มาช้า แต่มานะ! ‘ทัวร์จีน’ โหมโปรโมต ‘วีซ่าฟรี’ จ่อคัมแบ็กเที่ยวไทย พ.ย. 66

มาช้า แต่มานะ!  ‘ทัวร์จีน’ โหมโปรโมต ‘วีซ่าฟรี’ จ่อคัมแบ็กเที่ยวไทย พ.ย. 66

ตลาด ‘นักท่องเที่ยวจีน’ เด้งรับปัจจัยหนุน! นับตั้งแต่รัฐบาลคิกออฟมาตรการ ‘ยกเว้นการขอวีซ่า’ หรือ ‘วีซ่าฟรี’ เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว ให้แก่ชาวจีนและคาซัคสถานไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย เริ่มวันแรกเมื่อ 25 ก.ย. 2566 ระยะเวลากว่า 5 เดือน สิ้นสุดวันที่ 29 ก.พ. 2567

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (Free Independent Traveler: FIT) ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันกว่า 80-90% ที่เดินทางเข้าประเทศไทย เลือกมาขอวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) อยู่แล้ว

แล้วตลาด “กรุ๊ปทัวร์จีน” หายไปไหน?

ภาพนักท่องเที่ยวจีนที่มีคนถือธงนำกลุ่ม... จะยังเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยจำนวนมากเหมือนยุคก่อนโควิด-19 หรือไม่?

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เล่าว่า การกลับมาของตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนยังต้องใช้เวลาอีกนิด ตอนนี้เริ่มมีบ้างแล้ว แต่ยังไม่หวือหวา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางเพื่อเป็นรางวัล หรือ “อินเซนทีฟทัวร์” ของบริษัทต่างๆ เช่น บริษัทขายตรง มากกว่ากลุ่ม “ซีรีส์ทัวร์” ที่แม้จะเริ่มขายแพ็กเกจทัวร์กันแล้ว แต่ผลตอบรับยังไม่ดีนัก

แอตต้ามองว่ามาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ “วีซ่า-ฟรี” ระยะเวลาประมาณ 5 เดือนดังกล่าว แม้จะทำให้ตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนกลับมาเหมือนปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดไม่ได้ แต่ก็เป็นแรงผลักดันสำคัญ ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทัวร์ฝั่งจีนกลับมาทำการขายอย่างคึกคักอีกครั้ง เร่งเครื่องโหมโปรโมตมากขึ้น!

“กรุ๊ปทัวร์จีนน่าจะเริ่มกลับมาเที่ยวไทยชัดขึ้นในเดือน พ.ย. 2566 และดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงโกลเด้นวีคหยุดยาวเทศกาลตรุษจีนปี 2567”

หลังจากนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 24 ก.ย. 2566 มีจำนวนสะสม 2.4 ล้านคน ซึ่งแอตต้าประเมินว่ามีสัดส่วนตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนไม่ถึง 10%

ศิษฎิวัชร เล่าว่า ที่ผ่านมาภาคท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจาก “ข่าวลือเชิงลบ” ที่มีต่อประเทศไทยแพร่กระจายในโซเชียลมีเดียจีนเรื่อง “ความไม่ปลอดภัย” แต่ตอนนี้สามารถสื่อสารถึงลูกค้านักท่องเที่ยวเป็นเสียงเดียวกันว่า

“เที่ยวไทยปลอดภัย สะดวกสบาย และมีมาตรการวีซ่า-ฟรี”

“เที่ยวอย่างสบายใจ เที่ยวอย่างปลอดภัย คือข้อความโฆษณาที่ผู้ประกอบการทัวร์จีนใช้สื่อสารการตลาด เพราะก่อนหน้านี้มีความสับสนว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยหรือไม่ จากประเด็นข่าวลือเชิงลบต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย เมื่อรัฐบาลไทยออกมาตรการวีซ่า-ฟรีแล้ว ก็จำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวจีนกล้าเดินทาง”

และตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางไปเยือนประเทศจีน ระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค. 2566 ทางแอตต้าคาดหวังว่านายกฯ เศรษฐา จะเข้าหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เรื่องผลักดันการท่องเที่ยวร่วมกัน พร้อมย้ำความปลอดภัย อย่างที่นายกฯ บอกว่า เที่ยวไทยปลอดภัยตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้าย กลับไปพร้อมความประทับใจ รวมถึงชูความสะดวกสบายระหว่างท่องเที่ยว และมาตรการวีซ่า-ฟรี ที่เอื้อต่อการตัดสินใจของชาวจีนให้เดินทางมาเที่ยวไทยง่ายขึ้น

อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการ แอตต้า กล่าวเสริมถึงประเด็นความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยว่า นอกจากข่าวลือเชิงลบแล้ว ล่าสุดภาพยนตร์เรื่องดังของจีน 2 เรื่อง ยังส่งผลต่อทัศนคติชาวจีนที่มีต่อจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค “อาเซียน” อีกด้วย!

เนื้อหาของภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง พูดถึงคดีอาชญากรรมในอาเซียน โดยเรื่องแรก “Lost in The Star” ชื่อภาษาไทยคือ เมียผมหายในหมู่ดาว สร้างรายได้กว่า 3,500 ล้านหยวน เรื่องที่สองคือ “No More Bets” สร้างรายได้กว่า 3,700 ล้านหยวน

นอกจากนี้ อดิษฐ์ เล่าถึงผลวิจัยจากสภาวิจัยท่องเที่ยวจีนด้วยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศแล้ว 40.37 ล้านคน เลือกเดินทางมาไทยสัดส่วน 3.29% ของทั้งหมด ยังน้อยกว่าเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยสัดส่วน 6.4% หรือคิดเป็น 10 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศทั้งหมด 155 ล้านคน

“ถ้าช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ ประเทศไทยสามารถชิงส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเป็น 6.4% จากปัจจัยหนุนการดำเนินมาตรการวีซ่า-ฟรี ซึ่งคาดว่าตลอดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศกว่า 95 ล้านคน”

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังระบุถึงเทรนด์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนว่าปัจจุบันเปลี่ยนไป จากปี 1999 ที่ชาวจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับกิจกรรมและธรรมชาติ จากเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 5 ครั้ง วัตถุประสงค์สำคัญคือเน้นทานอาหารอร่อยและสะอาด

“สภาวิจัยท่องเที่ยวจีนระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารมากขึ้น โดยกว่า 92.3% ของนักท่องเที่ยวจีนจะหาข้อมูลเรื่องอาหารก่อนออกเดินทาง ขณะที่ 93.1% จะต้องไปชิมอาหารอร่อยในพื้นที่ และ 76.8% ของนักเดินทางเพื่อธุรกิจ จะต้องใช้เวลาช่วงก่อนหรือหลังงานธุรกิจเพื่อไปหาของอร่อยทาน”