โจทย์ขับเคลื่อน“เมืองพัทยา” กรีนซิตี้-โมโนเรล-ฟื้นท่องเที่ยว

โจทย์ขับเคลื่อน“เมืองพัทยา” กรีนซิตี้-โมโนเรล-ฟื้นท่องเที่ยว

ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา เมืองพัทยา ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ‘นีโอพัทยา’ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิต ซึ่งมีหลายโครงการที่ยังต้องดำเนินการต่อภายในนายกเมืองพัทยาคนใหม่ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.2565

สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ที่พ้นจากตำแหน่งหลังจากการลาออกเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2565 ได้สรุปการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2561 ซึ่งได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริหารงานเพื่อปรับเปลี่ยนพัทยาให้มีเศรษฐกิจกระจายหลายด้าน ทั้งท่องเที่ยว พักอาศัย และประกอบธุรกิจให้สามารถปกป้องตัวเองได้ดีจากวิกฤติในอนาคตเพื่อให้เป็น เมืองต้นแบบของภาคตะวันออก โดยการดำเนินในช่วงที่ผ่านมามีหลายส่วนต้องดำเนินการต่อ

สนธยา ระบุว่า นอกจากการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และยังต้องขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤติ โดยเมืองพัทยาได้การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญชายหาดและวอล์คกิ้งสตรีท ถนนคนเดินพัทยาใต้ ชายหาดจอมเทียน การพัฒนาเกาะล้านสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แลนด์มาร์คใหม่ดึงดูดการท่องเที่ยว

“ขอฝากนายกเมืองพัทยาคนใหม่ให้สานต่อวิสัยทัศน์เมืองพัทยา ยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (2566-2570) เพื่อสร้างเมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดี”

รวมทั้งแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาแบบครบวงจร ขับเคลื่อนการลงทุนแบบบูรณาการ ลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะจุดวิกฤติน้ำท่วมซ้ำซากหรือชุมชนลุ่มต่ำ มีทีมฟื้นฟูสู่สภาพปกติทันที

ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ อีอีซี ได้จัดทำแผนแม่บทดิจิทัลพัทยาระยะ 5 ปี รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่ เน้นความเป็นสมาร์ทซิตี้ นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเมืองพัทยาเป็นดิจิทัลออฟฟิศให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกรวดเร็วโดยมีช่องทาง LINE@PATTAYA CONNECT สื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค การพัฒนาเครือข่าย 5G การเชื่อมต่อข้อมูลจราจรและกล้องวงจรปิดตามเวลาจริง หรือ Real time CCTV ลดปัญหาจราจร เพิ่มความปลอดภัย 

นอกจากนั้น เริ่มทดลองนำรถยนต์ไฟฟ้าทดลองวิ่งที่เกาะล้าน เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมสู่การเป็น Green City ปี 2565 และร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาระบบ EV

รวมทั้ง มีโครงการที่กำลังดำเนินการและต้องสานต่อเพื่ออนาคต ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ “ลานโพธิ์-นาเกลือ” สู่ตลาดอาหารทะเลระดับโลกเป็นแลนด์มาร์คใหม่ ได้รับงบประมาณและเริ่มก่อสร้างอาคารจอดรถ รองรับได้ 239 คันและจะปรับปรุงตลาดขายอาหารทะเลสดและของฝาก เปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเมืองพัทยามาร่วมสร้างรายได้การปรับปรุงสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสนามเด็กเล่น สะพานและจุดชมทัศนียภาพ ปากคลองนาเกลือ และคลองนกยาง (สะพานยาว) ซึ่งเป็นป่าชายเลนผืนสุดท้ายเมืองพัทยา

เมืองพัทยายังมีแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ รถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram Way จะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งขณะนี้ได้ศึกษาเส้นทางในแต่ละเฟสและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอยู่ในขั้นเตรียมการซึ่งมีผู้สนใจร่วมทุนจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายยกระดับการขนส่งเพื่อคนพัทยา นักท่องเที่ยว และประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก 

สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็น Feeder ร่วมกับระบบขนส่งมวลชนท้องถิ่นเมืองพัทยา เช่น รถสองแถว รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถแท็กซี่และรถประจำทางด้วย ซึ่งจะเชื่อมกับ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

รายงานข่าวจากเมืองพัทยาระบุว่า เมืองพัทยาเตรียมการรองรับกรณีผู้ได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีแนวโน้มเปลี่ยนที่ตั้งสถานีจากสถานีรถไฟพัทยากลาง ไปเป็น สถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง ต.ห้วยใหญ่ ด้วยการว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องเมืองพัทยาและสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ซึ่งมีระยะทางห่างจากจุดเดิม ลงไปทางทิศใต้ ของ เมืองพัทยา 15 กิโลเมตร งบประมาณศึกษาเพิ่มเติม 35 ล้านบาท ตั้งงบประมาณปี 2566-2567

ทั้งนี้ จากการศึกษาโครงการฯนี้ได้ผลการศึกษาได้คัดเลือกรูปแบบการก่อสร้างเป็น รถไฟฟ้ารางเบาสายสีเขียว 1 สายตามผลการศึกษาระบบโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะของเมืองพัทยา 4 สาย

สำหรับสายสีเขียวมีระยะทาง 9.9 กิโลเมตร รวม 12 สถานี และ 1 Spur line (12 สถานีใหญ่ 1 สถานีย่อย) เริ่มสถานีที่1 สถานีรถไฟพัทยากลาง สิ้นสุดท่าเรือแหลมบาลีฮาย

ส่วนงบประมาณการก่อสร้างโครงการก่อสร้างเป็นเงินต้นทุนและค่าใช้จ่ายดำเนินการรวม 26,922 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน 2,500 ล้านบาท) โดยมีอัตราค่าโดยสารแรกเริ่มที่ 16 บาท และมีปริมาณผู้โดยสารปีแรก 42,361 คน

รวมทั้งผลการศึกษาเห็นควรการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) บนศูนย์ซ่อมบำรุง (DAPOT) บริเวณถนนพัทยาซอย 3 ถนนพัทยาสาย 3 ใกล้ท่าเรือแหลมบาลีฮาย บนพื้นที่รวม 44 ไร่ หรือ 71,200 ตารางเมตร