เจาะยุทธศาสตร์ ‘โลแลน’ ก้าวสู่ปีที่ 40 ทรานส์ฟอร์มแบรนด์ ตอบโจทย์ผู้บริโภค

เจาะยุทธศาสตร์ ‘โลแลน’ ก้าวสู่ปีที่ 40  ทรานส์ฟอร์มแบรนด์ ตอบโจทย์ผู้บริโภค

“โลแลน” ถือเป็นแบรนด์ผลิตดูแลเส้นผมสัญชาติไทยหรือ Local Brand ที่ยืนหนึ่งทำตลาดสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมา 36 ปี และบริษัทยังเดินหน้าเปลี่ยนผ่านแบรนด์หรือ “ทรานส์ฟอร์ม” แบรนด์ให้มีภาพลักษณ์ทันสมัย เจาะคนรุ่นใหม่ เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ด้วย

เอกศาสตร์ สรรพช่าง รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท เอส.ซี. เสรีชัยบิวตี้ จำกัด ฉายภาพกุญแจความสำเร็จของแบรนด์ “โลแลน” คือการเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่มีความครบวงจร ทั้งโรงงานของตนเองที่มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์การดูแลเส้นผม “ชาวไทย” และรู้ใจชาวเอเชียอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์สินค้า มาจากการตั้งโจทย์ เพื่อตอบความต้องการเชิงลึกหรือ Insight ของผู้บริโภค ที่ต้องการให้ “เส้นผมสลวยสวยงาม” พร้อมออกไปเผชิญโลกกว้าง

“โลแลนเคยอยู่ในจุดสูงสุดขึ้นเป็นเบอร์ 1 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ปัจจุบันทรีตเมนท์เป็นเบอร์ 1 มา 7 ปี และติดท็อป 3 ผลิตภัณฑ์ทำสีผม เราคิดเสมอเวลาทำงาน ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้ามีผมสวย เพื่อออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้าง จึงมุ่งพัฒนาสินค้าตอบโจทย์คนไทยและชาวเอเชียโดยเฉพาะ”

หลายปีที่ผ่านมา “โลแลน” ห่างหายการเล่าแผนธุรกิจ ปี 2566 โควิดคลี่คลาย ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมกลับมาคึกคัก แข่งเดือด! อีกครั้ง ทำให้บริษัทเดินเกมเชิงรุก สร้างการเติบโตสู่ปีที่ 40 ด้วย

Pixxel Pro

Pixxel Pro น้องใหม่รุกตลาด B2B ร้านซาลอน

ย้อนอดีตแบรนด์ เริ่มต้นจากผลิตสินค้าเจาะตลาดร้านทำผมหรือร้านซาลอน และร้านขายผลิตภัณฑ์ความงาม(บิวตี้)เป็นหลัก สร้างการเติบโต กระทั่งขยายสู่ฐานผู้บริโภคทั่วไป จนปัจจุบันสร้างสัดส่วนรายได้ถึง 90% แต่ในปี 2566 บริษัทจะรุกตลาดซาลอนอีกครั้ง เพื่อสร้างการเห็นแบรนด์(Brand Visibility)เสริมภาพลักษณ์แบรนด์ต่อคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์หัวหอกนอกจาก “โลแลน” จะมีแบรนด์ใหม่ Pixxel Pro เสริมแกร่ง หลังซุ่มวางแผนออกสู่ตลาดราว 3 ปี

การออกสินค้าใหม่ เติมพอร์ตโฟลิโอ ยังมีต่อเนื่อง ปีนี้จะเห็นราว 44 รายการ(SKU) จากมีอยู่ราว 500-700 รายการ ส่วนตลาดต่างประเทศจะบุกหนัก “แดนมังกร” มีการใช้นักแสดงซีรีส์วายช่วยไลฟ์สร้างแบรนด์ กระตุ้นการขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซจีนอย่าง Taobao ฯ เพื่อสร้างการเติบโตตลาดส่งออก จากปัจจุบันรุกตลาดกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง ฯ

“ปีนี้การออกสินค้าใหม่ไม่มาก เพราะปี 2565 บริษัทเปิดตัวสินค้าใหม่กว่า 150 รายการ สูงสุดในประวัติศาสตร์ เพราะมี Pixxel Pro ที่รุกทำตลาดปลายปีที่แล้ว”

เจาะยุทธศาสตร์ ‘โลแลน’ ก้าวสู่ปีที่ 40  ทรานส์ฟอร์มแบรนด์ ตอบโจทย์ผู้บริโภค พอร์ตโฟลิโอสินค้า "โลแลน"

สำหรับเทรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่น่าสนใจ ผู้บริโภคชาวไทยมีการทำสีผมมากขึ้น และเป็นโทนอ่อน ซึ่งกระแสเกาหลีหรือ K-Pop มีอิทธิพลอย่างมาก ช่วงโควิดการทำสีผมเป็นกิจกรรมผ่อนคลายอย่างหนึ่ง และการทำสีผมเองง่ายขึ้น ไม่ต้องพึ่งซาลอนเท่านั้น

“การปิดผมหงอก” เทรนด์แรงมาคู่ทำสีผม และผู้บริโภคชาวไทยอายุ 30 ปี โดยเฉพาะผู้ชายเริ่มทำสีผมปิดหงอก เทียบ 5 ปีก่อน เริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปี นอกจากนี้ แบรนด์ปิดผมหงอกด้วยตัวเอง และมารูปแบบซองหรือซาเช่ แข่งเดือดมาก จากหลายสิบแบรนด์

ปริญญา ทัศคร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส บริษัท เอส.ซี. เสรีชัยบิวตี้ จำกัด กล่าวว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท หรือกว่า 20% ของตลาดผลิตภัณฑ์ความงามแสนล้าน เจาะลึกเซ็กเมนต์ กลุ่มทรีตเมนท์มีมูลค่า 3,180 ล้านบาท เติบโต 4% กลุ่มทำสีผมมีมูลค่า 1,483 ล้านบาท โตขึ้น 14% (นีลเส็น ไอคิว ประเทศไทย ม.ค.-มิ.ย.65)

เจาะยุทธศาสตร์ ‘โลแลน’ ก้าวสู่ปีที่ 40  ทรานส์ฟอร์มแบรนด์ ตอบโจทย์ผู้บริโภค ตลาดทรีตเมนท์เติบโต

สำหรับแนวโน้มตลาดทรีทเมนต์และทำสีผมปี 2566 ยังเติบโตต่อ ปัจจัยหลักการทำทรีตเมนต์ แบรนด์ขยายตลาดมากกว่าสระ-นวด 2 ขั้นตอน แต่มีการบำรุง ทรีตเมนท์ ลีฟออน ดูแลผมร่วง ผมมัน ซึ่งเพิ่มถึง 4-7 ขั้นตอน การทำสีผมไม่แค่ปิดหงอก แต่ตอบไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น การแข่งขันทำโปรโมชั่น “ซื้อ 1 แถม 1” แก้โจทย์ลูกค้าซื้อต่อบิล “ลดลง” จากภาวะกำลังซื้อชะลอตัว กลยุทธ์ดังกล่าวยังยืนหนึ่งต่อด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปี 2565-2566 “ต้นทุนพุ่ง” โจทย์ท้าทายผู้ผลิตสินค้าอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมโลแลน เผชิญวัตถุดิบบางรายการแพงขึ้น 30% ปลายปีที่แล้วจึงแจ้งคู่ค้า “ขึ้นราคาสินค้า” เฉลี่ยไม่ถึง 5% ปีนี้ยังต้องจับตาดูต้นทุนต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจและผู้บริโภค