"อาเซียนโปแตช" เร่งเพิ่มทุน หนุนผลิตเชิงพาณิชย์

"อาเซียนโปแตช" เร่งเพิ่มทุน หนุนผลิตเชิงพาณิชย์

ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละประมาณ 4 ล้านตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโพแทชเซียมประมาณ 700,000 ตัน คิดเป็น 9,000 ล้านบาทต่อปี 

ขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตโพแทสเซียมสูงมาก คาดว่าไทยมีสำรองแร่โพแทชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส เยอรมนี ซึ่งสามารถพบแหล่งแร่โพแทซขนาดใหญ่ได้ใน 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.อุดรธานี และจ.นครพนม และแอ่งโคราช ประกอบด้วย จ.ขอนแก่นจ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และจ.ชัยภูมิ

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา และบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ

พลโทมงคล จิวะสันติการ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังหาผู้ร่วมลงทุนในการสร้างเหมือง โดยประเมินว่าจะใช้เงินทุนเบื้องต้นประมาณ 20,000 ล้านบาท ในการสร้างอุโมงค์ โดยจะเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยกำลังการผลิตแร่โพแทชได้ 1.235 ล้านตันต่อปี บนพื้นที่สัมปทานทั้งหมด 9,707 ไร่

“เชื่อว่าจะมีผู้สนใจร่วมทุนแน่นอน เนื่องจากแร่โพแทชมีมูลค่าสูงขึ้นจากเดิม 200 ดอลลาร์ต่อตัน ปัจจุบันราคาพุ่งขึ้นแตะ 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งไทยมีความต้องการนำเข้าปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตแร่โพแทช จะทำให้ไทยได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นการสร้างเหมืองแร่โพแทชในประเทศได้เองจะช่วยให้ราคาปุ๋ยถูกลงและมีความมั่นคงโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร”

ทั้งนี้ บริษัท ได้อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน อายุ 25 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 6 ก.พ. 2558 - 5 ก.พ. 2583 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้หยุดดำเนินการหลังจากไม่มีการใส่เงินทุนเพิ่ม เนื่องจากโครงการมีกระทรวงการคลังผู้ถือหุ้น 20% ซึ่งไม่มีการอนุมัติเพิ่มทุนในช่วงสถานการณ์โควิดที่มีความต้องการใช้ในด้านอื่น จึงต้องหาทางอ้อมที่จะเป็นผู้ลงทุนแทนกระทรวงการคลัง

ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกันในแวดวงธุรกิจ เพื่อเปิดกว้างรับผู้ที่สนใจร่วมทุนทั้งเอกชน รัฐวิสาหกิจจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีเอกชนใหญ่ในไทยหลายแห่งที่มีศักยภาพในการร่วมลงทุน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าเห็นด้วยและต้องการสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการลงทุนได้เร็ว

\"อาเซียนโปแตช\" เร่งเพิ่มทุน หนุนผลิตเชิงพาณิชย์ สำหรับโครงการเหมืองแร่อาเซียนโปแตช เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนภายหลังจากการลงนามในปฏิญญาสมานฉันท์เมื่อปี พ.ศ. 2519 ประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้โครงการนี้เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN INDUSTRIAL PROJECT) ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2532 โครงการมีจุดประสงค์ที่จะดำเนินการทำเหมืองและโรงแต่งแร่โพแทชที่ อำเภอบำเหน็จณรงค์จังหวัดชัยภูมิ เพื่อผลิตปุ๋ยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง

รายงานข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ในส่วนของผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการเหมืองแร่โพแทชนั้นนอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ผู้รับประทานบัตรจะต้องจ่ายประมาณ 15,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีค่าภาคหลวงแร่เป็นเงินประมาณ 16,600 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ 

โดยจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน 6,640 ล้านบาท และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9,960 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ก็จะแบ่งให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโครงการ 3,320 ล้านบาท

ซึ่งส่วนนี้ก็จะแบ่งให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโครงการ 3,320 ล้านบาทองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ประทานบัตร 1,660 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดอื่น 1,660 ล้านบาท นอกจากนี้ มีการจัดให้มีกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม 740 ล้านบาท กองทุนสุขภาพของประชาชน 57.5 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง 325 ล้านบาท