พลังงานดันเงินเฟ้อเดือนมี.ค.สูง 5.73%

พลังงานดันเงินเฟ้อเดือนมี.ค.สูง 5.73%

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือน มี.ค.สูง5.73% จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น พร้อมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี65 ใหม่อยู่ 4.5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมี.ค. 2565 เท่ากับ 104.79  สูงขึ้น 5.73 %(YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากสินค้าและบริการในประเทศปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน ทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบที่นำเข้า และค่าขนส่ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบที่รุนแรงเพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจมีความเปราะบาง 

พลังงานดันเงินเฟ้อเดือนมี.ค.สูง 5.73%
 

สำหรับสินค้า ในกลุ่มอาหารสดปรับสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วไม่มากขณะที่ข้าวสาร ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เทียบกับเดือนที่ผ่านมา สูงขึ้นเพียง0.66 %เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยสินค้าบางรายการราคาปรับลดลง

"ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ 5.73% ยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่สูงขึ้น 32.43%  โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95 %ซึ่งเป็นไปตามราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) ไข่ไก่ ผักสดบางชนิด   เครื่องประกอบอาหาร และอาหารปรุงสำเร็จ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ รวมทั้งฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการ อาทิ ข้าวสาร  ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง"นายรณรงค์ กล่าว

กระทรวงพาณิชย์ มีการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2565 เป็นระหว่าง 4.0 - 5.0 % ค่ากลางที่ 4.5%จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนธ.ค. 2564 ระหว่าง 0.7 – 2.4 % ค่ากลางที่ 1.5 % และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง  ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐ ทั้งการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทย