ย้อนอดีต…การล่มสลายธนาคารพาณิชย์ไทย สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ (3)

ย้อนอดีต…การล่มสลายธนาคารพาณิชย์ไทย สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ (3)

"วิกฤติต้มยำกุ้ง" ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คนที่อยู่ในเหตุการณ์และอยู่ในแวดวงการเงินและการธนาคารยากที่จะลืมได้

วิกฤติต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คนที่อยู่ในเหตุการณ์และอยู่ในแวดวงการเงินและการธนาคารยากที่จะลืมได้ สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่นำไปสู่การประกาศยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่และปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวมีอยู่หลายประเด็น

ประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์คือปัญหาหนี้ต่างประเทศ ช่วงปี 2532-2537 ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงิน รัฐบาลอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (Bangkok International Bankink Facilities : BIBF) ธนาคารพาณิชย์ 46 แห่ง ได้รับมอบใบอนุญาตให้ดำเนินการ 

เมื่อเดือนมีนาคม 2536 จึงมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในเมืองไทย ณ ปลายปี 2540 เมื่อมีการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว หนี้ต่างประเทศของไทยมีจำนวนเพิ่มสูงเป็น 109,276 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มีสัดส่วนสูงถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด และสัดส่วนเงินสำรองหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 70.40% 

ขณะที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน ในชั่วระยะเวลาไม่ถึง 4 ปี เงินกู้ผ่าน BIBF เพิ่มจากศูนย์เป็น 31,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อสิ้นปี 2539 คิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งของหนี้เอกชนทั้งระบบ เงินกู้เหล่านี้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้ภายในประเทศ ธุรกิจต่าง ๆ จึงหันมากู้ผ่าน BIBF เป็นจำนวนมาก สถาบันการเงินมีการตั้งเป้าหมายและให้พนักงานออกไปชักชวนให้มาใช้บริการเงินกู้ผ่าน BIBF

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศขยายตัวอย่างมากทั้งในรูปที่ดิน ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และอาคารชุด เนื่องจากผู้ประกอบการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ของประเทศที่กำลังเฟื่องฟู ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีการเก็งกำไรจนกลายเป็นภาวะฟองสบู่ ปลายปี 2539 สถาบันการเงินประสบปัญหาขาดความเชื่อมั่น จนรัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 18 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง 

ต่อมาเดือนมีนาคม 2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้สถาบันการเงินเพิ่มทุนอีก 10 แห่ง และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 รัฐบาลสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 16 แห่ง วันที่ 5 สิงหาคม 2540 ปิดอีก 42 แห่ง รวมเป็น 58 แห่ง รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาการลงทุนเกินกว่ากำลังซื้อของตลาด ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาสภาพคล่อง มี NPL สูงถึง 52.3% ของสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด 

เมื่อเดือนมีนาคม 2542 ปัญหา NPL ที่มีจำนวนสูงมาก เกิดจากกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่หละหลวมไม่ได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ความสามารถในการชำระหนี้คืน มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่พวกพ้อง ผู้มีอิทธิพล รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง มาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว กฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่ไม่เข้มงวด ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งมีฐานะการเงินที่อ่อนแอ

วิกฤติต้มยำกุ้งส่งผลกระทบกับธนาคารมหานครอย่างรุนแรง เนื่องจากมีการปล่อยสินเชื่อผ่าน BIBF ให้กับลูกค้ารายใหญ่จำนวนหลายรายที่มีภาระหนี้สูงมาก การปล่อยสินเชื่อขาดการวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน ผู้บริหารระดับสูงบางคนมีอำนาจในการปล่อยสินเชื่อล้นฟ้า โดยเฉพาะสินเชื่อพวกพ้อง สั่งการให้สาขาอนุมัติสินเชื่อแบบเบิกเงินเกินบัญชีให้กับผู้มีอิทธิพลวงเงินสูงเต็มเพดาน 30 ล้านบาท โดยไม่มีหลักประกันและกลายเป็น NPL เมื่อเบิกเงินเพียงครั้งเดียว 

ในปี 2559 ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลสินเชื่อ เนื่องจากอนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้มียอดหนี้ค้างชำระ 4,278 ล้านบาท ขณะที่มียอดสินเชื่อรวม 8 บัญชี เป็นเงิน 5,195 ล้านบาท เป็นการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ ศ 2542 มีคำสั่งยึดทรัพย์เป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและหุ้น มูลค่าเพียง 6.7 ล้าบาท

ก่อนจะถูกควบรวมกิจการกับธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาดูแล ส่งบอร์ดและผู้บริหารที่มีชื่อเสียงเข้ามาบริหาร แต่ก็ไม่สามารถกอบกู้ธนาคารเก่าแก่แห่งนี้ไว้ได้ เป็นบทเรียนที่ไม่แตกต่างกับธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ ที่ประสบปัญหา NPL จนถูกสั่งปิดกิจการ…..