'ชไนเดอร์' เน้นโซลูชัน มุ่ง 'ประสิทธิภาพพลังงาน' ขยายดีมานด์สู่ความยั่งยืน

'ชไนเดอร์' เน้นโซลูชัน มุ่ง 'ประสิทธิภาพพลังงาน' ขยายดีมานด์สู่ความยั่งยืน

"ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น" คือเคล็ดลับสู่การแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันก็เป็นหนทางสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่ว่าด้วย "ความยั่งยืน" ซึ่งกำลังเป็นความท้าทายสำหรับทุกคน

คริส ลีออง (Chris Leong) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และคณะกรรมการบริหาร ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดเผยว่า ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ช่วยแก้ปัญหาและความท้าทายต่างๆ ให้ลูกค้า รวมทั้งคู่ค้าทางธุรกิจ เช่น เรื่องข้อตกลง The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) แห่งสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดให้ร่วมกันดูแลอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเหมือนการกำหนดทิศทางการพัฒนา "ความยั่งยืน" สำหรับทุกคน

อย่างไรก็ตาม การพูดถึงเรื่องความยั่งยืนยังเป็นเพียงด้านหนึ่งของเหรียญ นั่นคือ "ด้านการผลิต" ที่มุ่งไปเรื่องของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ไปสู่การใช้พลังงานทดแทน  

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายปี 2050 จะมี พลังงานหมุนเวียน ที่ 50% จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 14% เท่านั้น ทำให้มีภาคธุรกิจเล็งเห็นโอกาสด้านพลังงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ เช่น บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ก็มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยให้ภาครัฐไปสู่เป้าหมาย

\'ชไนเดอร์\' เน้นโซลูชัน มุ่ง \'ประสิทธิภาพพลังงาน\' ขยายดีมานด์สู่ความยั่งยืน

คริส ลีออง เผยต่อว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานดั้งเดิมไปสู่ พลังงานสะอาด เป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ด้านต้นทุน รวมถึงสร้างความคล่องตัวทางธุรกิจ เพราะหลายภาคส่วนกำลังเผชิญปัญหา "ด้านราคาพลังงาน" และ "แหล่งพลังงาน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่แพงสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ที่พักอาศัย การศึกษา และการที่จะตัดส่วนใดออก มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

"ในส่วนของประเทศไทย มีการจัดการที่ดีสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล หรือ Biomass ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกด้านที่เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน เช่น การใช้พลังงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด"

สำหรับประสิทธิภาพพลังงานนั้น ได้มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากโครงการวิจัยและพัฒนาที่จัดการการใช้พลังงานในไร่องุ่น ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานต่อตารางเมตรได้ถึง 90% หรือกรณีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโรงงานหรือธุรกิจค้าปลีก หากมีการจัดการด้านพลังงานที่ดี ก็จะสามารถประหยัดพลังงานไปได้ทันที 30-50% ซึ่งนั่นหมายถึงการลงทุนเพื่อประสิทธิภาพด้านพลังงานมีผลตอบแทนที่ดี

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การใช้เทคโนโลยีสามารถช่วยจัดการพลังงานและประหยัดพลังงาน เมื่อการบริโภคพลังงานน้อยลง ในทางเดียวกันก็เท่ากับปล่อยคาร์บอนน้อยลงด้วย นี่เป็นแนวทางเพื่ออนาคต

คริส ลีออง เผยต่อในเรื่องของเส้นทางในการไปสู่ประสิทธิภาพด้านพลังงาน ประกอบไปด้วย ประการแรกคือ การปฏิรูปสู่ดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ต่างๆ มีส่วนสำคัญ ยกตัวอย่างกรณีศึกษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ที่ดูแลผู้บริโภคถึง 50 ล้านครัวเรือนนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้นำเทคโนโลยี  ADMS : Advanced Distribution Management System มาใช้ ประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้มีหลายด้าน ได้แก่ 1. การรวบรวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้า จะช่วยการจัดการด้านดีมานด์และซัพพลายที่เหมาะสม 2. ความสามารถในจำลองสถานการณ์ที่จะกระทบต่อการจ่ายไฟ เช่น กรณีวิกฤติด้านอากาศ และ 3. กรณีเมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่กระทบต่อการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ทำงานร่วมกันกับ PEA ผ่านระบบการจัดการการใช้ประโยชน์ด้านดิจิทัลดังกล่าว ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ถือว่าเป็นการสนับสนุนการปฏิรูปสู่ดิจิทัล ซึ่ง PEA ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อการจัดการประสิทธิภาพด้านพลังงานนั่นเอง

คำว่า "ประสิทธิภาพ" ยังมีส่วนต่อขยายไปสู่เรื่องการกำจัดคาร์บอน ซึ่งเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้จำนวนมาก เพราะ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถรอได้ และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน

คริส ลีออง เผยต่อไปอีกว่า ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เชื่อว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นปัญหา เพราะตอนนี้เราต้องการปฏิรูปด้านพลังงาน มันอาจฟังดูง่ายสำหรับประเทศร่ำรวย แต่สำหรับประเทศที่ต้องกังวลในเรื่องการศึกษา การแพทย์ และการอยู่รอดนั้น ก็ยังสามารถใช้โซลูชันเหล่านี้ เพื่อการประหยัดและยกระดับการลดคาร์บอนได้ ซึ่งชไนเดอร์ ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหล่านี้และลงมือกระทำให้ทันเวลา เพราะเราเชื่อว่าจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการก้าวสู่ยุคการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เมื่อธุรกิจสามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงลดต้นทุนทางธุรกิจ แต่เป็นการยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการควบคู่กันไป การขับเคลื่อนธุรกิจก็จะดีตามไปด้วย ในตัวอย่างที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด เช่น ถ้าขายของสด แต่ไฟดับ เป็นเหตุให้สินค้าเน่าเสีย ก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายในทันที แต่ในทางกลับกันหากมีการใช้ดิจิทัล เช่น แอปพลิเคชันมาควบคุม และมอนิเตอร์ สิ่งที่ได้ก็คือ ความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งสินค้าสดใหม่ถึงมือลูกค้า ธุรกิจก็เดินหน้าได้

"เป็นธรรมดาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นที่จะต้องมีราคาสูง แต่โดยส่วนตัวมองว่า ราคาคือตัวเลขเท่านั้น แต่สิ่งที่เราต้องดูจริงๆ คือ มูลค่าของสิ่งนั้น ยกตัวอย่าง หากซื้อรถยนต์ราคาถูก แต่ต้องซ่อมทุกเดือน ส่วนอีกคันแพงกว่า แต่ซ่อมปีละครั้ง อะไรคุ้มค่ากว่า ยังไม่ต้องพูดถึงประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่งหากไม่ดี ก็อาจสร้างผลเสียในรูปการเสียโอกาสต่างๆ ด้วย ขอยกตัวอย่าง เทคโนโลยี SF6 Free ของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เราใช้อากาศบริสุทธิ์แทนก๊าซ SF6 ในผลิตภัณฑ์ตู้สวิตช์บอร์ด และสวิตช์เกียร์แรงดันไฟฟ้าปานกลาง (MV Switchboard) ของเรา ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะลดการปล่อยมลพิษได้ ซึ่งตอนนี้เรายังคงมุ่งมั่นมองหาโซลูชันเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมในบริบทของต้นทุนที่เหมาะสมด้วย" คริส ลีออง กล่าวทิ้งท้าย

สถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ กำลังสร้างเงื่อนไข แต่โซลูชันที่มี "ประสิทธิภาพ" จะเป็นการสร้างโอกาสให้ธุรกิจ ซึ่ง "ชไนเดอร์" คือคำตอบของทุกคำถามที่กล่าวมานี้