"เซ็นทารา" เปิดแผนธุรกิจ 5 ปี รุกขยายอาณาจักรโรงแรมติด Top 100 โลก!

"เซ็นทารา" เปิดแผนธุรกิจ 5 ปี รุกขยายอาณาจักรโรงแรมติด Top 100 โลก!

“เซ็นทารา” หนึ่งในเชนโรงแรมชั้นนำของไทย ภายใต้การดำเนินธุรกิจของตระกูลดัง “จิราธิวัฒน์” ก้าวสู่ความสำเร็จครบรอบ 40 ปีในปี 2566 รุกขยายอาณาจักรโรงแรมในยุคหลังโควิด-19 สู่เป้าหมายใหญ่ ติด “Top 100” ของเชนโรงแรมชั้นนำระดับโลกภายใน 5 ปีนับจากนี้!

ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ฉายภาพว่า ตามเป้าหมายแผน 5 ปี หรือภายในปี 2570 เครือเซ็นทาราจะขยายโรงแรมเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 92 แห่ง มีจำนวนห้องพักรวม 19,348 ห้อง ใน 13 ประเทศ แบ่งเป็น โรงแรมที่ลงทุนเองและร่วมลงทุน 23 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 5,983 ห้อง ส่วนโรงแรมที่รับบริหาร 69 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 13,365 ห้อง ก้าวสู่ 1 ใน 100 เชนโรงแรมชั้นนำระดับโลกภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่อันดับ 150

จากเป้าหมายมีโรงแรมเฉียด 100 แห่ง และมีจำนวนห้องพักรวมเกือบ 20,000 ห้อง นับเป็น “การเติบโต 2 เท่า” เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว 50 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 10,406 ห้อง โดยแบ่งเป็นโรงแรมที่ลงทุนเองและร่วมลงทุน 19 แห่ง คิดเป็น 5,051 ห้อง ส่วนโรงแรมที่รับบริหาร 31 แห่ง คิดเป็น 5,355 ห้อง

เมื่อดูเฉพาะแผนการขยายโรงแรมในปี 2566 เครือเซ็นทาราจะเปิดโรงแรมใหม่ 6 แห่ง ประกอบด้วย 5 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ อุบลราชธานี ขนาด 160 ห้องพัก เปิดให้บริการวันที่ 10 มี.ค., ระยอง ขนาด 200 ห้องพัก เปิดไตรมาส 3, สุราษฎร์ธานี ขนาด 110 ห้องพัก เปิดไตรมาส 3, พระนครศรีอยุธยา ขนาด 224 ห้องพัก เปิดไตรมาส 4 และเกาะสมุย ขนาด 61 ห้องพัก เปิดไตรมาส 3 รวมถึงการลงนามสัญญาบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 5 แห่งในไทยที่สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ กระบี่ และเชียงราย

ส่วนการขยายโรงแรมในต่างประเทศอีก 1 แห่งในปีนี้ เตรียมเปิดให้บริการโรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า” อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค. ขนาด 515 ห้องพัก ความสูง 33 ชั้น ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านนัมบะ ถือเป็นโรงแรมภายใต้เครือเซ็นทาราแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่น ตั้งเป้าช่วงเปิดให้บริการ 6 เดือนแรกมีอัตราเข้าพักราว 60-70% รุกดึงตลาดหลัก เช่น นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยซึ่งยกให้ “ญี่ปุ่น” เป็นจุดหมายอันดับ 1 ในใจของการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ

นอกจากนี้ เซ็นทารายังมีแผนเปิดสำนักงานในหัวเมืองสำคัญอย่างโฮจิมินห์ เซี่ยงไฮ้ และดูไบในปีนี้อีกด้วย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงมีแผนเปิดสำนักงานเพิ่มอีกแห่งที่โอซาก้าในปี 2567 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจในภูมิภาค ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าลงนามสัญญาบริหารโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 10 แห่งในต่างประเทศ จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม และกาตาร์

กลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเซ็นทาราในตลาดต่างประเทศ คือการลงนามสัญญาบริหารเพื่อเปิดให้บริการโรงแรมในประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงการจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำในจีนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นตลาดหลักของเซ็นทารา”

ธีระยุทธ เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจโรงแรมในเครือเซ็นทาราปี 2566 ถือว่า “สดใส” ตั้งเป้าทำรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาทเป็นปีแรก! สูงกว่าปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา โดยคิดเป็นการเติบโต 30-40% เมื่อเทียบกับรายได้โรงแรมปี 2565 ซึ่งปิดที่ราว 6,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมยังต้องเผชิญ “ความท้าทาย” รอบด้าน โดยหวังว่าจะไม่เกิด “การระบาดซ้ำ” ของโควิด-19 และยังต้องจับตา “ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างต่อเนื่อง ว่าจะลุกลามไปมากกว่านี้หรือไม่

รวมถึงปัญหา “เงินเฟ้อ” โดยเฉพาะในยุโรป หลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยว ทำให้ในไตรมาส 1 นี้ซึ่งตรงกับไฮซีซัน ยังไม่เห็นนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรและเยอรมนีติด 5 อันดับแรกของตลาดชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยสูงสุดเหมือนในภาวะปกติ ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่อง “ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น” อาทิ ต้นทุนค่าไฟซึ่งสูงขึ้น 20-30% เทียบกับปี 2562 รวมถึงต้นทุนพนักงานและอื่นๆ ไปลดทอนกำไร EBITDA ปีนี้ลง 3% เทียบกับปี 2562

“เครือเซ็นทาราคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 65-72% และมีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เติบโต 30-37% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 3,250-3,400 บาท การเติบโตของ RevPar มาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น และราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโรงแรมต่างประเทศ เช่น ในมัลดีฟส์ ดูไบ และญี่ปุ่น ที่ราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาห้องพักในประเทศไทย”

กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL กล่าวเสริมว่า ธุรกิจโรงแรมเครือเซ็นทาราวางแผนใช้ “เงินลงทุน” ในช่วง 3 ปีนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2568 อยู่ในช่วงระหว่าง 11,800-19,900 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2566 ระหว่าง 3,400-5,800 ล้านบาท ปี 2567 ระหว่าง 5,600-8,600 ล้านบาท และปี 2568 ระหว่าง 2,800-5,500 ล้านบาท

“ในช่วง 3 ปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโรงแรมใหม่ในมัลดีฟส์ 3 แห่ง บน 3 เกาะ วางกำหนดเปิดให้บริการในปี 2568 หลังต้องชะลอไปในช่วงโควิดระบาด ตอนนี้กลับมาดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ แบรนด์ เซ็นทารา มิราจ (ระดับอัปสเกล) แบรนด์ เซ็นทารา แกรนด์ (ระดับอัปเปอร์ อัปสเกล) และแบรนด์ เซ็นทารา รีเซิร์ฟ (ระดับลักชัวรี) รวมใช้เงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท จากปัจจุบันเครือเซ็นทารามีโรงแรมที่เปิดให้บริการในมัลดีฟส์แล้ว 2 แห่ง”