"แอร์ไลน์" รุกหนักเพิ่มรูทบินอินเตอร์ ปรับแผนรับความเสี่ยง ศก.ถดถอย ปี 66

"แอร์ไลน์" รุกหนักเพิ่มรูทบินอินเตอร์ ปรับแผนรับความเสี่ยง ศก.ถดถอย ปี 66

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายปี 2566 ให้ “ประเทศไทย” ติดอันดับประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก! พร้อมผลักดันธุรกิจ “สายการบิน” กลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าไทย มีปริมาณเที่ยวบินกลับมา 80% ของปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

และมีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) ที่ 90% ของปริมาณที่นั่งโดยสาร

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า “บางกอกแอร์เวย์ส” มีแผนเพิ่มความถี่ของ “เที่ยวบินยอดนิยม” กลับมาให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ในอนาคต จากปัจจุบันให้บริการกว่า 24 เส้นทางบิน ภายในประเทศ 17 เส้นทาง ระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง

คาดว่าในปี 2566 จะกลับมาให้บริการเที่ยวบินในเพิ่มเติมในเส้นทางระหว่างประเทศ 6 เส้นทาง ได้แก่ สมุย-ฮ่องกง, สมุย-กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย), สมุย-เฉิงตู (จีน), สมุย-ฉงชิ่ง (จีน) และกลุ่มประเทศ CLMV ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์ (เมียนมา) และ กรุงเทพฯ-ฟูโกว๊ก (เวียดนาม)

“การเปิดเส้นทางบินและการกลับมาให้บริการในเส้นทางบินต่างๆ นั้น บริษัทได้วางกลยุทธ์และแผนรองรับความเสี่ยงต่างๆ ไว้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเงินเฟ้อ สภาวะความกังวลจากเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และสถานการณ์ด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่ผันผวน”

ส่วนภาพรวมปี 2565 ภาคอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ของทุกภูมิภาคทั่วโลกเฉลี่ย 73.9% แม้จะต้องเผชิญวิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลก ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย

จากคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่าสายการบินในภูมิภาค “เอเชียแปซิฟิก” มีอัตราเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารราว 26% ถือว่า “ค่อนข้างช้า” เมื่อเทียบกับภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา เนื่องจากมาตรการ “เปิดประเทศ” ที่ล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ

“มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวและเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2566 พร้อมคาดว่าหลายๆ สายการบินทั่วโลกจะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2567”

ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารของบางกอกแอร์เวย์สในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา หลังมาตรการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีผู้โดยสารรวม 1.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 528% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนผู้โดยสาร 9 เดือนแรกปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้รวม 8,121.8 ล้านบาท มีโหลดแฟคเตอร์ 74% โดยก่อนหน้าบริษัทได้ตั้งเป้ารายได้รวมสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 8,175 ล้านบาท โหลดแฟคเตอร์ 73% ซึ่ง 9 เดือนแรก เราได้เดินทางมาถึงเป้าแล้ว”

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ของบางกอกแอร์เวย์ส มาจากเส้นทางบินในประเทศ โดยมีเป้าหมายผู้โดยสารที่เป็นสัดส่วนของกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปและตะวันออกกลางเป็นหลัก ทั้งนี้บริษัทยังคงมุ่งเน้นผลักดันการบินในเส้นทางหลักอย่าง สมุย ภูเก็ต และ เชียงใหม่ มุ่งเชื่อมโยงศักยภาพการบินเข้าด้วยกันกับประเทศในกลุ่ม CLMV และกลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยม

ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทเปิดเส้นทางบินใหม่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ กับ สมุย- หาดใหญ่ และกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินในเส้นทาง กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ (กัมพูชา) กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง (เมียนมา) และ กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม)

\"แอร์ไลน์\" รุกหนักเพิ่มรูทบินอินเตอร์ ปรับแผนรับความเสี่ยง ศก.ถดถอย ปี 66

วรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า ภายในปี 2566 พันธกิจหลักของไทยเวียตเจ็ท คือการขยายเครือข่ายเส้นทางบินไปยังต่างประเทศมากขึ้น เตรียมแผนเปิดตัวเส้นทางระหว่างประเทศใหม่ๆ หลายเส้นทาง จากสนามบินสุวรรณภูมิสู่จุดหมายปลายทางทั่วเอเชีย-แปซิฟิกภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 รวมถึงบริการเส้นทางบินตรง ระหว่าง เชียงใหม่ และ โอซาก้า (ญี่ปุ่น) รวมถึงจุดหมายปลายทางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับผลการดำเนินงานของไทยเวียตเจ็ทตลอดปี 2565 ได้เดินหน้าขยายเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สู่หลากหลายปลายทางทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยปัจจุบันไทยเวียตเจ็ทให้บริการเที่ยวบินตรงจาก กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ สิงคโปร์ ฟูกุโอกะ ไทเป พนมเปญ และหลายเส้นทางในประเทศเวียดนาม ได้แก่ โฮจิมินห์ซิตี้ ดานัง และฟู้โกว๊ก ให้บริการผู้โดยสารแล้วกว่า 5 ล้านคน พร้อมให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศไม่ต่ำกว่า 9,000 ตัน

“ปี 2565 เรียกได้ว่าเป็นปีที่ยอดเยี่ยมของไทยเวียตเจ็ท หลังจากเริ่มต้นปีนี้ด้วยการประกาศเปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ เส้นทาง กรุงเทพฯ-พนมเปญ ทันทีที่ประเทศไทยและกัมพูชาประกาศผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ไทยเวียตเจ็ทได้เดินหน้าขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศเส้นทางอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สิงคโปร์ ฟูกุโอกะ ไทเป รวมทั้งหลากหลายเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งเราถือเป็นผู้เล่นที่ใหญ่อันดับต้นๆ ในตลาด”

สายการบินไทยเวียตเจ็ท ยังร่วมกับ “เวียตเจ็ท กรุ๊ป” (Vietjet group) ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไทยและเวียดนามด้วยความถี่สูงสุด โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 ไทยเวียตเจ็ท และ เวียตเจ็ท กรุ๊ป ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไทยและเวียดนามแล้วรวมกว่า 2,500 เที่ยวบิน ขนส่งผู้โดยสารกว่า 350,000 คน บนเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุมและหลากหลาย ได้แก่ เส้นทางบินจาก กรุงเทพฯ สู่ ฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ ดานัง ฟู้โกว๊ก รวมทั้งเส้นทางบินตรงจาก ภูเก็ต และ เชียงใหม่ สู่ โฮจิมินห์ซิตี้ พร้อมกันนี้ สายการบินฯ เตรียมกลับมาให้บริการเที่ยวบินตรงระหว่าง กรุงเทพฯ และ ดาลัด ในวันที่ 2 ธันวาคม นี้ด้วย

“เร็วๆ นี้ไทยเวียตเจ็ทประกาศเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-ฟูกุโอกะ เป็น 1 เที่ยวบินต่อวัน พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-ไทเป เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในเดือน ธ.ค.2565 และจะปรับเพิ่มเป็นวันละ 2 เที่ยวบิน ในเดือน ม.ค.2566”

\"แอร์ไลน์\" รุกหนักเพิ่มรูทบินอินเตอร์ ปรับแผนรับความเสี่ยง ศก.ถดถอย ปี 66