กรมบัญชีกลางไม่ขึ้นแบล็กลิสต์”บูรพา”ทิ้งงานภาครัฐ

กรมบัญชีกลางไม่ขึ้นแบล็กลิสต์”บูรพา”ทิ้งงานภาครัฐ

กรมบัญชีกลางเผย คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างมีมติไม่เพิกถอน บริษัท บูรพาฯ ออกจากรายชื่อผู้ทิ้งงานของ กฟภ.ในโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี มูลค่า 125 ล้านบาท

นางสาววารี แว่นแก้ว รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ได้มีการส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาให้บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน (blacklist) โดยภายหลังที่อธิบดีกรมบัญชีกลางปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงานของ กฟภ. ในงานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี มูลค่า 125 ล้านบาท

บริษัทฯ ได้มีการขออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา เกิดจาก กฟภ. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ตามสัญญาได้ และไม่มีการขยายระยะเวลาการทำงานให้บริษัทฯ ตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ประกอบกับ ก่อนที่ กฟภ. จะส่งเรื่องมายังปลัดกระทรวงการคลัง กฟภ. เคยพิจารณาไม่สั่งให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงานมาแล้ว

กรมบัญชีกลางในฐานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) พิจารณาคำอุทธรณ์ของบริษัทฯ แล้ว เห็นว่า มีการโต้แย้งประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการพิจารณา และมีการชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นเดิม อันเป็นสาระสำคัญ ดังนี้

1.ประเด็นเรื่องพื้นที่การทำงาน ปรากฏว่า กฟภ. ส่งมอบพื้นที่ได้บางส่วน แต่พื้นดังกล่าวมีปัญหาและอุปสรรคต่อการทำงาน เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ก่อสร้าง การแจ้งให้หยุดงาน และปัญหาจากการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ที่ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถทำงานได้ตามแผนที่กำหนด โดยปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังไม่สามารถหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานได้

2.ประเด็นเรื่องขั้นตอนและแผนการทำงาน ปรากฏว่า ในชั้นการพิจารณาสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า กฟภ. ส่งมอบพื้นที่บางส่วน โดยให้บริษัทฯ ดำเนินการไปก่อนในส่วนของพื้นที่ที่ส่งมอบได้ แต่ในชั้นการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งกลับปรากฏข้อมูลเพิ่มว่า ตามแผนงานกำหนดให้บริษัทฯ ต้องเริ่มดำเนินการโครงการดังกล่าวจากงานฐานรากเป็นลำดับแรก ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนอื่น ๆ และไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนอื่นก่อนงานฐานรากได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กฟภ. ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างบางส่วน แต่พื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน เช่น เหตุการณ์ฝนตกน้ำท่วม เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงชนิดฐานราก ปัญหาการย้ายแนวสาธารณูปโภค เพื่อหลบแนวการก่อสร้างที่เป็นงานเพิ่มจากสัญญา

โดยเหตุหลายประการเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดของบริษัทฯ แต่ส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถทำงานฐานรากและดำเนินการในขั้นตอนอื่น ๆ ตามแผนงานได้ จึงถือว่ามีเหตุอันสมควร

3.ประเด็นเรื่องระยะเวลาการทำงาน บริษัทฯ ไม่สามารถทำงานตามแผนได้ เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เหตุการณ์อุทกภัย ฝนตกน้ำท่วมพื้นที่ก่อสร้างนอกเหนือจากระยะเวลาที่กำหนดตามมติคณะรัฐมนตรี การแจ้งให้หยุดงาน และการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ จนทำให้มีการแก้ไขแบบการก่อสร้าง ซึ่งบริษัทฯ มีการขอขยายระยะเวลาหลายครั้ง แต่ กฟภ. ขยายระยะเวลาให้เฉพาะเหตุการณ์อุทกภัยเท่านั้น

4.ประเด็นเรื่อง กฟภ. เคยพิจารณาไม่สั่งให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน เห็นว่า อำนาจการพิจารณาสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงการคลัง การที่ กฟภ. เคยพิจารณาไม่สั่งให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ก็ไม่กระทบอำนาจการพิจารณาของปลัดกระทรวงการคลังแต่อย่างใด

โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวต่อว่า คณะกรรมการวินิจฉัยได้พิจารณาข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานแล้ว เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถทำงานได้ตามสัญญา ล้วนแล้วเป็นเหตุสุดวิสัยที่บริษัทฯไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่บริษัทฯ ไม่สมควรถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน

โดยการพิจารณาครั้งนี้ มีความโปร่งใส เป็นกลาง และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการซึ่งมีบุคคลภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการในการพิจารณาด้วย เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (แห่งประเทศไทย) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดังนั้น การพิจารณาครั้งนี้จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานอย่างที่เคยยึดเป็นแนวปฏิบัติเสมอมา