กนง.หวั่น โควิดกลายพันธ์ ทุบเศรษฐกิจซ้ำครึ่งปีหลัง 65

กนง.หวั่น โควิดกลายพันธ์ ทุบเศรษฐกิจซ้ำครึ่งปีหลัง 65

กนง.จับตา 3 ปัจจัย “โควิด-ค่าครองชีพสูง-โกลบอลซัพพลายดิสปรับ” ฉุดเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าคาด ย้ำยังไม่ถึงเวลาใช้นโยบายดอกเบี้ย ระบุสงครามกดจีดีพีไทย 0.5% ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยสูงอันดับ 2 เอเชีย ขณะที่ลดจีดีพีปีนี้ลดเพียง 0.2% มาอยู่ที่ 3.2% เหตุราคาพลังงานพุ่ง-โควิด

     นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ Analyst Meeting ว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทยมี 3 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปรับมุมมองการขยายตัวจีดีพีไทยปีนี้ 

      ปัจจัยแรก คือ ภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากการเร่งฉีดวัคซีน รวมถึงการท่องเที่ยวที่มีสัญญาณดีต่อเนื่องจากการเปิดเมือง ส่งผลให้การบริโภคเอกชนตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งเป็นแรงส่งที่หนุนเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ และหนุนจีดีพีไทยขยายตัว 0.4%

      ทั้งนี้ สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ กระทบคู่ค้าต่างประเทศและกระทบการส่งออกไทย ส่วนนี้มีผลกระทบ 0.2% ในปีนี้ รวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อจีดีพี 0.3% บวกกับโอมิครอนที่ยืดเยื้อจะกระทบเศรษฐกิจไทยลดลง 0.1%

     ซึ่งหากดูผลกระทบจากทุกช่องทางรวมกัน พบว่าปัจจัยต่างประเทศมีส่วนฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ลดลง 0.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตลดลง 0.2% มาสู่ 3.2% จากเดิมที่เคยมองไว้ที่เติบโต 3.4% ปีนี้ และปีหน้า เหลือ 4.4% จาก 4.7% 
 

3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด

     อย่างไรก็ตาม กนง.มองว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลให้จีดีพีไทย ต่ำกว่ากรณีฐาน

      คือ 1.ปัญหา Global supply disruption ที่อาจรุนแรงกว่าที่คาด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับรัสเซียที่เป็นผลผลิตหลัก เช่น เหล็ก 

     2.ผลกระทบจากค่าครองชีพที่อาจสูงขึ้นจนกระทบต่อการบริโภคเอกชน เพราะปัจจุบันพบว่าความสามารถรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจลดลง

     3.โอมิครอน หากมีการกลายพันธุ์โดยเฉพาะมาในช่วงครึ่งปีหลังของปี ที่เป็นฤดูการท่องเที่ยว อาจกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ แต่หากมี Pent Up Demand ที่สูงขึ้นกว่าคาดมองว่าอาจจะมีผลต่อฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ดีว่าคาดได้

      ด้านเงินเฟ้อ มองเงินเฟ้อทั้งปีที่ 4.9% โดยคาดว่าในไตรมาส 2-3 เงินเฟ้ออาจแตะระดับ 6% ก่อนลดลงค่อนข้างเร็วในไตรมาส 4 จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง

หนี้ครัวเรือนพุ่งอันดับ2ของเอเชีย

     นายสักกะภพ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือน ถือเป็นปัจจัยที่ กนง.เป็นห่วง เพราะหากดูหนี้ครัวเรือนปัจจุบันของไทย ถือว่าสูงอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้

     ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณหนี้อยู่ในระดับสูง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ประชาชนจะได้มีรายได้เพื่อมาชำระหนี้คืนได้

      ทั้งนี้มองว่าทิศทางหนี้เสียแม้จะเพิ่มขึ้นแต่คงไม่ได้ก้าวกระโดด และเชื่อว่ามาตรการ 3 ก.ย.น่าจะครอบคลุมในการช่วยเหลือลูกหนี้ได้

     สำหรับการจัดตั้งบริษัทบริหารหนี้เสีย (เอเอ็มซี) ร่วมกับแบงก์ กับบริษัทจัดการหนี้ มองว่า เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดหนี้เสียระยะถัดไปที่ที่จะเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีธนาคารพาณิชย์เข้ามาหารือจัดตั้งกับ ธปท.แล้ว ซึ่งจะเริ่มเป็นรูปธรรมปีนี้

คาดเงินเฟ้อพุ่งระยะสั้น

    นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า หากดูการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของไทย พบว่า มาจาก Cost-push shocks ที่มาจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

    อีกทั้งยังไม่เห็นการส่งผ่านไปสู่สินค้าอื่นนอกหมวดพลังงานและอาหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการส่งผ่านยังปกติยังไม่เกิด runaway inflation หรือเงินเฟ้อขึ้นรุนแรง

     สำหรับเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น มองว่าปรับตัวสูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่มีนัยสำคัญต่อนโยบายการเงิน คือ เงินเฟ้อระยะปานกลาง และระยะยาว ที่ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ยังไม่อ่อนไหวตามเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น

    ส่วนเงินเฟ้อระยะกลางใน 5ปี ข้างหน้า ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% หรืออยู่ที่ราว 2% เช่นเดียวกันเงินเฟ้อระยะยาว 10 ปี ที่คาดว่าอยู่ระดับเดียวกัน ดังนั้นแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

คงดอกเบี้ยหนุนจีดีพี

    ดังนั้นการคงดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาของกนง. ก็เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แบบไม่สะดุด และสามารถ look through หรือมองผ่านเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นในบางช่วงได้

     อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า บทบาทของดอกเบี้ยนโยบาย คงไม่สามารถเป็นเครื่องมือ ที่ใช้ดูแลเฉพาะจุด หรือโดยตรงได้ แต่จะสามารถดูแล เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์(Demand-pull Inflation)ได้

เศรษฐกิจกำหนดนโยบายการเงิน

     นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีถามว่า เมื่อไหร่ ถึงจะมีการใช้นโยบายดอกเบี้ย คงต้องมาดูบริบททางเศรษฐกิจ เพราะหากดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน พบว่ายังต่ำกว่าระดับก่อนหน้าอยู่มาก โดยการท่องเที่ยวอยู่ระดับต่ำ เพียง 19 ล้านคนในปีหน้า ห่างกับ 40 ล้านคน จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่การว่างงานยังอยู่ระดับสูงที่ 2.9 ล้านคนปีนี้ 

     ทั้งนี้เมื่อเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวชัดเจน หรือมี Cost push shocks มาใหม่ และส่งผลต่อด้านดีมานด์ นโยบายการเงิน คงต้องเข้ามามีบทบาทในขณะนั้น ดังนั้นการใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงิน ต้องดูบริบทเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

    สำหรับการใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน ดอกเบี้ย ถือเป็นความท้าทายของธนาคารกลางทั่วโลกว่าจะช่างน้ำหนักอย่างไร ในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่การยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อได้ จะช่วยให้ธนาคารกลางมองทะลุหรือมองผ่าน และยังทำหน้าที่ได้ดีอยู่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจร้อนแรง ฟื้นตัวตามธรรมชาติก็ต้องปรับนโยบายเพื่อให้มั่นใจว่า Demand Pull Inflation จะไม่มาซำเติมตัวนี้

ประสานนโยบายการเงิน-คลังดูแลศก.

    ทั้งนี้ต้องช่างน้ำหนัก ระหว่างอัตราดอกเบี้ย และการบาลานด์ทั้ง 3เป้าหมาย โดยมีมิติเรื่องเวลาเข้ามาด้วย เพราะบางเรื่องมีประเด็นระยะสั้น ระยะยาว ดังนั้น กนง.ต้องมองไปข้างหน้าในการวางนโยบาย

     สำหรับการ เสิร์ชฟอร์ยีลด์ หรือการแสวงหาผลตอบแทนสูง มีบางจุดที่น่ากังวล เช่นสหกรณ์ ที่มีเงินเหลือแล้วนำไปลงทุนในตราสารหุ้น ตราสารทุน ซี่งเหล่านี้ต้องจับตา เพราะหากราคาผันผวน อาจนำมาสู่ความเสี่ยง และอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้

    นอกจากนี้ มองว่าการประสานนโยบายระหว่างภาคการเงินการคลัง มองว่าการทำงานคู่กับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการดูแลช็อกที่รุนแรง ซึ่งหากมองจากภาคการคลังในการดูแลเศรษฐกิจ พบว่า มีการใช้งบเพียง 13% ต่อจีดีพีหากเทียบกับสหรัฐที่ 20%

    ดังนั้นการใช้จ่ายสำหรับภาคการคลังในช่วงโควิดเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นพระเอกในการรองรับแรงกระทบจากช็อกใหญ่ๆได้ ทั้งนี้หากดูเสถียรภาพการคลังของประเทศถือว่าค่อนข้างดี