‘พิธา’ นำทีมก้าวไกล ลงพื้นที่ภูเก็ต 9 มิ.ย. ท่องเที่ยวชงดันรายได้ 4.7 แสนล้าน

‘พิธา’ นำทีมก้าวไกล ลงพื้นที่ภูเก็ต 9 มิ.ย. ท่องเที่ยวชงดันรายได้ 4.7 แสนล้าน

ตามที่ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ระบุว่า เตรียมลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เร็วๆ นี้ ทาง 'สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต' กำลังรอว่าที่ ส.ส. ภูเก็ต ซึ่งได้รับเลือกตั้งยกจังหวัด แจ้งนัดหมายทางการให้ภาคเอกชนภูเก็ตเข้าพบ

เพื่อแลกเปลี่ยนและนำเสนอปัญหากับพิธา หลังจาก “พลังส้ม” ตีป้อมภาคใต้แตก! สร้างปรากฏการณ์ “ก้าวไกลแลนด์สไลด์ภูเก็ต” สำเร็จ

“ภูเก็ต” พึ่งพิงรายได้ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักถึง 90% โดยในปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 ภูเก็ตสามารถทำรายได้การท่องเที่ยวสูงถึง 4.7 แสนล้านบาท จากฐานนักท่องเที่ยวรวม 14 ล้านคน แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 10 ล้านคน สร้างรายได้ 4.2 แสนล้านบาท และชาวไทยอีก 4 ล้านคน สร้างรายได้ 5 หมื่นล้านบาท ภาคเอกชนท่องเที่ยวภูเก็ตจึงจับตาว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวอย่างไร

 

อัปเดตรายงานข่าวล่าสุด :

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แจ้งกำหนดการเตรียมลงพื้นที่ เพื่อปราศรัยขอบคุณประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกล ในวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.  2566

12.00 น. ปราศรัยขอบคุณประชาชน ณ สนามฟุตบอล หน้าอำเภอกะทู้

17.00 น. ปราศรัยขอบคุณประชาชน บนรถแห่ ตลาดนัดชิลล์วา ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต

นอกจากนี้ พิธา มีนัดหมายประชุมพบปะกลุ่มภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา เอกชนอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ณ โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ในวันดังกล่าวด้วย

ธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ข้อเสนอแนะและประเด็นปัญหาภาคการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต ที่สมาคมฯ จะนำเสนอต่อ พิธา และพรรคก้าวไกล มี 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ “ปัญหาระบบขนส่งมวลชน” เช่น ปัญหารถแท็กซี่ ซึ่งเป็น “ปัญหาซ้อนปัญหา” สั่งสมมานานหลายปีนับตั้งแต่ภาคท่องเที่ยวภูเก็ตเริ่มบูม และเป็นปัญหาระดับท้องถิ่นที่กลายเป็นปัญหาระดับโลกเหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะที่ภูเก็ตเท่านั้น อาทิ ไม่กดมิเตอร์ โก่งราคา ขอราคาเหมา เป็นต้น

“แต่ถ้าภูเก็ตอยากเป็น เวิลด์ คลาส เดสติเนชัน (World Class Destination) ก็ต้องเร่งแก้ไขด้วยการยกระดับระบบขนส่งมวลชนภาพรวมของทั้งจังหวัด”

2.ต้องการเห็นรัฐบาลใหม่ให้น้ำหนักและความสำคัญแก่ “ภาคการท่องเที่ยว” จริงๆ ในฐานะ 1 ใน 2 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยร่วมกับภาคการส่งออก ด้วยการผลักดันนโยบายสนับสนุนและงบประมาณโปรโมตภาคการท่องเที่ยวผ่านหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีศักยภาพมากขึ้น พร้อมออกไปแข่งขันกับนานาประเทศ เพราะตอนนี้ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ใช้ภาคท่องเที่ยวเป็น “เครื่องยนต์หลัก” สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศอื่นๆ ก็ให้ความสำคัญเช่นกัน

3.ต้องการให้เร่งโปรโมตตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” โดยเฉพาะการฟื้นตัวของ “เที่ยวบินระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการเดินทางเข้าประเทศไทย คำถามคือวันนี้ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง จะทำอย่างไรให้มีการเพิ่มเที่ยวบินและเพิ่มจุดบินรองรับดีมานด์มากยิ่งขึ้น

4.ต้องการความชัดเจนเรื่องนโยบาย “ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนสิ่งแวดล้อม และต้นทุนพลังงานสะอาด” ว่าจะสนับสนุนภาคเอกชนอย่างไร

5.ต้องการให้สนับสนุน จ.ภูเก็ต ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Expo 2028 Phuket Thailand” ชิงชัยแข่งกับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ เซอร์เบีย สเปน และอาร์เจนตินา ซึ่งจะมีการโหวตและรู้ผลว่าประเทศใดได้เป็นเจ้าภาพในวันที่ 21 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ขอย้ำว่า งานเอ็กซ์โป 2028 ไม่ใช่เรื่องของคนภูเก็ตเพียงจังหวัดเดียว เพราะจริงๆ แล้วประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยในภูมิภาคอาเซียนไม่เคยมีประเทศไหนประมูลสิทธิ์การจัดงานใหญ่ขนาดนี้มาก่อน แม้แต่สิงคโปร์เอง นี่เป็นครั้งแรกของอาเซียน ถ้าภูเก็ตได้รับเลือกให้จัดงานนี้ จะส่งผลดีต่อ “ภูมิศาสตร์” ด้านการเป็นจุดหมายปลายทางของประเทศไทย เปลี่ยนไปใน 2 มิติด้วยกัน จากเดิมมีจุดขายเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สู่มิติ “จุดหมายปลายทางด้านไมซ์” (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) และ “จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” เช่น นำเสนอการแพทย์แผนไทย การกินอยู่แบบไทย ก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางทางสุขภาพ” ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย

และ 6.ต้องการให้รัฐบาลใหม่สร้างสมดุล (Balance) “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ให้ดี เพราะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง “หากบาลานซ์ผิด ชีวิตเปลี่ยน!” ทันที ...นี่คือเรื่องจริง!!!

‘พิธา’ นำทีมก้าวไกล ลงพื้นที่ภูเก็ต 9 มิ.ย. ท่องเที่ยวชงดันรายได้ 4.7 แสนล้าน

 

คาดรายได้ 'ท่องเที่ยวภูเก็ต' ปี 66 ฟื้น 70-80%

นอกจากนี้ สมาคมฯเตรียมอัปเดตถึงสถานการณ์ท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต ให้ พิธา รับทราบด้วย โดยคาดการณ์ว่าตลอดปี 2566 ตลาดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้าภูเก็ต จะฟื้นตัวในเชิงจำนวน 60-70% ของฐานปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 14 ล้านคน และฟื้นตัวในเชิงรายได้ 70-80% ของปี 2562 ซึ่งมีรายได้รวม 4.7 แสนล้านบาท

หลังภาพรวมในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 - มี.ค.2566 เป็นไฮซีซันแรกที่ฟื้นตัวดีขึ้นมากจากวิกฤติโควิด แม้จะยังเทียบไม่ได้ในเชิงปริมาณ กลับมาประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปี 2562 แต่ในการเชิงการจับจ่ายสร้างรายได้ พบว่ากลับมาถึง 60-70%

 

ความหวังโลว์ซีซัน 'จีน' กังวลข่าวลบด้านปลอดภัย

ขณะที่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซัน) ตั้งแต่เดือน เม.ย. จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภูเก็ตไม่ค่อยดีนัก เดิมภาคเอกชนท่องเที่ยวคาดหวังว่าตลาดหลัก “นักท่องเที่ยวจีน” จะเข้ามาช่วยอุดโลว์ซีซันที่ภาพรวมชาวต่างชาติชะลอการเดินทาง หลังจีนเปิดประเทศเมื่อเดือน ม.ค. 2566 แต่จากสถานการณ์ต่างๆ เช่น ยังมีเที่ยวบินตรงจากจีนเข้าภูเก็ตค่อนข้างน้อย เนื่องจากสนามบินภูเก็ตมีการปิดซ่อมบางส่วนในช่วงเวลาที่เที่ยวบินจากจีนนิยมทำการบินเข้ามา โดยจะซ่อมเสร็จและกลับมาเปิดให้บริการวันที่ 1 ก.ค. 2566

นอกจากนี้ยังมี “ข่าวเชิงลบ” เกี่ยวกับประเด็น “ความปลอดภัย” ในประเทศไทย! แชร์กันในโซเชียลมีเดียของจีนว่าประเทศไทยเป็นแหล่งเรียกค่าไถ่บ้าง เป็นแหล่งค้าอวัยวะบ้าง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกังวล เดินทางเข้าไทยน้อยลง จึงอยากให้ภาครัฐเร่งโปรโมตต่อเนื่องว่า “ประเทศไทยปลอดภัย!” รวมถึงปัจจัยเรื่องหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของชาวจีนหมดอายุในช่วงการระบาดของโควิด ยังต้องรอกระบวนการต่ออายุพาสปอร์ต

 

'อินเดีย' เผชิญปัญหาเศรษฐกิจฉุดเดินทาง

ด้านตลาดอื่นๆ เช่น “นักท่องเที่ยวอินเดีย” ที่เป็นความหวังช่วงโลว์ซีซัน พบว่ามีจำนวนลดน้อยถอยลง ด้วยภาวะเศรษฐกิจ และสายการบินก็ลดลง ขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง ภาคเอกชนภูเก็ตกลับมาทำตลาดเชิงรุก เห็นการเติบโตที่ดีจากปี 2562 แต่ก็ต้องยอมรับว่าขนาดฐานไม่ได้ใหญ่มากพอจะมาสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตทั้งหมด

ส่วนตลาด “นักท่องเที่ยวไทย” ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดจากนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติเดินทางเข้าภูเก็ต แต่พอเข้าเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ทำให้คนไทยชะลอการเดินทางไปโดยปริยาย ประกอบกับอาจจะเคยเอ็นจอย (Enjoy) กับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในอดีต เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการทัวร์เที่ยวไทย แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

 

ส.โรงแรมไทยภาคใต้ คาดอัตราเข้าพัก 'ภูเก็ต' ปีนี้ 65-70%

ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวเสริมถึงสถานการณ์โรงแรมที่พักใน จ.ภูเก็ต ว่า ช่วงไตรมาส 1/2566 (ม.ค.-มี.ค.) ซึ่งตรงกับไฮซีซัน มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 86% กระทั่งเข้าเดือน เม.ย. มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 72% ทำให้ตัวเลขช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) อยู่ที่ 82% ขณะที่เดือน พ.ค. คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 60% และเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 50-60% เนื่องจากเข้าสู่โลว์ซีซันเต็มตัว

“สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้คาดว่าตลอดปี 2566 โรงแรมในภูเก็ตจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 65-70% เนื่องจากช่วงโลว์ซีซันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยกว่าก่อนโควิดระบาด โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างนักท่องเที่ยวจีนยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร เป็นความท้าทายหลักของผู้ประกอบการในการทำตลาดช่วงที่เหลือของปีนี้”

สำหรับประมาณการณ์จำนวนโรงแรมและห้องพักใน จ.ภูเก็ต พบว่าโรงแรมที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ (ในระบบ) มีจำนวนประมาณ 900 โรงแรม คิดเป็น 70,000 ห้องพัก และเมื่อรวมโรงแรมทั้งในและนอกระบบ มีจำนวน 3,000 โรงแรม คิดเป็น 200,000 ห้องพัก