และ “แบงค็อก มอลล์” (Bangkok Mall) ครอบคลุมกิน-ดื่ม-เที่ยว ไลฟ์สไตล์คนเมืองและชาวต่างชาติไว้ในที่เดียว
  • “ดิ เอ็มดิสทริค” เป็นการผนึกสามห้าง “ดิ เอ็มโพเรียม” (The Emporium) “ดิ เอ็มควอเทียร์” (The EmQuartier) และ “ดิ เอ็มสเฟียร์” (The EmSphere) ตั้งเป้าสร้างย่านการค้าแห่งใหม่
  • “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ยืนยันกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตนไม่คิดลงสนาม "ค้าส่ง" ที่กำลังร้อนระอุขณะนี้ ไม่ต้องการเข้าไปในตลาดที่มีผู้เล่นอยู่แล้ว เป้าหมายคือทำในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำ


ภาพจำของ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป​” หนึ่งในยักษ์ค้าปลีกไทยมักถูกจดจำในฐานะห้างสรรพสินค้าของชนชั้นกลางที่เข้าถึงได้ง่าย ตั้งแต่การเลือกทำเลที่ตั้งแถบชานเมือง รวมถึงร้านค้าภายในส่วนของดีพาร์ตเมนต์ สโตร์ ที่มีราคาเอื้อมถึงได้ ใครเลยจะคิดว่า เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” จะลุกขึ้นมาปั้นโปรเจกต์ห้างหรูใจกลางเมืองที่ทุกวันนี้ได้ชื่อว่าเป็น “ห้างไฮโซ” แห่งแรกในไทย จนถึงปัจจุบัน “ดิ เอ็มโพเรียม” (Emporium) มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 30% ต่อเนื่องทุกปี 

จากที่เคยถูกสบประมาทว่า เป็นกลุ่มค้าปลีกที่ไม่เคยประลองฝีมือในธุรกิจไฮเอนด์มาก่อน ในตอนนั้น “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ที่กำลังตั้งไข่ห้าง “ดิ เอ็มโพเรียม” บอกกับ “ศุภชัย อัมพุช” ผู้เป็นพ่อซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารฯ ขณะนั้นว่า ให้ระบุลงไปในเอกสารขอเงินทุนเลยว่า “นี่จะเป็นศูนย์การค้าที่ดีที่สุดในประเทศไทย” 

และก็เป็นที่พิสูจน์ได้แล้ว เพราะหลังจากนั้น “ดิ เอ็มโพเรียม” ก็เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่คุ้มดีคุ้มร้าย โดยเฉพาะการเปิดห้างในปี 2540 ช่วงที่ “ศุภลักษณ์” เล่าว่า ต้องฝ่าวิกฤติ “IMF” มานักหนาพอสมควร

แต่ในความโชคร้ายเหล่านั้น “ดิ เอ็มโพเรียม” ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ไปต่อกับโครงการห้างหรูใจกลางราชประสงค์อย่าง “สยามพารากอน” ศูนย์การค้าที่เป็นความร่วมมือระหว่าง “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” และ “สยามพิวรรธน์” และอีกเช่นเคย แม่ทัพหญิงคนนี้ใช้ความตั้งใจที่มีเป็น “บรรทัดสุดท้าย” ในการนำเสนอแผนอภิมหาโปรเจกต์แห่งนี้ว่า ศูนย์การค้าแห่งนี้จะเป็นเหมือนกับอัญมณีล้ำค่าแห่งเอเชีย เป็น “The Pride of Siam” บนเนื้อที่กว่า 500,000 ตารางเมตร

มาวันนี้สิ่งที่แม่ทัพหญิงแกร่งต้องการปักธงไปไกลกว่านั้นแล้ว แค่แบรนด์หรู-ลักชัวรี อาจไม่พอ แต่ต้องตอบโจทย์กิน-ดื่ม-เที่ยว ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ทุกคน ทุกกลุ่ม โดยอาศัยความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง ไม่อาจแบ่งประเภทกลุ่มลูกค้าอย่างกว้างๆ ได้ แต่ต้องเซกเมนต์ความหลงใหลของแต่ละประเทศอย่างชัดเจน “ศุภลักษณ์” ให้นิยามบิ๊กโปรเจกต์ที่เธอกำลังสร้างว่า “Integrated Entertainment”

กางแผนปั้น ‘ย่านการค้าระดับโลก‘ ใต้ปีก ศุภลักษณ์ อัมพุช ปักธงทำสิ่งที่ไม่มีใครทำ!

  • “EmSphere” จิ๊กซอว์สำคัญ ดัน “EmDistrict” เดสทิเนชั่นใหม่

อีกไม่ถึงเดือน “ดิ เอ็มสเฟียร์” ศูนย์การค้าที่ไม่เคยหลับใหลใกล้จะเผยโฉมให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์พร้อมกันในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ โดย “ดิ เอ็มสเฟียร์” มีความสำคัญในฐานะจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของโครงการ “ดิ เอ็มดิสทริค” ขณะที่ทั้งสองศูนย์การค้าก่อนหน้าอย่าง “ดิ เอ็มโพเรียม” และ “ดิ เอ็มควอเทียร์” ขับเคลื่อนในบทบาทห้างสรรพสินค้าหรูหรา-อัดแน่นไปด้วยลักชัวรีแบรนด์ แต่กับ “ดิ เอ็มสเฟียร์” ศุภลักษณ์เผยว่า ที่นี่คือศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ทั้งหมดที่ต้องการ ตั้งแต่ร้านอาหารชั้นนำ สตรีทฟู้ด แหล่งสังสรรค์-แฮงค์เอาต์ยามค่ำคืนตลอด 24 ชั่วโมง

“ศุภลักษณ์” เริ่มตั้งโจทย์จากการสร้างเศรษฐกิจก่อนสร้างธุรกิจว่า จะทำอย่างไรเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาไทย เอาชนะ “คู่แข่ง” อย่างเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ ในวันที่ประเทศยังพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักแต่ไทยจะแข่งอย่างไรหากไม่มี “เดสทิเนชัน” อื่นๆ ต่างชาติจะมาดูวัดพระแก้วเป็นครั้งที่สองหรือไม่ นักท่องเที่ยวแต่ละชนชาติมีความสนใจเฉพาะตัวอย่างไร นี่คือสิ่งที่ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ตั้งสมการและทำการถอดสลักออกมาทีละชั้น

“คู่แข่งเราเปิดกันถึงเช้าหมด “บาหลี” ก็เปิดถึงเช้าแล้วใครจะมาประเทศเรา ตอนนี้เราสู้จีน สู้เวียดนามไม่ไหว เราต้องทำสิ่งที่มีมูลค่าแล้วคนเหล่านี้ “ยิ่งดึกยิ่งจ่าย” ทำไมเราไม่มีกลยุทธ์ตรงนี้ เกาหลีชนะญี่ปุ่นได้เพราะเขาสร้างวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพลงและอาหารขึ้นมา นี่คือกลยุทธ์ จริงๆ เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซียก็ทำเหมือนกัน เรียกว่า “Integrated Entertainment” ไปดู “ดูไบ” เมื่อ 10-20 ปีก่อนไม่มีอะไรเลย มีทะเลทรายอย่างเดียว วันนี้ถามว่าใครรวยสุด เขามีประชากรแค่ 2 ล้านคน ประเทศไทยทำได้แต่ต้องกล้าเป็น ต่างชาติมาเที่ยวไทย 3 วันเทรนด์เขาเปลี่ยนอีกแล้ว กำลังซื้อเขาเปลี่ยนทุก 3 วัน”

“ศุภลักษณ์” ให้ความเห็นว่า เวลาต่างชาติมาไทยเขามองหาที่พักดีๆ ระดับห้าดาว ต้องการสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งช้อปปิ้ง แต่พอ 3-4 ทุ่ม ร้านอาหาร-สถานที่ท่องเที่ยวเราปิดหมดแล้ว แหล่งแฮงค์เอาต์พอเที่ยงคืนก็ปิด หากมีสถานที่ที่ไม่หลับใหลไม่เพียงจะเข้าไปแก้โจทย์นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังสร้างเม็ดเงินให้กับกลุ่มคนทำงาน พ่อค้าแม่ขายที่มีในกรุงเทพฯ ราว 10 ล้านคน หากทำได้จะสร้าง “Chain Value” ได้อีกมหาศาล

เธอระบุว่า โจทย์ของ “เอ็ม ดิสทริค” คือการสร้างย่านการค้าแห่งใหม่ที่รวบรวมทั้งธุรกิจ ค้าขาย ที่อยู่อาศัย โรงแรม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ในยุคนี้ทั้งยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย เพราะคัมภีร์ความสำเร็จของ “ศุภลักษณ์” ไม่ใช่เพื่อองค์กรอย่างเดียว แต่ต้องคิดมาอย่างครบถ้วนถึงการทำโครงการที่ “Meaningful” ต่อทุกคนในระยะยาว

กางแผนปั้น ‘ย่านการค้าระดับโลก‘ ใต้ปีก ศุภลักษณ์ อัมพุช ปักธงทำสิ่งที่ไม่มีใครทำ! -ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป-

  • ในเมืองมี “EmDistrict” นอกเมืองมี “Bangkok Mall”

พื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร ด้วยงบลงทุนอีก 15,000 ล้านบาท ยังไม่พอ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ขอสร้างอาณาจักรแบบ “ดักหัวดักท้าย” ถ้าในเมืองมี “ดิ เอ็มดิสทริค” โซนกรุงเทพฯ ตะวันออกก็มี “แบงค็อก มอลล์” หนึ่งใน “โร้ดแม็ป” ปูพรมสู่ “Integrated Entertainment” ตอกย้ำเส้นทางธุรกิจที่หลังจากนี้ขอทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ

“ศุภลักษณ์” ระบุว่า ไอเดียของ “แบงค็อก มอลล์” คือการสร้างการค้าขายที่มี “Creativity” คนไทยมีสิ่งนี้ แต่จะฉายออกมาไม่ได้หากไม่มีพื้นที่ให้เขาละเลงความคิด พื้นที่ 1.2 ล้านตารางเมตร งบลงทุนอีก 50,000 ล้านบาทสามารถให้สิ่งนี้กับผู้ค้าได้ “แบงค็อก มอลล์” จะเป็นศูนย์การค้าที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) จำนวนมาก ผสมผสานการขายแบบ “O2O” (Online-to-Offline) ร่วมด้วย เพื่อให้ที่นี่เป็นห้างฯ ของคนไทยเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม แม่ทัพใหญ่แห่ง “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” เพิ่มเติมถึงประเด็นของคู่แข่งในสนามค้าปลีกที่หันไปตะครุบ “ค้าส่ง” กันอย่างคึกคักว่า ตนมีแผนจะเข้าไปชิงเค้กค้าส่ง-ตลาดอาหารด้วยหรือไม่ เธอให้คำตอบว่า จะไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นทำแล้ว ขอทำอะไรที่มีความหมาย สร้างประโยชน์ และช่วยขับเคลื่อนประเทศ เสริม “Synergy” ที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีกได้ สิ่งไหนที่คนอื่นทำแล้วตนไม่ขอทำซ้ำ

“เรากำลังทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ เราจะไปแย่งเขาทำไมเขามีอยู่แล้ว ถ้าเราไปใส่ในตลาดเพิ่มมันไม่มีประโยชน์อะไร สู้ทำอะไรที่ “Meaningful” ที่คนอื่นเขาไม่ทำแล้วช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติเศรษฐกิจดีกว่า ของเดิมมีอยู่แล้วไปแย่งกันไม่มีประโยชน์ เราจะทำเรื่อง “มิวสิค เฟสติวัล” ทำเรื่องที่ไม่มีใครสร้าง ทั้ง “EM Live” และ “Bangkok Arena” ถามว่า สิ่งเหล่านี้ทำแล้วคุ้มหรือไม่ ไม่คุ้มหรอกแต่มันช่วยดึงคนเข้าประเทศ ถ้าเราจัดคอนเสิร์ตแล้ว “มาดอนนา” มาได้คนจะมาขนาดไหน ต้องทำให้เราเป็นที่ที่สนุก เป็น Integrated Entertainment”