วิกฤติ! ซื้อลิขสิทธิ์ยิงสดฟุตบอลโลก2022 กระทุ้ง ‘กสทช.’ สังคายนา กติกาใหม่

วิกฤติ! ซื้อลิขสิทธิ์ยิงสดฟุตบอลโลก2022  กระทุ้ง ‘กสทช.’ สังคายนา กติกาใหม่

วันนี้วงการลูกหนัง "ทีมชาติไทย" มีนัดฟาดแข้งรายการสำคัญ "ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน"หรือ AFF แต่ไร้เงา - เงิน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้คนไทยดู แต่ฟุตบอลโลก 2022 แพงแค่ไหน ทู่ซี้หาเงินจ่าย วงการสื่อมอง กสทช. "ล้มเหลว" ใช้ 600 ล้านบาท เพื่อบอลโลก และควรสังคายนากติกาใหม่ได้แล้ว

จบลงอย่างสวยงามสำหรับ ฟุตบอลโลก 2022 โดยเฉพาะคู่ชิงระหว่างทีมชาติ “อาร์เจนตินา VS ฝรั่งเศส” ที่แข่งกันเพื่อหา “แชมป์โลก” ด้วยการต่อเวลา และยิงลูกโทษ ซึ่งทีมฟ้าขาว นำโดย “ลีโอเนล เมสซี่” สามารถคว้าชัยชนะ สร้างประวัติศาสตร์ให้วงการลูกหนัง

เวลา 1 เดือน ของการดวลแข้ง สร้างความสุขให้แฟนบอลชาวไทย แต่การถ่ายทอดสดต้องแลกมาด้วยเงินมูลค่ากว่า “พันล้านบาท” ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ดึงเงินจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน กทปส.วงเงิน 600 ล้านบาท มาใช้ตั้งต้นซื้อลิขสิทธิ์ ตามด้วยเอกชนลงขันอีกก้อน

ความโกลาหล เกิดขึ้นตั้งแต่หาเงินจนกระทั่งการถ่ายทอดสดแมทช์หยุดโลกคู่ชิง เพราะบางช่องทางไม่สามารถรับชมได้หรือ “จอดำ” โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตทีวี จนอาจมีคำถามตามมาไหม เท่าเทียม ทั่วถึง ตามเจตนารมณ์ของกฎมัสต์ แฮฟ พ่วงมัสต์ แคร์รี่

บทสรุปการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้อะไรกับวงการทีวี สื่อในประเทศไทย

ผู้ประกอบการ “เดียว วรตั้งตระกูล” เลขาธิการ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ให้มุมมองเกี่ยวกับการที่กสทช.ใช้เงิน 600 ล้านบาท เพื่อนำคอนเทนต์ระดับโลกมาให้คนไทยได้ชม เป็นเรื่องที่ “ล้มเหลว” เพราะที่สุดท้าย รายการใหญ่ไม่สามารถถ่ายทอดให้คนไทยชมได้ “เท่าเทียม ทั่วถึง” อย่างแท้จริง

ทว่าอีกด้าน นับจากโจทย์ “จอดำ” ครั้งแรก ปี 2555 ที่ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" ทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 มาออกอากาศให้คนไทยได้ชม ทว่า ขณะนั้นมีบางช่องทางรับชมคอนเทนต์ไม่ได้เช่นกัน มาถึงฟุตบอลโลก 2022 เป็นเวลา 1 ทศวรรษพอดี ที่ “สังคมไทย” ได้เรียนรู้เรื่อง “ลิขสิทธิ์” แจ่มแจ้งว่า “คนจ่ายเงินได้ดู คนไม่จ่ายย่อมไม่ได้ดู หรือดูได้เท่าที่อนุญาต”

สะท้อนลิขสิทธิ์คือ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่กฎหมายมาบังคับไม่ได้ ต่างจาก 10 ปีก่อน ที่สังคมมองคอนเทนต์ซื้อมาแล้วยังไงก็ “ต้องได้ดู” สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นหน่วยงานกำกับดูแล “คิดใหม่” เพราะการที่รัฐ “สวนกฎ” มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ เลยทำให้เรื่องต่างๆ ยุ่งเหยิงไปหมด

เสียงภาคเอกชน ที่พยายามส่งถึง กสทช.ยังคงก้องดังหลายครั้ง เหตุเพราะต้องการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา “ซ้ำรอย” เพราะตราบใดที่รายการกีฬาใหญ่ยังอยู่ภายใต้กฎ กติกา “เก่า” ของภาครัฐที่ออกมาภายใต้บริบทสื่อต่างจากเวลานี้ ปมการดู ไม่ได้ดูผ่านช่องทางต่างๆ จะวนลูบไม่จบสิ้น

ดังนั้น กสทช.ควรใช้ “วิกฤติ” การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ปลุกตัวเองให้ตื่น แล้วดำเนินการอะไรสักอย่าง อย่าดันทุรัง ทู่ซี้ เหมือนที่ผ่านมา ได้เวลาหาทางเดินหน้าสังคายนากฎ กติกาใหม่ โดยไม่นำไปผูกกับเทคโนโลยี แต่ควรวางโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี รองรับโลกอนาคตได้แล้ว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์