‘โอสถสภา’มุ่งเป้าเน็ตซีโร่ปี 2608 ผนึกพันธมิตรเคลื่อนยุทธศาสตร์ยั่งยืน

‘โอสถสภา’มุ่งเป้าเน็ตซีโร่ปี 2608 ผนึกพันธมิตรเคลื่อนยุทธศาสตร์ยั่งยืน

โอสถสภา วางโรดแมป "ยุทธศาสตร์ความยั่งยืน" มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2593 สู่เน็ตซีโร่ ปี 2608 เดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พลังงาน พัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ พร้อมปลุกพันธมิตร คู่ค้า ตื่นตัวรับเมกะเทรนด์สร้างห่วงโซ่อุปทานยั่งยืน หนุนสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change คือตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้างหลากมิติ ทำให้นานาประเทศหาทางลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม และอีกด้านคือการกำหนดกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจหรือภาคเอกชน วางนโยบายขับเคลื่อนประเทศ ดำเนินธุรกิจเพื่อส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีธรรมาภิบาลที่ดี หรือ ESG และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกอบกู้และรักษาโลกให้มีความยั่งยืนแก่คนรุ่นหลัง

ทั้งนี้ หนึ่งในพันธกิจใหญ่ที่โลกเห็นพ้องร่วมกันคือการทำความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ที่มีเป้าหมายสำคัญคือการหาทางจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

สำหรับประเทศไทย มีกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเวทีโลก โดยเป้าหมายสำคัญคือการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 สอดรับกับวาระการประชุมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลตามที่ตั้งไว้

‘โอสถสภา’มุ่งเป้าเน็ตซีโร่ปี 2608 ผนึกพันธมิตรเคลื่อนยุทธศาสตร์ยั่งยืน โอสถสภาผนึกภาครัฐ ตลท. เอสเอ็มอี องค์กรมหาชน ฯ เสวนา "Sustainability Dialogue : Mission to Carbon Neutral"

ขณะที่ภาคเอกชนไทยจำนวนมาก รวมถึง “โอสถสภา” เป็นอีกองค์กรตื่นตัวและให้ความสำคัญในการนำแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนมาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของ “วิสัยทัศน์” ขององค์กร พร้อมปลุกพลังพนักงานทุกระดับ ตลอดจนผู้บริหารในการมุ่งดำเนินงานเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้ผลลัพธ์เกิดแรงกระเพื่อมมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ “Sustainability Dialogue : Mission to Carbon Neutral” พร้อมผสานพลังกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมสรรพสามิต ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ตลอดจนองค์กรมหาชน เพื่อแบ่งปันนโยบายด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ ข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนความร่วมมือที่จะนำไปสู่โอกาสในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ สานเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยภาพรวมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  โลกกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ทุกปี และก่อให้เกิดความเสียหาายทั่วโลก สถานการณ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นวาระใหญ่ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญในการหาทางสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก รวมถึงโอสถสภาที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อโลกใบนี้มากขึ้น

‘โอสถสภา’มุ่งเป้าเน็ตซีโร่ปี 2608 ผนึกพันธมิตรเคลื่อนยุทธศาสตร์ยั่งยืน

วรรณิภา ภักดีบุตร

ทั้งนี้ โอสถสภาได้ประกาศภารกิจสำคัญ ตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับแผนการดำเนินธุรกิจ และการรวมพลังหน่วยงานภาครัฐ พันธมิตรคู่ค้าในห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชน ตลอดจนองค์กรมามหาชน มาร่วมกันสานเป้าหมายด้านความยั่งยืน ด้วยเชื่อว่าทุกคนสามารถทำหน้าที่ของตนเองให้ดีสุดในด้านความยั่งยืน

  • ปรับแนวคิดเดินหน้าสู่ความยั่งยืน

สำหรับโอสถสภาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาหลายปี โดยมีการนำประเด็นดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์องค์กร รวมถึงปี 2562 ได้มีการกำหนดกรอบทำงาน วางโครงสร้าง กรอบการทำงาน ตลอดจนปรับวิธีคิดหรือ Mindset ของพนักงาน ตลอดจนผู้บริหารให้มีความพร้อมในการมุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรที่จะเสริมสร้างชีวิตให้กับผู้บริโภคและสังคม โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย มุ่งเน้นการบริหารจัดการที่นำไปสู่ความสำเร็จ และยึดหลักการดำเนินธุรกิจควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ปี 2562 โอสถสภาได้เริ่มวางโร้ดแมปด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งที่เราทำแรกๆ เป็นการเรียนรู้หรือเรียกว่าคลำทางอยู่ซักพัก เพราะขณะนั้นไม่แน่ใจวิถีที่จะไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อเราเริ่มต้นแล้ว ทำให้สามารถเดินต่อไป เราเริ่มทำแผนพัฒนาธุรกิจ กำหนดกรอบพื้นฐานให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุม 3 ด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่เราเชื่อตั้งแต่แรกในการทำงาน โดยเราจะทำภารกิจนี้ให้เกิดไม่ได้ หากไม่มีพนักงาน ซึ่งวันนี้พนักงานพร้อมจะเพิ่มระดับความท้าทายมากขึ้น เพื่อจะดำเนินกรอบและสานเป้าหมายในอนาคตต่อไป”

‘โอสถสภา’มุ่งเป้าเน็ตซีโร่ปี 2608 ผนึกพันธมิตรเคลื่อนยุทธศาสตร์ยั่งยืน สำหรับกรอบการทำงานเพื่อพัฒนาธุรกิจ โอสถสภากำหนดไว้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ธุรกิจต้องสร้างผลกระทบโดยสร้างกำไรควบคู่การมีธรรมาภิบาล 2.ธุรกิจต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม และ3.การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยยืนยันว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่สามารถทำได้ หากพนักงานไม่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆร่วมกันเสมอมา

  • วาง5ยุทธศาสตร์เคลื่อนธุรกิจคู่ยั่งยืน

นอกจากนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่โอสถสภาโฟกัสมี 5 ด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2568 ประกอบด้วย 1.ด้านห่วงโซ่อุปทานยั่งยืน เนื่องจากบริษัทมีคู่ค้า พันธมิตร ซัพพลายเออร์จำนวนมาก จึงต้องมีการทำงานร่วมกันเพื่อความยั่งยืน โดยพันธกิจนี้ โอสถสภามุ่งไปที่การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจกับคู่ค้ารายย่อย จำนวน 450 ราย การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้จัดหาวัตถุดิบท้องถิ่น 500 ราย และ 100% ของคู่ค้ารายสำคัญได้รับการประเมินครอบคลุม 3 ด้าน คือสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) หรือตามหลัก ESG ด้วย

‘โอสถสภา’มุ่งเป้าเน็ตซีโร่ปี 2608 ผนึกพันธมิตรเคลื่อนยุทธศาสตร์ยั่งยืน ทีมงาน-ผู้บริหารโอสถสภา

2.ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค ไม่นโยบายภาษีความหวานหรือภาษีน้ำตาลจากภาครัฐจะเป็นอย่างไร โอสถสภาจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ปัจจุบัน 100% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในพอร์ตโฟลิโอ จะมีส่วนประกอบของน้ำตาลลดน้อยลง และ 50% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและลูกอมจะเป็นสูตรปราศจากน้ำตาล

3.ด้านการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย 100% ของบรรจุภัณฑ์จะต้องนำไปรีไซเคิล ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ภายในปี พ.ศ.2573 4.ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากโอสถสภาผลิตเครื่องดื่มและมีการใช้น้ำปริมาณมาก จึงตั้งเป้าใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลดลง 40% และ5.ด้านการจัดการพลังงานและการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทจะลดปริมาณพลังงานที่ใช้ในโรงงาน 10% และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต 15% พร้อมตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 30% ภายในปี พ.ศ.2573

  • ลุยโปรดักต์อินโนเวชั่น-คุณภาพความปลอดภัย

นอกจากนี้ โอสถสภา ได้เพิ่ม 2 ประเด็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2573 คือการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ โปรดักท์ อินโนเวชั่นและการจัดการคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อความยั่งยืน

‘โอสถสภา’มุ่งเป้าเน็ตซีโร่ปี 2608 ผนึกพันธมิตรเคลื่อนยุทธศาสตร์ยั่งยืน แผนดังกล่าวยังสานเป้าหมายระยะยาวมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ.2593 ซึ่งยังมี 3 กลยุทธ์รองรับ ได้แก่ 1.เปลี่ยนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า(Fuel Switching)2.มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ(Low-Carbon Operation) และ3.ชดเชยคาร์บอนส่วนเกิน(Carbon Offsetting)

“โอสถสภาเราเริ่มจากร้านขายยาเล็กๆ ในปี 1891 เราเติบโตคู่กับสังคมไทยมาตลอด 132 ปี จากร้านขายยา ขยายสู่เครื่องดื่ม และสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล ตลอดเวลากว่าร้อยปี เราให้ความสำคัญในการดูแลพัฒนาสินค้าให้กับผู้บริโภคชาวไทย พร้อมดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเรา”