5 ธุรกิจที่เคย ‘รุ่ง’ แต่มา ‘ร่วง’ ที่ไทย

5 ธุรกิจที่เคย ‘รุ่ง’ แต่มา ‘ร่วง’ ที่ไทย

เกิดที่อื่นแต่มา “ดับ” ที่ไทย! “5 ธุรกิจ” เคยได้รับความนิยมสุดขีด “การ์ดิเนีย-คาร์ลซ จูเนียร์-โรตีบอย-เอแอนด์ดับบลิว-บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ด้าน “การ์ดิเนีย” เผชิญพิษเศรษฐกิจซับไพรม์ ปัจจุบันยังมีร้านค้าพรีออเดอร์-นำเข้าขนมปัง “อร่อยแท้ๆ แม้ไม่ทาอะไร”

Key Points:

  • ธุรกิจที่เคยสร้างความสำเร็จในประเทศบ้านเกิด ไม่อาจการันตีได้ว่า จะประสบความสำเร็จในต่างแดน “5 ธุรกิจที่เคยรุ่ง” ประกาศปิดกิจการในไทยถาวร หลายแห่งมีอายุนานหลายทศวรรษแต่เมื่อเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสมก็ไม่อาจไปต่อได้
  • “คาร์ลซ จูเนียร์” “เอแอนด์ดับบลิว” และ “บาสกิ้นส์ ร็อบบิ้นส์” ปิดตัวลงด้วยสาเหตุคล้ายกัน คือ ประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยเฉพาะการระบาดใหญ่โควิด-19 ที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวเร่ง” กระทั่งในปี 2565 ธุรกิจเหล่านี้ก็มีอันต้องโบกมือลาถาวร
  • ส่วน “โรตีบอย” ธุรกิจที่เคยรุ่งแต่มีอายุสั้นกว่าเชนอื่นๆ เนื่องจากขาดเอกลักษณ์ ไม่สามารถสร้าง “Brand Loyalty” ให้กับกลุ่มผู้บริโภคได้ ทั้งยังถูกจู่โจมด้วย “เกมราคา” จากร้านเบเกอรีในไทยอีกด้วย

 
ปี 2565 “เอแอนด์ดับบลิว” (A&W) ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังสัญชาติเมริกันที่เข้ามาประเดิมสาขาแรกในไทยตั้งแต่ปี 2526 ตัดสินใจปิดตัวลงถาวร เวลา 39 ปีเต็มนับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานจนไม่อาจจินตนาการได้ว่า วันหนึ่งแบรนด์ดังที่มี “รูทเบียร์” และ “วาฟเฟิล” เป็นเมนูโปรดของใครหลายคนจะต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย
 
ทว่า ในปีเดียวกันนั้นก็ยังมีฟาสต์ฟู้ดอเมริกันอีกเจ้าอย่าง “คาร์ลซ จูเนียร์” (Carl’s Jr.) ประกาศปิดตัวทุกสาขาในไทยเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า กิจการขาดทุนต่อเนื่องจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนไหว ซึ่งก่อนหน้าที่ทั้งคู่จะเก็บข้าวของโบกมือลาไปอย่างไม่มีวันกลับ ร้านเชนชื่อดังหลายแห่งที่เคยสร้างตำนานความสำเร็จในประเทศอื่นๆ ก็เคยลงท้ายด้วยการประกาศปิดกิจการไปก่อนหน้าด้วย

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมแบรนด์ดังที่เคยรุ่งเรืองที่อื่นแต่กลับมา “ดับ” ที่ไทย อะไรทำให้แบรนด์เหล่านี้ประสบความสำเร็จในประเทศอื่นๆ มากมาย แต่กลับต้องปิดตัว-พ่ายแพ้ให้ตลาดบ้านเราไปเสียอย่างนั้น

  • การ์ดิเนีย (Gardenia)

ขนมปังหอมเนยเจ้าของสโลแกน “อร่อยแท้ๆ แม้ไม่ทาอะไร” เข้ามาเปิดทำการในไทยเมื่อปี 2530 จุดเด่นของขนมปังการ์ดิเนีย คือ มีรสชาติให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่บัตเตอร์สก็อต นมฮอกไกโด โฮลวีตแผ่นบาง โฮลวีตผสมกล้วย ลูกเกด ช็อกโกแลต ราสเบอร์รี มะพร้าวใบเตย ฯลฯ ด้วยรสชาติความหอมอร่อยแปลกใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงขนมปังแผ่นเปล่าๆ จึงทำให้ “การ์ดิเนีย” ได้รับความนิยมในไทยอย่างรวดเร็ว

ก่อนที่จะเข้ามาบุกตลาดที่นี่ “การ์ดิเนีย” ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2521 ณ ประเทศสิงคโปร์ ที่ตั้งใจออกแบบขนมปังให้มีเนื้อสัมผัสนุ่มนวลกว่าขนมปังเจ้าอื่นในท้องตลาด ด้วยวัตถุดิบที่ดีเยี่ยม การทำการตลาด และการออกแบบโปรดักต์ที่มีสีสันสะดุดตา “การ์ดิเนีย” สามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็วหลังเปิดตัวในประเทศได้เพียง 2 ปีเท่านั้น โดยมีการขยับขยายที่ตั้งโรงงานไปยังประเทศใกล้เคียงหลายแห่ง อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

5 ธุรกิจที่เคย ‘รุ่ง’ แต่มา ‘ร่วง’ ที่ไทย

แม้จะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างไปจากขนมปังอื่นๆ ในท้องตลาด แต่การเดินทางของขนมปังอร่อยแท้ๆ ในไทยก็ต้องสิ้นสุดลงในปี 2550 เมื่อบริษัทประสบกับวิกฤติทางการเงินและสินเชื่อ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วิกฤติซับไพรม์” การ์ดิเนียตัดสินใจปลดพนักงาน ปิดโรงงาน และหยุดประกอบกิจการในไทย นับเป็นอันสิ้นสุดแบรนด์การ์ดิเนียประเทศไทยนับตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบันหากใครยังคิดถึงขนมปังหอมเนยแบบไม่ต้องทาอะไรเลยก็ยังมีช่องทางออนไลน์จัดจำหน่าย โดยมีร้านค้า “รับหิ้ว” จากประเทศใกล้เคียงอย่าง “มาเลเซีย” ข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้ได้ลิ้มรสกัน ที่ผ่านมาเคยมีกระแสข่าวลือหนาหูว่า “การ์ดิเนีย” อาจได้ฤกษ์กลับมาเปิดโรงงานในไทยอีกครั้งจากความเคลื่อนไหวของเพจ “Gardenia Thailand Official” แต่ท้ายที่สุดเพจดังกล่าวก็ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้าจากโรงงานในมาเลเซียเท่านั้น ดับฝันแฟนๆ หลายคนที่คิดถึงขนมปังการ์ดิเนีย

  • คาร์ลซ จูเนียร์ (Carl’s Jr.)

เชนเบอร์เกอร์และฟาสต์ฟู้ดจากสหรัฐเข้ามาเปิดตลาดในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2555 ปักหมุดสาขาแรกที่เมืองท่องเที่ยวอย่าง “พัทยา” จำนวน 2 สาขา ก่อนขยายไปยังสาขาอื่นๆ ในกรุงเทพฯ อีก 4 สาขา รวมทั้งสิ้น 6 สาขาด้วยกัน

5 ธุรกิจที่เคย ‘รุ่ง’ แต่มา ‘ร่วง’ ที่ไทย

แรกเริ่มที่เข้ามาเปิดในไทย “คาร์ลซ จูเนียร์” วางเป้าใหญ่เตรียมปั้นแบรนด์กว่า 25 สาขาภายใน 5 ปี แต่ผลปรากฏว่า ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้านัก โดยเหตุผลหลักๆ อาจมาจากการที่ประเทศไทยมีธุรกิจประเภท “Quick Service Food” หรือ “QSK” ที่แข็งแรงมากๆ ในตลาดอยู่แล้ว โดยเฉพาะ “เบอร์เกอร์” ที่ต้องชนกับเชนใหญ่ทั้ง “แม็คโดนัลด์” “เบอร์เกอร์คิง” “มอสเบอร์เกอร์” เป็นต้น 

คาร์ลซ จูเนียร์ ประเทศไทย ส่อแววระส่ำหนักในช่วงโควิด-19 ที่ต้องปิดหน้าร้านจากการระบาดใหญ่ หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่า ทำเลที่ตั้งของร้านค้ากระทบหนักสุด เพราะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงานเป็นหลัก แม้ว่ายอดการสั่งซื้อเดลิเวอรีจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่ก็ไม่สามารถทดแทนยอดที่หายไปจากการขายหน้าร้านได้ ทำให้ในปี 2565 คาร์ลซ จูเนียร์ ประเทศไทย ตัดสินใจปิดตัวลง แต่ยังดำเนินการในสหรัฐ และมีแฟรนไชส์ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีก 43 ประเทศ

  • โรตีบอย (Roti Boy)

เรียกว่า เป็นแบรนด์ที่มาไวไปไวเจ้าหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะพุ่งแรงอย่างถึงที่สุดในปี 2548 ที่เข้ามาเปิดหน้าร้านในไทยครั้งแรกใจกลางสยามสแควร์ และยังขยายเพิ่มอย่างรวดเร็วอีก 3 สาขา ได้แก่ สาขาสีลม สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว และสาขาบิ๊กซีรามคำแหง ความนิยมของ “โรตีบอย” กลายเป็นที่มาของการรับจ้างต่อคิวรอซื้อเพื่อให้ได้ขนมปังก้อนกลมหอมกาแฟมาลองชิมสักครั้ง โดยเว็บไซต์ “Thai SMEs Center” ระบุว่า ขณะนั้นโรตีบอยมียอดขายสูงสุดกว่า 20,00-30,000 ชิ้นต่อวัน มีการจำกัดการซื้อไม่เกิน 10 ชิ้นต่อคน จากราคาหน้าร้านก้อนละ 25 บาท กลายเป็นสนนราคา “รับหิ้ว” ที่ก้อนละ 30-35 บาท

5 ธุรกิจที่เคย ‘รุ่ง’ แต่มา ‘ร่วง’ ที่ไทย -เครดิตภาพจาก: Tatler Asia-

ขณะนั้นรูปร่างหน้าตาขนมปังแบบโรตีบอยนับเป็น “เรื่องใหม่” ในไทย เพราะยังไม่เคยมีขนมปังก้อนกลมเป็นเอกลักษณ์แบบนี้มาก่อน แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีร้านเบเกอรีในไทยเจ้าอื่นๆ ผลิตขนมปังในรูปแบบเดียวกันออกมาวางจำหน่าย ด้วยรสชาติและราคาที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนักหรืออาจจะย่อมเยากว่าด้วยซ้ำไป กระแสของโรตีบอยจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง

ท้ายที่สุด “โรตีบอย” ต้องโบกมือลาประเทศไทยในปี 2550 เป็นเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้นที่ “โรตีบอย” หรือ “ร็อตตี้บอย” เข้ามาตีตลาดในไทย ซึ่งปัจจุบัน “มาเลเซีย” ประเทศต้นกำเนิดโรตีบอยยังคงเปิดให้บริการอยู่ ส่วนสาขาแฟรนไชส์ในประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์เองก็ได้ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน

  • เอแอนด์ดับบลิว (A&W)

ฟาสต์ฟู้ด “QSR” ที่มีเครื่องดื่ม “รูทเบียร์” เป็นลายเซ็นประจำร้าน เรากำลังพูดถึง “เอแอนด์ดับบลิว” ที่เพิ่งประกาศปิดตัวลงเมื่อปี 2565 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ “คาร์ลซ จูเนียร์” โดยเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัท โกบอล คอนซูมเมอร์ เจ้าของลิขสิทธิ์เอแอนด์ดับบลิวในไทยตัดสินใจยุติกิจการเนื่องจากขาดทุนสะสมติดต่อกันหลายปี ปี 2564 ขาดทุนกว่า 70 ล้านบาท ทั้งยังเจอกับมรสุมโควิด-19 ซ้ำหนักจนทำให้เกิดภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง กระทั่งตัดสินใจประกาศปิดกิจการลงเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เป็นอันสิ้นสุดฟาสต์ฟู้ดอเมริกันอีกราย

5 ธุรกิจที่เคย ‘รุ่ง’ แต่มา ‘ร่วง’ ที่ไทย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการประกาศปิดตัวลง แฟนๆ “เอแอนด์ดับบลิว” ก็ให้ความสนใจและทยอยเข้ามาอุดหนุนร้านค้าอย่างต่อเนื่อง ความน่าสนใจ คือ บริษัทเองก็อาศัยจังหวะ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ทันที มีการจัดโปรโมรชันเพื่อระบายสต๊อก รวมถึงยังออกสินค้ามาสคอตประจำร้านอย่าง “ตุ๊กตาหมีรูทตี้” เพื่อให้แฟนๆ ที่โตมากับร้านได้เก็บสะสมเป็นของที่ระลึกก่อนจากกันด้วย

  • บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ (Baskin Robbins)

ทำเอาแฟนๆ ที่โตมากับไอศกรีมหอมนมเจ้านี้ช็อคไปตามๆ กัน เมื่อมีรายงานข่าวเมื่อช่วงปลายปี 2565 ว่า “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ทยอยปิดสาขาทั่วประเทศเหลือเพียง 4 สาขาเท่านั้น ได้แก่ สาขาโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ สาขาเค วิลเลจ สาขาสยามพารากอน และสาขาเดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ ซึ่งต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2566 ก็พบว่า “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ปิดกิจการทุกสาขาเรียบร้อยแล้ว โดยสาเหตุที่ตัดสินใจถอนทัพจากประเทศไทยก็มาจากสภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่องหลายปี

5 ธุรกิจที่เคย ‘รุ่ง’ แต่มา ‘ร่วง’ ที่ไทย

ข้อมูลผลประกอบการประจำปี “บริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด” ผู้ถือลิขสิทธิ์ประกอบกิจการร้านไอศกรีม “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564 บริษัทขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอด และหากนับย้อนไปไกลกว่านั้นก็จะพบว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา “บาสกิ้นส์ ร็อบบิ้นส์” ขาดทุนรวมกว่า 128 ล้านบาท ทั้งยังไม่มีการทำการตลาดใหม่ๆ เมื่อเทียบกับร้านไอศกรีมเชนในระนาบเดียวกันที่มีการออกโปรดักต์อย่างสม่ำเสมอ เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางของไอศกรีมเก่าแก่จากสหรัฐ

 

อ้างอิง: BangkokbiznewsBangkok PostBK AsiaBrand Inside 1Brand Inside 2Future TrendsInside RetailLongtungirlNation ThailandPositiontingPost TodayPPTVSME Thailand ClubThai SMEs Center 1Thai SMEs Center 2workpointTODAY