รู้จัก “Poison Pill” กลยุทธ์ “ทวิตเตอร์” ชน “อีลอน มัสก์”

รู้จัก “Poison Pill” กลยุทธ์ “ทวิตเตอร์” ชน “อีลอน มัสก์”

จากการประกาศเข้าเสนอซื้อหุ้น "ทวิตเตอร์" 100% ของ "อีลอน มัสก์" ทำให้บอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ต้องใช้กลยุทธ์ "Poison Pill" เพื่อป้องกันการถูกครอบงำทางธุรกิจอย่างไม่เป็นมิตร ชวนทำความรู้จัก Poison Pill ว่าคืออะไร และใช้งานอย่างไร

เมื่อไม่นานมานี้ อีลอน มัสก์ ได้ประกาศเข้าเสนอหุ้น “ทวิตเตอร์” 100% โดยทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าราว 1.5 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ได้มีกิจการผู้เข้าชิงเสนอซื้อทวิตเตอร์อย่าง โทมา บราโว บริษัทนอกตลาดด้านเทคโนโลยี ที่กำลังพยายามหาช่องทางซื้อทวิตเตอร์ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเข้าซื้อด้วยวงเงินจำนวนเท่าใด 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารของทวิตเตอร์ประกาศการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 เม.ย.) ที่จะใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่าการ วางยาพิษ หรือ “Poison pill” ซึ่งจะเป็นการมอบสิทธิให้กับเหล่าผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์รายเล็กสามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้ในราคาพิเศษ แต่ก็อาจทำให้ราคาต่อหุ้นของบริษัทลดลงไปด้วย

นอกจากนี้ อีกวิธีที่คล้ายกับ Poison Pill ก็คือ “Poison Put” ซึ่งล้วนเป็นกลยุทธ์โต้กลับการครอบงำกิจการอย่างไม่เต็มใจ

  •   "Poison Pill" และ "Poison Put" คืออะไร? และใช้ป้องกันการถูกครอบงำได้อย่างไร?  

ทั้ง “Poison pill” และ “Poison put” นั้นเป็นกลยุทธ์ป้องกันตัวจากการถูกครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตร หรือที่เรียกว่า “Hostile Takeover” อย่างที่มัสก์พยายามจะซื้อกิจการทวิตเตอร์แบบ 100%

ตามปกติแล้ว หากเป็นการเข้าซื้อกิจการที่เป็นมิตร ทั้งฝ่ายกิจการหรือนักลงทุนผู้ซื้อและฝ่ายกิจการที่จะถูกซื้อ (Target firm) นั้นจะต้องรับรู้และทำข้อตกลงในการซื้อขายกิจการ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมักจะได้ประโยชน์ร่วมกัน แต่การเข้าครอบงำกิจการโดยการทยอยเก็บหุ้น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ลักษณะเช่นนี้คือ การเข้าครอบงำหรือซื้อกิจการอย่างไม่เป็นมิตร เนื่องจากไม่ได้เป็นไปด้วยความยินยอมของทางฝ่ายกิจการผู้ที่จะถูกซื้อ

เมื่อเข้ามาอย่างไม่เป็นมิตร การสู้กลับด้วยกลยุทธ์ป้องกันตัวจึงเกิดขึ้น โดย Poison pill หรือการวางยาพิษทางธุรกิจนี้ คือ การพยายามลดความน่าสนใจของกิจการลงหรือทำให้การเข้าครองกิจการมีต้นทุนที่สูงขึ้น ผ่านการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่นการที่ทวิตเตอร์ทำ Poison pill ด้วยการขายหุ้นเพิ่มให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นในราคาส่วนลด เพื่อตัดกำลังผู้ที่ถือหุ้นเกิน 15%

วิธีการดังกล่าว สามารถจำลองสถานการณ์และอธิบายง่ายๆ คือ เมื่อกิจการจับได้ว่า มีผู้ที่คอยกว้านซื้อหุ้นของกิจการเป็นจำนวนมากในตลาด และคาดว่าน่าจะมีสะสมได้ราว 25 หุ้นแล้ว สมมติจำนวนหุ้นเดิมมีอยู่ 100 หุ้น จำนวน 25 หุ้นนั้นหมายถึง สิทธิความเป็นเจ้าของกิจการถึง 25% แต่ต่อมา ฝ่ายกิจการจึงได้มีการทยอยขายหุ้นเพิ่มเติมอีกราว 100 หุ้น ด้วยราคาที่ถูกลงให้กับนักลงทุนรายอื่นของกิจการ ในตอนนี้จากสิทธิของผู้ต้องการครอบงำกิจการก็จะลดลงเหลือเพียง 12.5% เท่านั้น 

จากผลลัพธ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ Poison pill ของทวิตเตอร์ จะมีผลให้การครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตรนั้นยากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นที่สูงขึ้นนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการทำ Poison pill ด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว ยังมีวิธี  Poison put ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำ Poison pill เช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่ฝ่ายกิจการออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ พร้อมกับมอบสัญญาสิทธิในการขาย (Put options) ได้ในราคาและปริมาณที่กำหนด ก่อนครบกำหนดสัญญา 

ฉะนั้น ผู้ซื้อจึงได้รับประกันราคาขายตราสารหนี้ชุดนี้ตลอดอายุสัญญาของสิทธิ แม้ว่าราคาตลาดจะลดลงไปเท่าใดก็ตาม ซึ่งฝ่ายกิจการอาจขายให้กับนักลงทุนที่ไว้ใจได้หรือผู้บริหารชุดปัจจุบัน และกำหนดราคาขายและระยะเวลาครบกำหนดสัญญาเพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ครอบงำกิจการได้อีกด้วย 

การกระทำข้างต้นจะลดแรงจูงใจของผู้ที่ต้องการครอบงำ เพราะการทำสัญญาดังกล่าวได้สร้างภาระผูกพันและค่าใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งการเข้ามาครอบงำบริษัทเช่นนี้อาจจะไม่สร้างประโยชน์เท่าไรนัก ทั้งยังมีต้นทุนที่สูงเกินไปอีกด้วย 

ดังนั้น วิธีการใดก็ตามที่จะช่วยลดความน่าสนใจต่อการครอบงำอย่างไม่เป็นมิตรมักเข้าข่ายกลยุทธ์ Poison pill ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยปกป้องผู้ถือหุ้นรายเล็กจากการเปลี่ยนแปลงขององค์กรที่เกิดขึ้นอย่างไม่เต็มใจ ทั้งยังเป็นการรักษาเสถียรภาพในการดำเนินงานของกิจการอีกด้วย 

----------------------------------

อ้างอิง

Adam Hayes

InfoQuest

Will Kenton