ปลดล็อกกฎหมาย 'โรงแรมเล็ก' สทท. คาดดึงเข้าระบบกว่า 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

ปลดล็อกกฎหมาย 'โรงแรมเล็ก' สทท. คาดดึงเข้าระบบกว่า 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

ตามที่ 'กระทรวงมหาดไทย' (มท.) ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลโรงแรมที่พักเพิ่มเติม ซึ่งผ่านการอนุมัติหลักการจาก ครม. แล้วเมื่อเดือน มี.ค.2566 ช่วยปลดล็อกให้ “โรงแรมขนาดเล็ก” สามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เข้าสู่ระบบได้มากยิ่งขึ้น!

มโนสิทธิ์ แจ้งจบ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโรงแรมขนาดเล็ก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ฉายภาพว่า กฎหมายฉบับแรกที่ มท. ปรับปรุงเพิ่มเติมคือ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2566” ประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 สาระสำคัญระบุถึงการขยายระยะเวลาของกฎกระทรวงจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 18 ส.ค. 2567 ไปสิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค. 2568 เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กสามารถยื่นขอ “แบบ อ.4 ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร” เพื่อรีโนเวตหรือแก้ไขดัดแปลงอาคารเก่าที่ก่อสร้างไว้แล้วให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ทัน

โดยอาคารประเภทอื่น เช่น อพาร์ตเมนต์ ห้องแถว และหอพัก (ไม่รวมคอนโดมิเนียม) ที่อยากเปลี่ยนการใช้อาคารมาเป็นโรงแรม (ขายห้องพักแบบรายวัน) จะต้องเป็น “อาคารเก่า” ที่ก่อสร้างก่อนปี 2559 ส่วนอาคารใหม่ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559

ขณะเดียวกัน กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2566 ยังได้ปลดล็อกส่วนที่เคยเป็นอุปสรรคอื่นๆ ด้วยการผ่อนผันให้อาคารที่มีอยู่ก่อนวันที่ 19 ส.ค.2559 ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับที่ว่างของอาคาร ช่องทางเดินในอาคาร ความกว้างของบันได ระยะถอยร่นแนวอาคาร ระยะดิ่งของอาคาร และที่จอดรถ เป็นต้น แต่อาคารที่จะเปลี่ยนการใช้ไปเป็นโรงแรมที่พักดังกล่าวต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและมีระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยและด้านอื่นๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

ส่วนกฎหมายฉบับที่ 2 คือ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ ฉบับปี 2551 ด้วยการเพิ่มหมวด กำหนดให้สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกัน “ไม่เกิน 8 ห้อง” และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมด “ไม่เกิน 30 คน” ขณะนี้รอประกาศทางการในราชกิจจาฯ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการยื่นขอใบอนุญาต สามารถใช้ได้ตลอด

ส่วนกลุ่มที่พักแรมที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น พวกเต็นท์ บ้านต้นไม้ และอื่นๆ ทางกรมการปกครองได้ขอให้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองช่วยออกสเป็กในการควบคุมพวกเต็นท์และบ้านต้นไม้ให้ปลอดภัย แต่ยังอยู่ในขอบเขตเงื่อนไขไม่เกิน 8 ห้อง ผู้เข้าพักรวมกันไม่เกิน 30 คน ด้วยการ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม” มาประกบใช้เป็นแพ็กคู่

มโนสิทธิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี “โรงแรมขนาดเล็ก” ทั่วประเทศไทยรวม 85,000 แห่ง ได้ใบอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมแล้วตามกฎหมายเก่าจำนวน 14,000 แห่ง ส่วนอีก 71,000 แห่งยังไม่ได้ใบอนุญาต

โดยหลังจากมีการปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวเพิ่มเติม คาดว่าจะช่วย “ปลดล็อกโรงแรมขนาดเล็กกว่า 50,000 แห่ง” ซึ่งคิดเป็นจำนวนห้องพักรวมกว่า 2 ล้านห้อง สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้! เพื่อเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้มาตรฐานความปลอดภัย ต้อนรับนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มหนุนสร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างงานไม่ต่ำกว่า 5 แสนตำแหน่ง

“การปรับปรุงกฎหมายใหม่ดังกล่าวถือเป็นการทำคลอดครั้งใหญ่ ที่ผ่านมาโรงแรมขนาดเล็กมีปัญหาเรื่องโครงสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ฝ้าเพดานพัง อะไรพัง แล้วนักท่องเที่ยวจะเข้าพักอย่างไร สมมติโรงแรมเล็กแห่งหนึ่งมี 10 กว่าห้อง แต่เปิดให้บริการได้แค่ 3 ห้องเท่านั้น ต้องกัดฟันนำเงินในกระเป๋ามาซ่อมเท่าที่ทำได้ ทำให้ในช่วงแรกหลังเปิดประเทศ ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เท่าที่ควร เปรียบเสมือนแขกมาเหมือนน้ำไหล แต่เราไม่มีตุ่มจะกักน้ำเอาไว้ได้”

ทั้งนี้การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม จะมี “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” (สสว.) มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการเขียนแบบ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมความพร้อม ช่วยเหลือเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตฯ ใช้ในการประกอบธุรกิจตามกฎหมาย สูงสุดไม่เกิน 80% ตามเงื่อนไข ส่วนผู้ประกอบการออกค่าใช้จ่าย 20%

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญอย่าง “แหล่งเงินทุน” ที่จะนำไปรีโนเวตอาคาร เมื่อมีการปลดล็อกกฎหมาย สามารถนำเอกสารยืนยันว่าอยู่ระหว่างการซ่อมแซมอาคาร ยื่นกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ อย่างล่าสุดได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและโยธาธิการจังหวัดฯ ระบุว่าทางผู้ประกอบการสามารถนำใบ อ.4 มาให้ประทับตรายืนยันว่าผู้ประกอบการเข้ากระบวนการรีโนเวต เช่น ต่อเติมระบบด้านความปลอดภัยและระงับอัคคีภัย ไปยื่นกู้เงินจากสถาบันการเงินได้

มโนสิทธิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ สทท.ได้ทำการวิจัยร่วมกับ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” (TDRI) เกี่ยวกับกฎหมายโรงแรมทั่วโลก พบว่ามีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “ที่พักที่เป็นโรงแรม” กับ “ที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม”

โดยส่วนของกฎหมายโรงแรมของประเทศไทย ที่ผ่านมามีการออก “พรบ. โรงแรม พ.ศ. 2547” เพื่อควบคุม “โรงแรมใหญ่” ที่มีการก่อสร้างจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังภาคการท่องเที่ยวไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่มีกฎหมายควบคุม “โรงแรมเล็ก” ทว่าวันดีคืนดี... มีการสั่งให้ “โรงแรมทุกขนาด” เข้าระบบภายใต้ พรบ.โรงแรม จึงเกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง เหมือนร้านโชว์ห่วยที่ต้องใช้มาตรฐานเดียวกับห้างแม็คโคร!