อวสาน ‘A&W’ บทเรียน ‘พ่าย’ เกมธุรกิจ ผู้บริโภค บ่นเสียดาย? ตอนอยู่ไม่อุดหนุน!

อวสาน ‘A&W’ บทเรียน ‘พ่าย’ เกมธุรกิจ  ผู้บริโภค บ่นเสียดาย? ตอนอยู่ไม่อุดหนุน!

20 มีนาคม 2565 เป็นวันสุดท้ายที่ร้านเอ แอนด์ ดับบลิว “A&W” ทุกสาขาได้ให้บริการเสิร์ฟความอร่อยของ “รูทเบียร์” และ “วาฟเฟิล” ที่เป็นเอกลักษณ์ หลังจากทำตลาดในไทยมายาวนาน 35 ปี ที่ต้องจับตาต่อคือ "ใคร?" จะเห็นโอกาส เพื่อรับช่วงต่อบริหาร A&W เสริมทัพ สยายปีกธุรกิจร้านอาหาร

ทั้งนี้ การโบกมือลา หรือปิดให้บริการของแบรนด์ “A&W” ทุกสาขา เพราะ บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด(มหาชน)หรือ GLOCON ผู้บริหารร้านในฐานะตัวแทนแฟรนไชส์ (Master Franchise) ต้องแบกขาดทุนราว 70 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ กลับกันเป็นการเผชิญ “ขาดทุนอย่างต่อเนื่องที่ยาวนาน” ซ้ำร้ายกว่านั้น คือเจอโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้สถานการณ์ธุรกิจเข้าขั้น “วิกฤติ” กว่าเดิม จนบริษัทต้องตั้งสำรองสินทรัพย์ สำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการหยุดดำเนินกิจการร่วมๆ 90 ล้านบาท

เพื่อเป็นการ…ห้ามเลือด! ที่สุดแล้วบริษัท เลือกปิดร้าน “A&W” จำนวน 24 สาขา รวมถึง Kithcen Plus 2 สาขา

การยุติกิจการ “แบรนด์” สินค้าและบริการชื่อดังจากต่างประเทศ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แน่นอนว่า “A&W” ไม่ใช่รายแรก แต่เป็นกรณีศึกษาที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อผู้ประกอบการต้อง “พ่ายแพ้” ในเกมการแข่งขัน

ทว่า เมื่อเป็นวันสุดท้ายที่แบรนด์ต่างๆ จะให้บริการ สิ่งที่มักเห็นเป็นภาพคุ้นชินตา คือ “ผู้บริโภคบ่นเสียดาย” แต่ต้องยอมรับว่าเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ธุรกิจไปไม่รอด! เพราะไม่มีลูกค้าเข้าไปใช้บริการ

++ จาก ลิโด้-อิเซตัน-โตคิว-สกาลา ถึง “A&W”

หากย้อนบทเรียนธุรกิจที่ต้องถอนทัพ ออกจากไทย หรือปิดกิจการ มีมากมาย โดยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ข่าวพาดหัวที่เรียกว่าสนใจจากผู้บริโภคได้มากมาย เช่น ปิดตำนานโรงภาพยนตร์ “ลิโด้” ที่ให้บริการมากว่า 5 ทศวรรษ แน่นอนก่อนโบกมืออำลา เพื่อให้บริการในช่วงวันสุดท้าย ผู้บริโภคจำนวนมากเข้าไปใช้ซื้อตั๋วชมภาพยนตร์อิสระหรือหนังอินดี้ หนังต่างประเทศ หนังนอกกระแสแน่นขนัด เทียบตอนที่โรงหนังอยู่แล้ว วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีผู้เข้าชมบางตา นับจำนวนคนได้

เมื่อค่าเช่าแสนแพง สวนทางรายรับ ที่สุด ผู้ประกอบการต้องจำใจปิดโรงภาพยนตร์ลิโด้ เหลือไว้แค่ตำนานโรงหนังใจกลางสยาม

อวสาน ‘A&W’ บทเรียน ‘พ่าย’ เกมธุรกิจ  ผู้บริโภค บ่นเสียดาย? ตอนอยู่ไม่อุดหนุน!

ห้างสรรพสินค้า “อิเซตัน” เป็นธุรกิจค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น ที่เพิ่งปิดตัวไป หลังทำตลาดมานาน 28 ปี โดยยึดพื้นที่ใจกลางกรุง(CBD)ย่านราชประสงค์ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า

การปิดให้บริการส่วนหนึ่งเพราะหมดสัญญาเช่า แต่ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 200 ล้านบาท การรูดม่านปิดฉาก จึงเป็นทางออก และอีกเช่นเคย ก่อนทิ้งทวน ห้างนำสินค้ามาลดกระหน่ำยิ่งกว่าซัมเมอร์เซลล์ ทำให้ผู้บริโภคไปใช้บริการจำนวนมาก เทียบกับตอนที่ยังมีห้าง ลูกค้าไม่ได้เข้าใช้บริการมากนัก บางชั้นเป็นจุดที่ลูกค้า “เดินผ่าน” เท่านั้น ส่วนโซนที่คึกคัก มักจะเป็นโซนอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีสินค้าอาหารญี่ปุ่นให้เลือกสรร

นอจากนี้ ห้างสรรพสินค้า “โตคิว” สาขาเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เป็นอีกบทเรียนการค้าที่อำลาสนามรบค้าปลีกในประเทศไทย หลังให้บริการยาวนาน 35 ปี จากเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการค้าปลีกจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่เข้ามาขอมีพื้นที่เล็กๆ เพื่อแข่งขันกับบิ๊กเนม เจ้าถิ่นค้าปลีกในไทย

ย้อนอดีตไปไกล ประเทศไทยเนื้อหอมพอให้ทุนค้าปลีกญี่ปุ่น เข้ามาทำตลาดหลายแบรนด์ เช่น ห้างไดมารู เปิดให้บริการที่ย่านราชดำริ โตคิว อิเซตัน ซึ่งปิดให้บริการแล้ว ที่ยังคงทำตลาดอยู่ เช่น จัสโก้ ดองกิ และห้างเก่าแก่ 180 ปี อย่าง “ทาคาชิมาย่า” ที่ให้บริการที่ศูนย์การค้าไอคอนสยามในชื่อ “สยาม ทาคาชิมาย่า”

ปลายปีที่แล้ว เป็นคิวของโรงภาพยนตร์ “สกาลา” เลิกกิจการบ้าง หลังจากเปิดให้บริการมา 54 ปี ซึ่งเป็นอีกธุรกิจที่ได้ยินเสียงความ “เสียดาย” จากผู้บริโภค โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมของอาคารที่สวยโดดเด่นอยู่ใจกลางสยามมายาวนาน แต่ที่สุด เกมธุรกิจเมื่อ “อ่อนแอก็แพ้ไป” เป็นสัจธรรม

อวสาน ‘A&W’ บทเรียน ‘พ่าย’ เกมธุรกิจ  ผู้บริโภค บ่นเสียดาย? ตอนอยู่ไม่อุดหนุน! Cr.A&W Thailand

ขณะที่ “A&W” เป็นแบรนด์ร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) ซึ่งตลาดนี้ล้วนมีผู้เล่น “ขาใหญ่” และเป็นแบรนด์ระดับโลก(Global Brand)แย่งชิงขุมทรัพย์กว่า 40,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดเคเอฟซี( KFC) แมคโดนัลด์(McDonald's) เบอร์เกอร์คิง เป็นต้น ซึ่งทุกร้านอยู่ภายใต้อาณาจักรธุรกิจ “ยักษ์ใหญ่” ทั้งสิ้น เคเอฟซี มีทั้งเดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ของไทยเบฟเวอเรจ เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป(ซีอาร์จี) และเรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ บริหารอยู่ ส่วนแมคโดนัลด์ อยู่ภายใต้อาณาจักร “เจ้าพ่อโรงหนัง” อย่าง “วิชา พูลวรลักษณ์” ขณะที่เบอร์เกอร์คิง มียักษ์ใหญ่ “ไมเนอร์ ฟู้ด” ดูแล

หากเทียบความแข็งแกร่ง เริ่มจากแบรนด์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า QSR ร้านอื่นแมสและดัง อีกทั้งจำนวนสาขามีมากกว่า ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เมื่อมี Traffic หรือลูกค้ามาใช้บริการ จึงมีผลต่อยอดขาย

นอกจากนี้ ธุรกิจร้านอาหาร การเติบโตได้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการ “ขยายสาขา” โดยจำนวนร้านที่มากยังทำให้ได้เปรียบเรื่อง Economy of Scale บริหารจัดการต้นทุนดีมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การทำ “กำไร” ด้วย

++จับตา..ใคร? จะมารับช่วงต่อบริหาร “A&W”

ก่อนวิกฤติโควิด-19 มาเยือน ธุรกิจร้านอาหารนั้นช่างเย้ายวนผู้ประกอบการด้วยขนาดตลาดกว่า 400,000 ล้านบาท จากหลากหมวด เช่น QSR ร้านอาหารไทย ญี่ปุ่น จีน ร้านบุฟเฟ่ต์ เป็นต้น และการเติบโตอย่างน้อยล้อไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)

ทั้งนี้ ขาใหญ่ในธุรกิจร้านอาหาร หนีไม่พ้นไมเนอร์ ฟู้ด, ซีอาร์จี, เอ็มเค เรสโตรองส์, เซ็น คอร์ปอเรชั่น และไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งแต่ละรายมีพอร์ตโฟลิโอแบรนด์หลากหลาย สาขาจำนวนมาก ให้บริการผู้บริโภค

สิ่งที่น่าจับตา เข้าสู่ปีที่ 3 ที่ผู้ประกอบร้านอาหารจำนวนมากเผชิญวิกฤติจากโรคระบาด โดยเฉพาะรายกลาง-เล็ก จนส่งสัญญาณ “ปิดตัวลง” ทำให้เป็นโอกาสของ “ยักษ์ใหญ่” ในการเข้าซื้อกิจการ ตลอดจนการร่วมทุน(Joint venture) เกิดขึ้น

สำหรับ “A&W” ในมิติของธุรกิจยังมีความเนื้อหอม ช่วยชื่อชั้นแบรนด์ระดับโลกและเก่าแก่จากสหรัฐ มีฐานลูกค้าอยู่ไม่น้อยในไทย แต่ด้วยจำนวนสาขาที่ไม่มากนัก ทำให้ผู้บริโภคไปใช้บริการได้ยาก แต่กลับกันสาขาใจกลางสยาม ย่านที่ผู้คนพลุกพล่าน ใช่ว่าจะมีคนเข้าไปซื้อสินค้าจนแน่นขนัดจนสร้างยอดขายถล่มทลาย 

ขนาดตลาดที่ “A&W” ขับเคี่ยวอยู่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท หากยักษ์ใหญ่ที่ทุนหนา มองเห็นโอกาส ย่อมพลิกวิกฤติที่ “A&W” ให้เป็นขุมทรัพย์ใหม่ เสริมพอร์ตโฟลิโอ และทำเงินต่อไป

หากมาดูผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ในการเข้าซื้อกิจการบริหารแบรนด์ต่อ เชื่อว่ารายชื่อที่จะเข้าชิง เป็นหน้าเดิม ที่ทุนหนา มีศักยภาพทางการเงิน การขยายสาขา ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าบริษัทเหล่านั้นจะเจรจา เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ร้านอาหารเล็กใหญ่มีปัญหาสภาพคล่อง ขาดกระแสเงินสดกันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ชื่อชั้นที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ที่มีพอร์ทร้านอาหารทั้งโออิชิ เคเอฟซี ในมือ กลุ่มซีอาร์จี มีแบรนด์ดังทั้งเคเอฟซี อานตี้แอนส์ มิสเตอร์ โดนัท ฯ กลุ่มปตท. ที่รุกค้าปลีกมีเท็กซัส ชิคเก้น และโอกะจู๋ ในมือ กลุ่มไมเนอร์ ที่มีทั้งเบอเกอร์คิง เดอะ พิซซ่า คัมปะนี ซิซซ์เล่อร์ ฯ

สำหรับผู้ประกอบการ นี่เป็นอีก “ทางลัด” ในการมีแบรนด์มาเสริมแกร่ง แต่อีกมุม เมื่อเจอปัญหา “A&W” ขาดทุนมายาวนาน การได้สิทธิ์บริหารร้าน ต้องแก้โจทย์กันพอสมควร แต่ที่แน่ๆ ขนาดธุรกิจ "ขาดทุน 70 ล้านบาท" ยังมีผู้สนใจ ส่วนใครจะได้ไปครอบครอง ต้องติดตามต่อ