รู้ก่อนยื่นภาษี “อาชีพอิสระ-ฟรีแลนซ์-วิชาชีพอิสระ” ต่างกัน! ยื่นภาษี 2564 อย่างไรไม่พลาด

รู้ก่อนยื่นภาษี “อาชีพอิสระ-ฟรีแลนซ์-วิชาชีพอิสระ” ต่างกัน! ยื่นภาษี 2564 อย่างไรไม่พลาด

เตรียมตัว "ยื่นภาษี 2564" สำหรับผู้ไม่ได้ทำงานประจำทั้งหลาย ทราบหรือไม่ว่า ระหว่าง "ฟรีแลนซ์" "อาชีพอิสระ" และ "วิชาชีพอิสระ" นั้นไม่เหมือนกัน รวมถึงมีเงื่อนไขการยื่นภาษีที่แตกต่างกันด้วย ..​แล้วแต่ละลักษณะอาชีพ ยื่นภาษีอย่างไร อ่าน "วิธียื่นภาษี" ได้ที่นี่

ฤดูกาล "ยื่นภาษี" มาถึงอีกแล้ว โดยสำหรับการยื่นภาษี ประจำปี 2564 ซึ่งต้องจัดการยื่นในปี 2565 นั้น เราสามารถยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เม.ย.65 

ทั้งนี้ จากความหลากหลายทางอาชีพ ทำให้บทบาททางภาษีของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะต้องยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้แยกตามประเภทอาชีพนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน วิชาชีพอิสระ และที่ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมคืออาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์

แต่ทราบหรือไม่ว่า ความแตกต่างของอาชีพแต่ละประเภท จะมีผลต่อการยื่นภาษี เพราะถ้าหากยื่นแบบฯ ภาษีผิด อาจทำให้ยอดตัวเลขที่ต้องเสียภาษีขาดหรือเกินได้

โดยเฉพาะผู้มีรายได้ที่ยื่นภาษีออนไลน์ ทั้งที่เป็น “อาชีพอิสระ”, “ฟรีแลนซ์” และ “วิชาชีพอิสระ” ดูผิวเผินอาจดูว่าเป็นประเภทเดียวกัน แต่ความจริงแล้วเป็นคนละประเภท ซึ่งวิธีการคำนวณหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน โดยจำนวนไม่น้อยที่มักสับสนว่า ตนเองต้องยื่นประเภทไหน

ดังนั้น ผู้มีรายได้จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าตนเองจัดอยู่ในกลุ่มอาชีพประเภทไหน จึงจะสามารถคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง รวมถึงยื่นแบบฯ ภาษีไม่ผิดพลาด

อยากรู้ว่า “อาชีพอิสระ”, “ฟรีแลนซ์” และ “วิชาชีพอิสระ” สำหรับบุคคลธรรมดาจะแตกต่างกันอย่างไร ไปติดตามกันเลย

  • แบบไหนเรียก “อาชีพอิสระ

อาชีพอิสระ เป็นอาชีพเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ เงินได้ 40(8) ได้แก่ เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม ขายอสังหาริมทรัพย์ การขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่รับยกเว้นภาษีเงินได้และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และเงินได้ที่ไม่ได้ระบุอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์

- การหักค่าใช้จ่าย

การหักค่าใช้จ่ายสำหรับอาชีพอิสระ ยื่นแบบฯ ภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับรายการรายได้ของผู้มีรายได้ ซึ่งมีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) และ หักแบบเหมา 60% ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 43 ประเภทเงินได้

โดยมีบางรายการที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมามีเพดาน 40-60% ได้แก่ นักแสดงสาธารณะ เช่น นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิง กล่าวคือหักค่าใช้จ่าย 300,000 แรกแบบเหมาได้ 60% และส่วนที่เกิน 300,000 หักเหมาได้ 40% แต่รวมทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท

รู้ก่อนยื่นภาษี “อาชีพอิสระ-ฟรีแลนซ์-วิชาชีพอิสระ” ต่างกัน! ยื่นภาษี 2564 อย่างไรไม่พลาด

  • คุณใช่ “ฟรีแลนซ์” หรือไม่

ฟรีแลนซ์ เป็นอาชีพเงินได้ประเภทที่ 2 หรือ เงินได้ 40(2) คือรายได้รูปแบบรับจ้างทั่วไป รับทำงานให้เป็นครั้งคราวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเจ้านายลูกน้อง ได้แก่ ค่าจ้างฟรีแลนซ์ ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า การรับรีวิวสินค้า ออกแบบกราฟิก งานเขียนและแปลภาษา ค่าตอบแทนของพริตตี้ พิธีกร และ MC เป็นต้น ซึ่งผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยแบ่ง อาชีพฟรีแลนซ์ หลักๆ ได้ดังนี้

  • ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเป็นโปรเจคท์
  • ฟรีแลนซ์ที่มีอาชีพทำงานประจำอยู่แล้ว แต่มารับทำงานฟรีแลนซ์เป็นอาชีพเสริม
  • ฟรีแลนซ์ที่ทำงานมีรายได้หลายทาง หรือหลายอาชีพในวันเดียวกัน เช่น ขายของ รับงานเขียน หรือให้บริการด้านอื่นๆ
  • ฟรีแลนซ์ที่ทำงานคล้ายทำงานประจำ แต่เป็นการทำงานแค่ชั่วคราว โดยจะรับงานเพียงลูกค้ารายเดียว และ ทำงานผูกมัดกันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-4 เดือน

- ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

ตามกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่เป็นฟรีแลนซ์ หรืออยู่ประเภทรับเหมาหรือบริการ เช่น การจ้างผลิตสินค้า จ้างทำนามบัตร จ้างรีวิวสินค้า งานเขียน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ต้องใช้อุปกรณ์ของคนรับทำ ผู้ว่าจ้างไม่ได้เป็นคนหาให้ จะถือเป็นจ้างรับเหมาหรือบริการ รายได้จะต้องถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย 3%

แต่ถ้าผู้ว่าจ้างมีอุปกรณ์ให้ครบ เช่น จ้างพิมพ์งานมีคอมพิวเตอร์ให้ ค่านายหน้าขายของ ส่วนแบ่งค่าคอม จะจัดอยู่ในประเภทจ้างทำงาน ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้คำนวณแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุด 0% แบบเดียวกับค่าจ้างและเงินเดือน ซึ่งผู้จ้างจะหักไว้ก่อนจ่ายเงินค่าจ้างให้ และผู้รับเงินต้องยื่นภาษีบุคคลธรรมดาประจำปีอีก 1 ครั้งด้วย

- การหักค่าใช้จ่าย

การหักค่าใช้จ่ายสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ ซึ่งจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 2 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และถ้าหากผู้มีเงินได้มีทั้งเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท

  • 6 อาชีพ "วิชาชีพอิสระ"

วิชาชีพอิสระ เป็นอาชีพเงินได้ประเภทที่ 6 หรือ เงินได้ 40(6) คือเงินได้พึงประเมินในรูปของค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ วิชาชีพอิสระมีความคล้ายอาชีพฟรีแลนซ์ ที่มีความเป็นอิสระไม่ขึ้นกับบริษัท แต่จะต้องเป็นอาชีพที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง และถูกกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งได้แก่

  • แพทย์และพยาบาลประกอบโรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์
  • ประณีตศิลป์ เช่น งานวาด งานหล่อ งานปั้น
  • สถาปนิก เช่น งานออกแบบ
  • วิศวกร เช่น งานออกแบบ
  • นักบัญชี เช่น ทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี โดยบริษัทจำนวนมาก ต้องให้นักบัญชีช่วยทำบัญชี ตรวจสอบบัญชีให้ เพื่อรายละเอียดที่ถูกต้องก่อนยื่นส่งสรรพากร
  • ทนายความ เช่น ที่ปรึกษา ว่าความ

หรือวิชาชีพอิสระอื่นๆ ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร

- ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

การจ้างบริการวิชาชีพอิสระ ซึ่งประกอบด้วย 6 วิชาชีพเท่านั้น คือ 1) โรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม 2) ประณีตศิลป์ 3) สถาปนิก 4) วิศวกร 5) นักบัญชี 6) ทนายความ โดยผู้จ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% และผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาประจำปีเช่นเดียวกับอาชีพฟรีแลนซ์

- การหักค่าใช้จ่าย

การหักค่าใช้จ่ายสำหรับวิชาชีพอิสระ ผู้มีรายได้สามารถเลือกหักได้ 2 แบบคือ หักตามจริงแต่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายอยู่ครบทั้งหมด หรือเลือกหักแบบเหมา 30-60% ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย ซึ่งแบ่งตามกลุ่มวิชาชีพอิสระดังนี้

- การประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของค่าตอบแทนที่เรียกเก็บ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง

- วิชาชีพอิสระอื่นๆ ที่ไม่ใช่การประกอบโรคศิลปะ ประกอบด้วย กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30% ของค่าตอบแทนที่เรียกเก็บ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง

ยื่นภาษี 2564

  • รูปแบการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาทั้ง 3 ประเภท ต่างกันหรือไม่

ผู้ประกอบอาชีพที่จัดอยู่ในผู้มีเงินได้ประเภทที่ 2-8 หรือ เงินได้ 40(2) – (8) หลายประเภทหรือประเภทเดียว ยื่นภาษีแบบบุคคลธรรมดา เวลายื่นแบบฯ ภาษี จะต้องเลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ยื่นแบบฯ ช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี

นอกจากนี้ยังต้องยื่นภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด.94 สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 หรือมาตรา 40(5) – (8) เพื่อคำนวณภาษีจากรายได้เฉพาะในส่วนที่ต้องจ่ายภาษีครึ่งปี (6 เดือนแรก) คือช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน

ทั้งนี้ ยกเว้นผู้มีเงินได้ประเภทที่ 1, 2, 3 และ 4 ไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปี แต่ถ้าหากผู้มีรายได้ประเภทที่ 1-4 มีรายได้หลายทาง เช่นมีรายได้ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 ด้วย จะต้องยื่น ภ.ง.ด.94 เพื่อคำนวณภาษีครึ่งปีในส่วนที่เป็นรายได้ประเภทที่ 5, 6, 7, และ 8 โดยยื่นแบบฯ ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายนของปีนั้นๆ

ตารางเปรียบเทียบรูปแบบยื่นภาษีบุคคลธรรมดา ระหว่าง “อาชีพอิสระ”, “ฟรีแลนซ์” และ “วิชาชีพอิสระ”

รู้ก่อนยื่นภาษี “อาชีพอิสระ-ฟรีแลนซ์-วิชาชีพอิสระ” ต่างกัน! ยื่นภาษี 2564 อย่างไรไม่พลาด

-----------------------------------
Source : 
Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่