เตรียมรับมือ 'สึนามิ' น้ำมัน-ราคาสินค้า

สภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ผลกระทบจากโควิดที่ยังไม่จบและถูกซ้ำเติมจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนซึ่งไม่ว่าจะจบอย่างไรแต่สร้างบาดแผล “War Pain Point” ต้องใช้เวลาอีกเป็นปี

ไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2565 ผ่านไปแล้วนอกเหนือจากเปิดตัวรู้เบอร์ผู้สมัครชิงผู้ว่ากทม.ที่มีซุปตาร์ทางการเมืองหลายคนเข้ามาเป็นตัวเลือก ด้านเศรษฐกิจมีเซอร์ไพร์สที่มีผลกระทบรุนแรงเกินกว่าที่คาดกล่าวคือช่วงรอยต่อปีใหม่มีการทดลอง “Test & Go” เพื่อหวังนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งปีที่ผ่านมาโปรโมทอย่างไรมีนักท่องเที่ยวเพียง 4.3 แสนคนหรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนโควิด-19 จำนวน 38.89  ล้านคน ภาคท่องเที่ยวเป็นความหวังของประเทศมีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีร้อยละ 19.1 เกี่ยวข้องกับแรงงานในระบบไปถึงเศรษฐกิจฐานรากมากกว่า 3 ล้านคน หากท่องเที่ยวไม่ฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวมก็ยากจะกลับมาเหมือนเดิม ไตรมาสที่ผ่านมาเจอโควิด “โอมิครอน” เล่นงานแบบเต็มๆ ยอดผู้ติดเชื้อและผลตรวจ ATK แต่ละวันพุ่งสูงทำสถิติ ช่วงศุกร์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อถึง 50,710 คนและคาดว่าหลังวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ถึงจะมีมาตรการอะไรออกมาคนไทยชอบสนุกตัวเลขอาจพุ่งสูงกว่านี้

ภาวะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกและไทยที่เกินกว่าคาดการณ์หรือ “Worst Case Scenario” คือสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นสงครามเต็มรูปแบบนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นช่วงแปดทศวรรษที่ผ่านมา สงครามเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันถึงจะมีท่าทีว่าอาจเริ่มเจรจาหาทางออกแต่คงไม่ง่ายเพราะยูเครนเป็นฝ่ายถูกรุกรานต้องการดินแดนที่ถูกยึดคืนกลับมา ด้านประธานาธิบดีปูตินเดิมพันสูงเพราะ“ถลำตัว”มากเกินกว่าจบเกมส์แบบมือเปล่าเพราะเสียหายทั้งด้านทางทหาร เศรษฐกิจที่บอบช้ำจากสงครามและการถูกแซงชั่นทางเศรษฐกิจไม่สามารถค้าขายกับนานาประเทศอาจใช้เวลาฟื้นตัวไม่น้อยกว่า 3-4 ปีซึ่งมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ผลกระทบจากโควิดที่ยังไม่จบและถูกซ้ำเติมจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนซึ่งไม่ว่าจะจบอย่างไรแต่สร้างบาดแผล “War Pain Point” ต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยถูกผูกติดไว้กับเศรษฐกิจโลกมีเพียงภาคส่งออกที่ยังขยายตัวช่วยค้ำยันเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนแอจากกำลังซื้อของประชาชนที่รายได้ลดน้อยถอยลง ภาคบริโภคซึ่งเป็นเซกเตอร์ใหญ่สุดของเศรษฐกิจยังพึ่งพานักท่องเที่ยวปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยหายไปเกินครึ่ง อีกทั้งต้องพึ่งการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการปรับเป้าหลายรอบอย่างเก่งปีนี้อาจได้ประมาณ 5-6 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 15.4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนโควิด ภาคท่องเที่ยวไวรัสโอมิครอนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญถึงแม้จะดีเดย์ 1 ก.ค. ยกเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนโรคหวัดบนสมมติฐานคนติดเชื้อไม่มากแต่การระบาดคนติดเชื้อแต่ละวันมากๆ ภาคท่องเที่ยวคงไม่ได้กลับฟื้นตัวได้ในเร็ววัน

อย่างไรก็ตามการใช้ชีวิตของประชาชนปรับตัวรับสภาพว่าต้องอยู่กับโควิดอีกนาน พวกที่ไม่ตกงานหรือพอมีสตางค์ออกมาจับจ่ายใช้สอยหรือแค่เดินตากแอร์หลบร้อนตามห้างสรรพสินค้าและ/หรือโมเดิร์นเทรด ด้านสถานประกอบการและโรงงานถึงจะมีการติดเชื้อมีการปรับตัวรับสภาพทยอยลด Work From Home กลับมาทำงานตามปกติเพราะธุรกิจและการจ้างงานต้องเดินหน้าไม่เหมือนช่วงก่อนที่หน่วยงานรัฐ “ตกใจ” ไปปิดธุรกิจซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานกระทบสภาพคล่องจนสถาบันการเงินต้องออกโครงการปรับโครงสร้างหนี้และแรงงานตกงานไปจำนวนมาก รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นแสนล้านในการเยียวยา