อาชีพหมอดู ซินแส ต้อง "เสียภาษี" ไหม? เปิดข้อกฎหมายผู้มีรายได้ต้องรู้

อาชีพหมอดู ซินแส ต้อง "เสียภาษี" ไหม? เปิดข้อกฎหมายผู้มีรายได้ต้องรู้

ถึงรอบการ "ยื่นภาษี" อีกครั้ง เมื่อผู้มีรายได้ทุกคนต้อง "เสียภาษี" ตามกฎหมาย แต่หลายคนยังสงสัยว่าในกลุ่มอาชีพหมอดู ซินแส หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ จะต้องเสียภาษีด้วยไหม?

มนุษย์ออฟฟิศต่างรู้อยู่แล้วว่าตนเองมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีทุกปี และหากมีรายได้ต่อปีถึงเกณฑ์กำหนดก็จะต้อง “เสียภาษี” ตามกฎหมายด้วย แต่ยังมีบางคนสงสัยว่าผู้ที่ทำอาชีพหมอดู ซินแส” จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายหรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

มีข้อมูลจาก “สุรภา แจ่มแจ้ง” ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและภาษี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ได้อธิบายเรื่องการเสียภาษีผ่านเพจ “เก่งบัญชี ภาษีบรรเทา” ไว้ว่า สำหรับการประกอบธุรกิจ “หมอดู” นั้น ในปัจจุบันส่วนใหญ่พบเป็นธุรกิจในลักษณะ “ดูดวงออนไลน์” ซึ่งการเสียภาษีของผู้รับจ้างดูดวงโดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ

1. ทำธุรกิจดูดวง จัดตั้งบริษัท : เสียภาษีนิติบุคคลและภาษี VAT

กรณีนี้ผู้ประกอบการมีการจัดตั้งเป็นบริษัท และมีหมอดูหรือซินแสหลายคนมาคอยให้บริการลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์หรือผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่มีรายได้และต้องเสียภาษี โดยหากบริษัทมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็จะต้องจดทะเบียน VAT ด้วย โดยสรุปคือต้องเสียภาษีทั้ง “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” และ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

สำหรับ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” : เป็นการเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นของบริษัท คำนวณจากเรตภาษีคูณด้วยกำไรของบริษัท (ภาษี x กำไร) ซึ่งกำไรก็มาจากการเอารายรับมาหักจากรายจ่าย (รายรับ - รายจ่าย) ทั้งนี้ต้องเก็บเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับรายจ่ายทั้งหมดเอามาทำรายการค่าใช้จ่ายด้วย เช่น Pay-In-Slip, ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น

เสียภาษี

หลังจากนำรายรับมาหักด้วยรายจ่าย จนได้เป็น “กำไร” ออกมาแล้ว ก็นำกำไรนั้นไปเสียภาษีตามอัตราขั้นบันไดของธุรกิจแบบ SMEs ซึ่งก็จะมีเรตภาษีอยู่ 3 ขั้น คือ

  • กำไร 300,000 บาทแรก อัตราภาษี 0% (ไม่ต้องเสียภาษี)
  • กำไร 300,001 - 3,000,000 บาท >> อัตราภาษี 15%
  • กำไร 3,000,001 บาทขึ้นไป >> อัตราภาษี 20%

สำหรับ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” : ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 คือ เอกสารสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย ที่เจ้าของธุรกิจต้องเอาไว้ใช้ยื่นแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรทุกเดือน โดยต้องทำก่อนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป รวมถึงต้องยื่นเอกสาร “ปิดงบการเงิน” รายปีของบริษัทด้วย

*หมายเหตุ : หากยื่นปิดงบการเงินล่าช้า จะต้องเสียค่าปรับ 4,000-14,000 บาท (เสียค่าปรับ 2 ทาง โดยเสียให้ทั้งสรรพากรและให้ทั้งกระทรวงพาณิชย์​)

อาชีพหมอดู ซินแส ต้อง \"เสียภาษี\" ไหม? เปิดข้อกฎหมายผู้มีรายได้ต้องรู้

2. ทำธุรกิจดูดวง ไม่ได้จัดตั้งบริษัท : เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีนี้ถ้ามีรายได้เกินกว่า 60,000 ต่อปี ต้องยื่นแบบภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจาก “รายได้สุทธิ” ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี (รายได้สุทธิ 150,000 บาทขึ้นไปต้องเสียภาษี)

ในทำนองเดียวกัน “ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์” อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร ได้ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ iTax ไว้ว่า ผู้ที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์ เช่น ขายของออนไลน์, มีรายได้ทางออนไลน์ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทที่ 8 หรือ “เงินได้ 40(8)” กล่าวคือ เป็นเงินได้พึ่งประเมินที่ไม่สามารถจัดให้เข้ากลุ่มเงินได้ประเภทที่ 1-7 ได้ และ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีด้วย จึงทำให้ผู้ที่มีรายได้จากช่องทางดังกล่าวยังมีหน้าที่ต้อง “เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” อยู่นั่นเอง

3. พระสงฆ์ ต้องเสียภาษีไหม เงินทำบุญเข้าข่ายหรือไม่?

นอกจากนี้ หลายคนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายได้ของ “พระสงฆ์” ว่าจะต้องเสียภาษีหรือไม่? สำหรับประเด็นนี้ ในทางกฎหมายมองว่าพระภิกษุมีสถานะเป็น “บุคคลธรรมดา” ดังนั้น หากพระมีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์กำหนด ก็จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเช่นกัน ซึ่งรายได้ของพระสงฆ์ อาจเป็นรายได้ที่มาจากการสอนหนังสือ, การบรรยายธรรมให้องค์กรเอกชน, ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เป็นต้น (แต่ถ้ารายได้สุทธิต่อปีไม่ถึงเกณฑ์กำหนดก็ไม่ต้องเสียภาษี)

ส่วนในกรณี “เงินทำบุญ” ที่ญาติโยมบริจาคผ่านทางพระสงฆ์เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการศาสนานั้น จะถือเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว (มาตรา 42(29) ประมวลรัษฎากร)

ทั้งนี้ ที่หลายคนเห็นว่าพระไม่ต้องเสียภาษีนั้น ไม่ใช่เพราะพระมีสถานะเป็นพระ แต่เป็นเพราะเงินที่พระได้รับเป็นเงินที่ยกเว้นภาษีต่างหาก พระเลยไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

--------------------------------------

อ้างอิง : iTax1iTax2เก่งบัญชี ภาษีบรรเทา