"อวานี สุขุมวิทฯ" ตีโจทย์ประชุมมิติใหม่! ชู Meet-ertainment สู้ศึกหลังโควิด

"อวานี สุขุมวิทฯ" ตีโจทย์ประชุมมิติใหม่!  ชู Meet-ertainment สู้ศึกหลังโควิด

การจัดประชุมสัมมนาแบบธรรมดาๆ อาจดึงดูดใจลูกค้าได้ไม่มากนักในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งดิสรัปพฤติกรรมของผู้คนสู่ “ความปกติใหม่” (New Normal) โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สามารถสแตนด์บายอยู่หน้าจอ ประชุมออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ของมุมโลก

“จะทำอย่างไรให้ผู้คนยังเลือกมาประชุมแบบพบหน้าค่าตา?!” คือโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจโรงแรมต้องตีให้แตก!

ชิดชนก พศินพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งมีขนาดห้องพัก 382 ห้อง ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ย่านอ่อนนุช เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เพียงแค่ครึ่งปี เล่าว่า นอกเหนือจากการลุยฟื้นรายได้ห้องพักซึ่งครองสัดส่วน 70% ของรายได้โรงแรมทั้งหมด ส่วนอีก 30% เป็นรายได้จากอาหารและเครื่องดื่ม ทางโรงแรมมีกลยุทธ์กระตุ้นยอดการจัดงาน “ประชุมสัมมนา” จากปัจจุบันมีอัตราการใช้บริการห้องประชุมและการจัดงานอยู่ที่ 50-60%

ด้วยการเปิดตัวบริการประชุมในมิติใหม่! ภายใต้คอนเซปต์ “Meet-ertainment” ผ่านแพ็คเกจที่ผสานการประชุมสัมมนาเข้ากับความบันเทิงและเทรนด์การดูแลสุขภาพ (Meeting-Entertainment-Wellness) เพื่อตอบความต้องการของตลาดการประชุมยุคใหม่ ด้วยการนำจุดแข็งด้านบริการของ “เครือไมเนอร์ โฮเทลส์” และโครงการไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์ “เซ็นจูรี่ เดอะ มูฟวี พลาซ่า อ่อนนุช” ซึ่งตัวโรงแรมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

 

ประกอบด้วย 3 แพ็คเกจหลัก  1.แพ็คเกจ Meet and Play ผสานการประชุม มื้อเที่ยงเพื่อสุขภาพ และการรับชมภาพยนตร์ไว้ด้วยกัน เริ่มขายแก่ลูกค้าต่างชาติได้แล้ว ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์จัดงานประชุมประจำปี สามารถใช้พื้นที่ภายในโรงภาพยนตร์ในเซ็นจูรี่ฯ ควบกับห้องประชุมของโรงแรม

2.แพ็คเกจ Boost It Up Your Way ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ด้วยบริการจาก VIVID by Verita Health ซึ่งเป็นบาร์ดริปวิตามิน ตั้งอยู่ในโรงแรมอนันตรา สยาม มาเติมวิตามินเข้าสู่ร่างกายขณะประชุม มีค่าใช้จ่ายในการดริปวิตามินแบบเร่งด่วน (Express) เพิ่มคนละ 1,500 บาท คาดว่าจะได้รับความสนใจจากการประชุมกลุ่มผู้บริหารองค์กร

และ 3.แพ็คเกจ Mix & Match ให้ผู้จัดประชุมได้เลือกเสริมกิจกรรมระหว่างประชุมได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ความผ่อนคลาย หรือสุขภาพ เหมาะกับลูกค้ากลุ่มองค์กรที่ต้องการคลายเครียดจากเรื่องงาน

\"อวานี สุขุมวิทฯ\" ตีโจทย์ประชุมมิติใหม่!  ชู Meet-ertainment สู้ศึกหลังโควิด

“บริการจัดงานประชุมภายใต้คอนเซ็ปต์ Meet-ertainment จะช่วยทำให้มีนักธุรกิจและผู้ใช้ห้องประชุมและจัดอีเวนต์ที่โรงแรมเพิ่มขึ้นกว่า 90% ภายในสิ้นปีนี้ ช่วยทำให้รายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 70% ภายในไตรมาส 1 ปี 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสนี้”

สำหรับที่มาของคอนเซ็ปต์บริการประชุมมิติใหม่ดังกล่าว มาจากการวิเคราะห์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้ากลุ่มจัดประชุมสัมมนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ระยะเวลาการจองงานล่วงหน้า” ทั้งงานของลูกค้าในและต่างประเทศ ซึ่งมีระยะการจองล่วงหน้าสั้นลงมาก โดยงานของลูกค้าต่างประเทศใช้เวลาเตรียมงานล่วงหน้าแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ทำให้โรงแรมต้องยืดหยุ่นรับกับธรรมชาติที่เปลี่ยนไปของผู้จัดงาน

อีกปัจจัยคือ “การแข่งขันด้านราคา” หลังจากตลาดการท่องเที่ยวและไมซ์ (MICE : การจัดประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ถูกเปิดอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย! แต่ขนาดตลาดยังไม่ได้กลับไปใหญ่เท่าเดิม ราคาแพ็คเกจการจัดประชุมจึงต้องอยู่ในระดับที่แข่งขันได้และคุ้มค่า

ด้านพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้คนซึ่งคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน หรือ “Work From Home” มากขึ้น นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ทำให้โรงแรมต้องเร่งตีโจทย์พัฒนาบริการการประชุมมิติใหม่ เพื่อดึงดูดคนมาร่วมงานประชุมได้ดียิ่งขึ้น โดยต้องมีกิจกรรมที่สร้าง “คุณค่า” และ “คุ้มค่า” กับการใช้เวลามาร่วมประชุมให้มากที่สุด!

\"อวานี สุขุมวิทฯ\" ตีโจทย์ประชุมมิติใหม่!  ชู Meet-ertainment สู้ศึกหลังโควิด

สำหรับภาพรวมการฟื้นตัวของโรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ หลังจากรัฐบาลไทยประกาศ “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” โรงแรมยังต้องจับตลาดลูกค้าในประเทศเป็นหลัก พร้อมตีตลาดเจาะลูกค้าใหม่ เช่น อินเดีย และตะวันออกกลาง ซึ่งเริ่มกระจายตัวการเข้าพักไปยังโรงแรมบนถนนสุขุมวิทตลอดเส้นแล้ว จากปกตินิยมพักโรงแรมแถบตอนต้นของถนนสุขุมวิท เช่น ย่านนานา

โดยสัดส่วนลูกค้าโรงแรม 5 อันดับแรกในเดือน ส.ค.นี้ มีลูกค้าชาวไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 50% รองลงมาคือเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และไต้หวัน ต่างจาก 5 อันดับแรกในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งทั้งหมดเป็นลูกค้าจากตลาดเอเชียตะวันออก ได้แก่ ฮ่องกง จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

“ปัจจุบันโรงแรมได้รับกระแสตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ ตั้งเป้ามีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยตลอดปีนี้ที่ 60%”

หลังจากอัตราการเข้าพักสะดุดในช่วงต้นปี เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับมาตรการ Test & Go ชั่วคราว กระทั่งสถานการณ์คลี่คลาย ฟื้นตัวดีต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3 นี้ (ก.ค.-ก.ย.) โดยเดือน ส.ค. มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 70-80% ส่วนราคาห้องพักเฉลี่ยค่อยๆ ปรับดีขึ้น แต่ราคา ณ ปัจจุบัน ยังต่ำกว่าราคาก่อนเกิดวิกฤตินี้ประมาณ 20%

“เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นไตรมาส 4 นี้ (เดือน ต.ค.-ธ.ค.) โรงแรมจะมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นเป็น 75-85% เพราะได้ลูกค้าชาวยุโรปมาเพิ่ม เช่น อังกฤษ เยอรมัน และสามารถขยับราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15-20% เทียบไตรมาส 3 นี้ โดยตั้งเป้าฟื้นราคาห้องพักเฉลี่ยให้กลับไปเท่าเดิมหรือดีกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิดในปี 2566”