“ขาดแคลนแรงงาน” ซ้ำเติม “ธุรกิจรายเล็ก” สหรัฐ

“ขาดแคลนแรงงาน” ซ้ำเติม “ธุรกิจรายเล็ก” สหรัฐ

แม้ว่าธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐหลายแห่งจะรอดพ้นจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ตอนนี้กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ซ้ำร้ายยังมีภาวะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นอีกอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐต้องปิดกิจการชั่วคราว หลายรายแบกรับภาวะไม่ไหวทำให้ต้องปิดกิจการลง แต่บางส่วนอยู่รอดมาได้และเมื่อเตรียมกลับมาเปิดใหม่หลังมาตรการผ่อนคลายของรัฐ กลับต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

Freed Bodyworks ศูนย์สุขภาพให้บริการนวดบำบัด โยคะ การฝังเข็ม การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และบริการสุขภาพอื่น ๆ ต้องปิดตัวลงอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากแต่เป็นปัญหาขาดแคลนแรงงาน ฟรานเซส รีด เจ้าของกิจการให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า “ที่ผ่านมาเรามีลูกค้ามาใช้บริการตลอด แต่ปัญหามันเกิดขึ้นจากร้านของเราเอง ผมไม่สามารถจ้างงานใครได้เลย

ก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ ศูนย์สุขภาพแห่งนี้มีพนักงาน 20 คน รับรองลูกค้าได้สูงสุด 550 รายต่อเดือน แต่พอร้านต้องปิดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พนักงานหลายคนลาออก บางส่วนไปศึกษาต่อ บางส่วนย้ายไปอยู่ที่อื่น และอีกหลายคนกลับไปดูแลครอบครัว

เมื่อร้านกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในปี 2563 หลังมาตรการผ่อนคลายของรัฐ กลับเหลือลูกจ้างเพียงแค่ 8 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ โดยรีดเผยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลังจากการกลับมาเปิดร้านใหม่ เขาหาพนักงานเพิ่มได้เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น

ไม่ใช่เพียงรีดคนเดียวที่เผชิญหน้ากับปัญหานี้เพียงลำพัง แต่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กทั่วสหรัฐในปัจจุบันเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าได้เข้าสู่ระดับวิกฤติแล้ว

จากผลสำรวจของ สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติ หรือ NFIB พบว่า ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าครึ่งไม่สามารถหาพนักงานมาทดแทนตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครได้ ซึ่งเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ทำการสำรวจมาในรอบ 5 ทศวรรษ

“การจ้างการไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับธุรกิจขนาดเล็กมาก่อน” บิล ดันเคลเบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ NFIB กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดแรงงานในปัจจุบันมีความท้าทายสำหรับธุรกิจทุกขนาด โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีกลยุทธ์การรับสมัครที่ด้อยกว่าองค์กรขนาดใหญ่ อีกทั้งขาดกระแสเงินสด เครดิต และความคล่องตัวทางเศรษฐกิจที่องค์กรขนาดใหญ่ได้รับ นั่นทำให้ข้อเสนอด้านสวัสดิการ รายได้ และโบนัส ที่ธุรกิจขนาดเล็กสู้องค์กรขนาดใหญ่ไม่ได้เลย ส่งผลให้หาแรงงานในตลาดได้ยากยิ่งขึ้น

แฮร์รี่ โฮลเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า “ขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เพิ่มค่าจ้างอย่างง่ายดาย แต่ร้านค้าขนาดเล็ก ธุรกิจในครอบครัว ที่มีกำไรน้อย ไม่สามารถเพิ่มค่าจ้างได้อีกแล้ว ทำให้หาคนมาทำงานไม่ได้”

เงินเฟ้อพุ่ง เคราะห์ซ้ำกรรมซัด “รายเล็ก”

ซูซาน ซาริช เริ่มดำเนินธุรกิจ SusieCakes ในปี 2549 และได้ขยายสาขาไปทั่วรัฐแคลิฟอร์เนียทั้งสิ้น 26 แห่ง ด้วยจำนวนพนักงานเกือบ 500 ชีวิต แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 200 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งหาแรงงานมาทำงานยากขึ้นไปเรื่อย ๆ

“เราเพิ่มค่าจ้างรายชั่วโมงเกือบ 20% แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น พนักงานของเราหลายคนหมดเงินไปกับค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง”

เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ ซาริชตัดสินใจลดชั่วโมงการทำงานลง ด้วยการปิดร้าน 2 วันต่อสัปดาห์ และลดชั่วโมงการเปิดร้านลง รวมถึงตัดเมนูขนมออกไปบางชนิดออกไป เช่น คุกกี้น้ำตาลไอซิ่ง แม้ว่าจะเป็นเมนูที่ลูกค้าชื่นชอบก็ตาม 

“ที่จริงยังมีความต้องการซื้ออยู่ แต่เราไม่มีแรงงานผลิต ดังนั้นเราต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด ด้วยการลดทุกอย่าง ทั้งเวลาทำงานและจำนวนขนม แม้จะทำถึงขนาดนี้แล้ว แต่รายได้ก็ยังลดลงจากก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 15%” เจ้าของร้านเบเกอรี่เปิดใจกับ BBC

เอริค โกรฟส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Alignable แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก กล่าวว่า เจ้าของธุรกิจกำลังเผชิญกับปัญหาอันหนักอึ้ง นอกจากปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ยอดขายกลับลดลง เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

จากผลการสำรวจของ Alignable เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของธุรกิจขนาดเล็กเท่านั้นที่มีรายได้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ของรายได้ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งลดลงจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้วที่มีธุรกิจขนาดเล็กราว 42% 

ธุรกิจขนาดเล็กจำเป็นต้องลดเวลาทำการลง พวกเขารับแรงกดดันจากทุกสารทิศ ทั้งรายได้ที่ลดลง ต้นทุนที่สูงขึ้น และความท้าทายในการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปได้" โกรฟส์กล่าวสรุป

 

ธุรกิจอยู่ในกำมือของแรงงาน

รายงานการจ้างงานของสหรัฐประจำเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานลดลงเหลือเพียง 3.5% ซึ่งเท่ากับระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี แต่ตัวเลขของอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 62.1% แปลว่ามีผู้สูงอายุ ประชากรที่มีอายุไม่ถึง 16 ปี และกลุ่มที่ว่างงานอยู่ 37.9%

“ยังมีคนวัยทำงานไม่ยังได้ออกมาหางานทำ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการย้ายถิ่นฐานที่ลดลง หรือแม้กระทั่งไม่มีคนดูแลครอบครัว” เดวิด ดอลลาร์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสถาบันบรูคกิงส์กล่าว

ด้าน เอ็ดเวิร์ด ฟ็อกซ์ เป็นเจ้าของ Tradebank ธุรกิจการค้าต่างตอบแทน ที่มีสาขา 2 แห่งอยู่ในเมืองวิชิตา รัฐแคนซัส และเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี แต่เมื่อพนักงานที่มีอยู่คนเดียวในแนชวิลล์ลาออกเมื่อปลายปี 2563 ทำให้ฟ็อกซ์จำเป็นต้องปิดสาขานี้ หลังจากที่พยายามหาพนักงานคนใหม่มาแล้วกว่า 6 เดือน ซึ่งทำให้เขาต้องเสียรายได้ราว 200,000 - 300,000 ดอลลาร์

“ผมหวังว่าตลาดงานจะกลับมา หวังว่าจะมีคนต่างแย่งกันยื่นใบสมัคร แต่มันกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะโควิดทำให้ผมเสียรายได้ไป 75% ผมไม่สามารถขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน ยิ่งพอปิดสาขาที่แนชวิลล์ไปยิ่งแย่ไปใหญ่ ผมเข้าใจว่าทุกคนมีสิทธิเลือกงาน และพวกเขาคงอยากได้ความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่านี้”

แม้ว่าการล่มสลายของธุรกิจขนาดเล็กไม่กี่แห่งอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ เปรียบเสมือนคลื่นที่กระทบฝั่งแล้วจางหายไป แต่หากปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังคงรุนแรงไปอย่างต่อเนื่องก็อาจจะเป็นสัญญาณของสึนามิทางเศรษฐกิจสหรัฐก็ได้ เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กมีสัดส่วนการจ้างงานเกือบครึ่งหนึ่งของการจ้างงานภาคเอกชนในสหรัฐ อีกทั้งยังสร้างมูลค่า GDP ให้สหรัฐมากกว่า 40% 

แน่นอนว่า เมื่อธุรกิจขนาดเล็กล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ ย่อมทำให้อัตราการจ้างงานลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็มีตัวเลือกในการซื้อสินค้าและใช้บริการได้น้อยลง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะทางเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคได้ หากปัญหานี้ยังไม่ได้ถูกแก้ไขในเร็ววัน


ที่มา: CNN, Whitehouse