10 ปี ขาดทุน! กว่า 128 ล้านบาท ‘Baskin Robbins’ ถอนทัพธุรกิจในไทย

10 ปี ขาดทุน! กว่า 128 ล้านบาท  ‘Baskin Robbins’ ถอนทัพธุรกิจในไทย

ไอศกรีมแบรนด์เก่าแก่กว่า 70 ปีจากสหรัฐฯ อย่าง "บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์" พ่ายให้กับสังเวียนธุรกิจในประเทศไทย จนต้องถอยทัพออกไป ขณะที่ 10 ปีการเปลี่ยนแปลงมาอยู่ในมือ "มัดแมน" เผชิญขาดทุนกว่า 128 ล้านบาท และ 26 ปีที่ทำตลาดในไทย มีร้านทิ้งทวนให้บริการลูกค้าน้อยมาก

โบกมือลา "ตลาดไอศกรีมหมื่นล้านบาท” ในประเทศไทยเรียบร้อย สำหรับแบรนด์ระดับโลกจากสหรัฐฯ อย่าง “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์”(Baskin Robbins) ซึ่งปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหาร ขนมหวาน เสริมพอร์ตโฟลิโอให้กับกลุ่มบริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด(มหาชน) ที่มีร้านอาหารแบรนด์ดังในมือมากมาย เช่น ดังกิ้น โดนัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ โอปองแปง กิน+เฮ ฟังกี้ ฟรายส์ เป็นต้น

“บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ยกธงขาว พ่ายให้กับการทำตลาดไอศกรีมในประเทศไทย เหตุผลหลักๆ หนีไม่พ้นการประสบภาวะ “ขาดทุน” กินเวลายาวนาน

หากไปดูผลประกอบการของบริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าไอศกรีมบาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลข “ติดลบ” อย่างต่อเนื่อง หนักมากน้อยแตกต่างกันแต่ละปี

เมื่อรวมเฉพาะ 1 ทศวรรษ หรือราว 10 ปี บริษัทขาดทุนสะสมรวมกว่า 128 ล้านบาท เช่น

ปี 2564 ขาดทุนกว่า 7.42 ล้านบาท

ปี 2563 ขาดทุนกว่า 10.47 ล้านบาท

ปี 2562 ขาดทุนกว่า 10.22 ล้านบาท

ปี 2561 ขาดทุนกว่า 9.8 ล้านบาท

ปี 2560 ขาดทุนกว่า 11.86 ล้านบาท

10 ปี ขาดทุน! กว่า 128 ล้านบาท  ‘Baskin Robbins’ ถอนทัพธุรกิจในไทย ภาพจำ 'บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์' ไอศกรีมจากสหรัฐฯในตลาดเมืองไทย

ขณะที่ “รายได้รวม” ของบริษัท ก็อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ไม่แพ้กัน เพราะจากปี 2560-2562 เคยทำเงินทะลุ 100 ล้านบาทต่อเนื่อง แต่การเผชิญวิกฤติใหญ่อย่างโควิด-19 ระบาด ห้างร้านหยุดให้บริการ ร้านอาหารต้องโดน “ล็อกดาวน์” สาหัสลำดับต้นๆ จึงฉุดผลการดำเนินงานให้ดิ่งลง โดยปี 2563 ทำเงินกว่า 62 ล้านบาท และปี 2564 ยังทรุดลงอีกทำเงินเพียงกว่า 50 ล้านบาทเท่านั้น

ย้อนเส้นทางแบรนด์ระดับโลก “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยราวปี 2539 แต่การสร้างแบรนด์ เปิดร้าน ขยายสาขา ไม่ได้มีความคึกคักมากนัก

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของแบรนด์คือ ปี 2555 “มัดแมน” (ปัจจุบันคือ มัด แอนด์ ฮาวด์)ได้ทำการรับช่วงต่อในการบริหารแบรนด์ “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นมีระยะสัญญาราว 5 ปี แนวทางการทำตลาด ได้อัพเกรดแบรนด์ให้มีความเป็นพรีเมียม สินค้า วัตถุดิบทุกอย่าง ท็อปปิ้ง วิปครีม ฯ ล้วน “นำเข้า” จากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ตามรายงานของ “มัด แอนด์ ฮาวด์” ระบุว่า ร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอของบริษัท จากทุกแบรนด์มีสาขารวมกันราว 576 สาขา แต่ร้านไอศกรีม “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” มีเพียง 10 สาขาเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

10 ปี ขาดทุน! กว่า 128 ล้านบาท  ‘Baskin Robbins’ ถอนทัพธุรกิจในไทย ไอศกรีมหลากรสชาติเคยเสิร์ฟให้ลูกค้าชาวไทย

ส่วนรูปแบบร้านมีทั้งคีออส(Kiosk) พื้นที่ 20-30 ตารางเมตร(ตร.ม.) รองรับแค่เคาน์เตอร์ชำระเงิน และลูกค้านั่งทานในร้านได้ 8-15 ที่นั่ง ส่วนรูปแบบร้านเดี่ยว(Stand-Alone) ขนาดกลางมีพื้นที่ 45-80 ตร.ม รองรับลูกค้า 30-50 ที่นั่ง

จำนวนร้านว่าน้อยแล้วทั่วไทยมีเพียง 10 สาขา มาดูความสามารถในการทำรายได้ ปี 2564 บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ ทำเงินสัดส่วน 1% เท่านั้น ลดลงจากปี 2562-2563 ที่มีสัดส่วน 3%

สำหรับ “มัด แอนด์ ฮาวด์” ถือครองสัญญาการเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์จาก “Baskin Robbins Franchising LLC” ประเทศ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ์หรือแฟรนไชส์ซอว์ หากนับเวลาตั้งแต่บริษัทเข้าไปบริหารกิจการ เรียกว่ามีแต่ “ขาดทุน” เป็นอย่างนี้แล้ว การตัดสินใจถอนทัพธุรกิจออกจากประเทศไทย ถือเป็นการ “ห้ามเลือด” ไม่ให้ไหลหนักไปกว่านี้ 

10 ปี ขาดทุน! กว่า 128 ล้านบาท  ‘Baskin Robbins’ ถอนทัพธุรกิจในไทย ไร้ "บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์" ในพอร์ตโฟลิโอ "มัด แอนด์ ฮาวด์"  

เพราะอาจฉุดภาพรวม “มัด แอนด์ ฮาวด์” ในฐานะเป็นบริษัทด้วย ซึ่งปี 2565 บริษัทำรายได้จากการขายรวม 3,168 ล้านบาท เติบโต 36.8% และกำไรสุทธิ 24.11 ล้านบาท ฟื้นตัวแรงจากปี 2564 ขาดทุน 101 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การโบกมือลาของ "บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์" ยังทำให้แบรนด์ดังกล่าว หายไปจาก "พอร์ต" ของมัด แอนด์ ฮาวด์เรียบร้อยแล้ว