สิทธิประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่

สิทธิประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (“บีโอไอ”) ได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) อย่างเป็นทางการ ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 8/2565 ลงวันที่ 8 ธ.ค.2565 เพื่อใช้บังคับแทนแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับเดิมที่ใช้บังคับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 - 2565

ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฉบับนี้เริ่มใช้กับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ยื่นขอ ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2566 เป็นต้นไป โดยแผนยุทธศาสตร์ใหม่เน้นแนวคิดหลัก 3 ประการ คือ 1. นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ 2. ความสามารถในการแข่งขัน และ 3. การมีส่วนร่วมเพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศไทย เช่น บีโอไอได้มีการนำเสนอมาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจโดยส่งเสริมให้นักลงทุนที่ลงทุนอยู่เดิมให้ยังคงเลือกประเทศไทยเป็นฐานในการประกอบธุรกิจ

โดยนักลงทุนเหล่านี้อาจได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี หรือได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี หากนักลงทุนดังกล่าวมีการลงทุนใหม่ที่เข้าเงื่อนไขตามที่บีโอไอกำหนด ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับนั้นจะขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ

บีโอไอยังได้มีการนำเสนอกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ให้การส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ ตัวอย่างของประเภทกิจการใหม่ที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุน ได้แก่กิจการการจัดตั้งสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า กิจการการผลิตยานพาหนะพลังงานไฮโดรเจน กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต เป็นต้น นอกจากนี้บีโอไอยังมุ่งสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยประเภทกิจการใหม่ที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนได้แก่ การผลิตไฮโดรเจนจากน้ำโดยใช้พลังงานหมุนเวียน และกิจการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น green ammonia และการผลิตพลังงานไอน้ำจากไฮโดรเจน เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เกี่ยวกับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เช่น ไบโอเทค (Biotech) นาโนเทค (Nanotech) และเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง (Advanced materials tech) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่จำกัดวงเงินภาษีเป็นระยะเวลา 10 ถึง 13 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการของโครงการที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุน

มาตรการย้ายฐานการผลิตแบบครบวงจร เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่บีโอไอมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานธุรกิจมายังประเทศไทย ภายใต้มาตรการนี้ บริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมดังนี้

 1. กรณีดำเนินการกิจการผลิตและได้รับส่งเสริมอยู่เดิม บริษัทจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 5 ปีจากระยะเวลาที่ได้รับจากกิจการผลิตหากบริษัทย้ายสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) และศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research and Development Center) มาดำเนินการในประเทศไทย

2. กรณีบริษัทย้ายฐานการผลิต บริษัทจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปีจากระยะเวลาที่ได้รับจากกิจการผลิต หากบริษัทย้ายฐานการผลิตและศูนย์วิจัยและพัฒนามาดำเนินการในประเทศไทย หรือได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ถึง 5 ปี หากบริษัทย้ายฐานการผลิตและศูนย์วิจัยและพัฒนามายังประเทศไทยโดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจะขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการผลิต

ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะใช้ได้กับรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการผลิตเท่านั้น มาตรการการย้ายฐานการผลิตแบบครบวงจรนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนต่างชาติที่เคยได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตหรือที่มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิต สำนักงานภูมิภาค และ/หรือ ศูนย์วิจัยและพัฒนามาดำเนินการในประเทศไทย

นักลงทุนที่สนใจควรดำเนินการอย่างไร

เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของบีโอไอได้เสนอสิทธิประโยชน์และมาตรการใหม่ที่มีความหลากหลาย จึงขอแนะนำให้นักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพิจารณาบัญชีประเภทกิจการและมาตรการต่างๆ ของบีโอไอเพื่อประเมินกิจการที่ดำเนินการอยู่หรือแผนธุรกิจใหม่ของท่าน ว่าสามารถขอรับสิทธิประโยชน์จากทางบีโอไอได้หรือไม่ 

แม้ว่าการค้นหาสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดกับกิจการอาจไม่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากธุรกิจบางประเภทสามารถเข้าขอบข่ายกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนได้หลายประเภท อีกทั้งโครงการที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั่วไปและเงื่อนไขเฉพาะโครงการที่ทางบีโอไอกำหนดไว้ แต่หากท่านไม่พิจารณาสิทธิประโยชน์ตามแผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ท่านอาจพลาดโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย