‘Samsung’ จากธุรกิจค้าปลีกทั่วไป สู่ค่ายสมาร์ตโฟนระดับโลก

‘Samsung’ จากธุรกิจค้าปลีกทั่วไป สู่ค่ายสมาร์ตโฟนระดับโลก

ปัจจุบันชื่อของ “Samsung” เป็นที่รู้จักในฐานะค่ายสมาร์ตโฟนยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ที่ตีตลาดได้ทั่วโลก แต่ก่อนที่ Samsung จะมาถึงจุดนี้ได้นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากร้านขายของทั่วไป

Key Points:

  • ไตรมาสแรกของปี 2023 Samsung ก้าวขึ้นเป็นสมาร์ตโฟนสัญชาติเกาหลีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเป็นคู่แข่งสำคัญของสมาร์ตโฟนสัญชาติอเมริกันอย่าง Apple
  • จุดเริ่มต้นของ Samsung นั้น เริ่มมาจากธุรกิจร้านขายของทั่วไป ก่อนจะขยายกิจการไปยังโรงกลั่นน้ำตาล สิ่งทอ ธุรกิจประกันภัย ก่อนจะเข้าสู่แวดวงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
  • ข้อมูลจาก Sammobile ระบุว่าผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2023 Samsung ครองที่หนึ่งของส่วนแบ่งการตลาดแต่ขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าอาจจะขาดทุนหนักที่สุดในรอบ 14 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้ “สมาร์ตโฟน” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะใช้เพื่อการทำงานหรือเพื่อความบันเทิงก็ตาม เนื่องจากมีขนาดเล็ก พกพาง่าย สะดวกต่อการใช้งานไม่แพ้คอมพิวเตอร์ ซึ่งแบรนด์ของสมาร์ตโฟนที่ได้รับความนิยมมีมากมายหลายค่าย จากทั้งฝั่งอเมริกา และเอเชีย เช่น Apple, Xiaomi, Oppo, Vivo, Honor และ Samsung เป็นต้น

ถ้าหากพูดถึงสมาร์ตโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสองอันดับแรกของโลก คงหนีไม่พ้น “Apple” จากสหรัฐอเมริกา และ “Samsung” จากฝั่งเกาหลีใต้ ที่สลับกันขึ้นแท่นสมาร์ตโฟนอันดับหนึ่งของส่วนแบ่งตลาดโลกมาเป็นเวลาหลายปี แต่ความจริงแล้วก่อนที่ Samsung จะโด่งดังในฐานะเจ้าตลาดสมาร์ตโฟนนั้น มีต้นกำเนิดมาจากร้านขายของธรรมดาทั่วไป

‘Samsung’ จากธุรกิจค้าปลีกทั่วไป สู่ค่ายสมาร์ตโฟนระดับโลก

  • ร้านขายของ โรงงาน และหลากหลายธุรกิจ ก่อนจะมาเป็น “Samsung” ผู้นำด้านสมาร์ตโฟน

แม้ว่าในตอนนี้ชื่อของ Samsung (ซัมซุง) จะเป็นที่รู้จักกันในฐานะสมาร์ตโฟนที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อย้อนกลับไป ณ จุดกำเนิดของ Samsung เมื่อปี 1938 นั้น มาจากธุรกิจค้าปลีก จำหน่ายอาหารจำพวกผักสด ผลไม้สด อาหารแห้ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ตั้งอยู่ที่เมืองแดกู ประเทศเกาหลีใต้ เป็นบริษัทที่ค้าขายในประเทศ และส่งออกไปยังจีน ภายใต้ชื่อ Mitsubishi Trading Company หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Samsung Samhoe” โดยมีเจ้าของกิจการ คือ Lee Byung-chul (ลี บย็อง-ช็อล)

‘Samsung’ จากธุรกิจค้าปลีกทั่วไป สู่ค่ายสมาร์ตโฟนระดับโลก

ภาพ Lee Byung-chul ผู้ก่อตั้ง Samsung

ก่อนหน้านี้ในปี 1936 ชายคนนี้เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับรถบรรทุกเพื่อการขนส่ง ซึ่งถือว่าเป็นการก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจครั้งแรกของเขา ด้วยเงินสนับสนุนจากครอบครัว ก่อนที่ในปีต่อมาเขาได้ตัดสินใจขยายธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินไปยังประเทศญี่ปุ่น แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างจีน และญี่ปุ่นขึ้นเสียก่อน เขาจึงหันกลับมาทำธุรกิจค้าปลีก Samsung Samhoe อีกครั้ง

สำหรับความหมายของชื่อ “Samsung” ตามภาษาเกาหลีนั้น สามารถแปลโดยรวมได้ว่า “3 ดาว” เพื่อสื่อว่าเป็นบริษัทที่มีความทรงพลัง มีอายุยืนยาวเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้า

ต่อมาในปี 1939 Lee Byung-chul ได้นำกิจการของตัวเองไปควบรวมกับบริษัทผลิตแอลกอฮอล์โชชอน และได้รวบรวมสมาชิกผู้ที่มีความสนใจในการทำธุรกิจเหมือนกันก่อตั้ง “สมาคมอึลยู” ขึ้นในปี 1945 แม้ว่ากิจการของเขาจะขยายตัว และค่อยๆ ไต่เต้าความสำเร็จไปทีละขั้น จนสามารถย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่เมืองหลวงอย่าง “กรุงโซล” ได้ แต่ในปี 1947 ทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงักเนื่องจากปัญหาสงครามเกาหลี

หลังจากสงครามสิ้นสุดลง เขาก็ได้กลับเข้าสู่แวดวงธุรกิจอีกครั้ง โดยเริ่มจากการสร้างโรงกลั่นน้ำตาลในเมืองปูซาน และจึงต่อยอดไปสู่ธุรกิจสิ่งทอและโรงงานผ้าขนสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และหลังจากนั้นเขาก็ได้กระโดดเข้ามาสู่วงการธุรกิจประกันภัย และธุรกิจหลักทรัพย์อีกด้วย เพราะเขามองว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้เกาหลีใต้ฟื้นตัวจากสงครามและกลับมาเป็นปกติได้

  • เมื่อ Samsung เข้ามาโลดแล่นในโลกของสินค้า “อิเล็กทรอนิกส์”

หลังจากนั้นไม่นาน Lee Byung-chul ได้ต่อยอดความสำเร็จทางธุรกิจของเขาด้วยการเข้าสู่ “อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่สำหรับธุรกิจของเขา

โดยในช่วงยุค 60 ได้มีความร่วมมือเกิดขึ้นระหว่าง Samsung และ Sanyo (ซันโย) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศญี่ปุ่น พวกเขาจับมือกันผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ภายใต้ชื่อกลุ่ม Samsung Electronics Devices และ Samsung Semiconductor & Telecommunications มีโรงงานแห่งแรกอยู่ที่เมืองซูวอน และสินค้าชิ้นแรกที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จก็คือ โทรทัศน์ขาว-ดำ ที่วางจำหน่ายในปี 1970 ก่อนที่จะมีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอื่นๆ ตามออกมามากมาย

เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี Samsung เริ่มหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับการผลิตสินค้าโทรคมนาคมภายใต้กลุ่ม “Samsung Electronics” ทำให้ในปี 1980 สินค้าในกลุ่มดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ วัสดุ หรือ เทคโนโลยีใหม่ๆ และส่งผลให้กลายเป็นเจ้าตลาดสมาร์ตโฟนอย่างในปัจจุบัน

  • อเมริกัน-เกาหลีใต้ คู่แข่งขันสำคัญในตลาดสมาร์ตโฟน

แม้ว่าสมาร์ตโฟนของ Samsung จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Apple” (แอ๊ปเปิ้ล)“ ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ iOS และแม้ว่าจะเริ่มก่อตั้งในปี 1976 แต่ก็สามารถเข้ามาตีตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน

การแข่งขันระหว่าง Samsung และ Apple จากสองซีกโลกถือว่ามีความดุเดือดอยู่ตลอดเวลา และผู้ครองตำแหน่ง “อันดับหนึ่ง” ของตลาดสมาร์ตโฟน มักจะเป็น Apple เสียเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งในช่วงต้นปี 2023 ข้อมูลจาก Sammobile ระบุว่า Samsung ก้าวขึ้นเป็นสมาร์ตโฟนที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกในไตรมาสแรกของปี เบียดชนะแชมป์เก่าอย่าง Apple ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 22% ตามมาด้วย Apple 21% ซึ่งถือว่าต่างกันไม่มากเท่าไรนัก สำหรับสมาร์ตโฟนค่ายอื่นมีส่วนแบ่งดังนี้ Xiaomi 11%, Oppo 10%, Vivo 8% และแบรนด์อื่นๆ รวมกันอีก 28%

‘Samsung’ จากธุรกิจค้าปลีกทั่วไป สู่ค่ายสมาร์ตโฟนระดับโลก ภาพส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ตโฟน ไตรมาสแรก จาก Canalys

ด้านยอดขายสมาร์ตโฟนในประเทศไทยไตรมาสที่ 2 เมื่อปี 2022 มีรายงานจาก Canalys ว่า Samsung สามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับหนึ่ง มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 26% ส่วน Apple อยู่ที่ 8% และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีหลาย ประเทศในอาเซียนที่พบว่า “Samsung” ก็ขึ้นแท่นเป็นสมาร์ตโฟนอันดับหนึ่งที่หลายคนเลือกใช้ เช่น เวียดนาม และ อินโดนีเซีย

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สามาร์ตโฟน Samsung โด่งดังไปทั่วโลก นั่นก็เพราะว่าในซีรีส์เกาเหลีใต้เกือบทุกเรื่อง ผู้ชมมักจะเห็นนักแสดงใช้สมาร์ตโฟนของแบรนด์นี้อยู่เสมอ รวมถึงมีการใช้ศิลปินเกาหลีชื่อดังเป็นพรีเซ็นเตอร์อีกด้วย

‘Samsung’ จากธุรกิจค้าปลีกทั่วไป สู่ค่ายสมาร์ตโฟนระดับโลก ภาพ Blackpink x Samsung จาก Samsung

แม้ว่าสถานการณ์ล่าสุดของ Samsung ในตอนนี้จะเริ่มน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ผลกำไรอาจลดลงประมาณ 6 แสนล้านวอน ในช่วงเดือนเม.ย.- มิ.ย. 2023 จากที่เคยได้กำไร 14.1 ล้านล้านวอน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ในไตรมาส 2/2023 นี้ อาจเป็นช่วงที่ Samsung มีกำไรตกต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา

(อ่านเพิ่ม : ‘ซัมซุง’ คาด กำไร Q2/66 ลดลง 96% ตกต่ำสุดในรอบ 14 ปี)

ในปัจจุบันสมาร์ตโฟนสองค่ายยักษ์ก็ยังคงแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา และเริ่มแตกไลน์สินค้าเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์พกพา นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ หูฟัง และอื่นๆ อีกมากมาย และต้องคอยจับตาดูว่า Samsung เอง จะแก้ไขปัญหาการขาดทุนครั้งใหญ่นี้ได้อย่างไร ซึ่งบริษัทจะเปิดเผยรายละเอียดผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ในวันที่ 27 ก.ค. 2023 ที่จะถึงนี้

อ้างอิงข้อมูล : Canalys (1), Canalys (2)Sammobile, Britannica และ Samsung

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์