ปมรัสเซีย - ยูเครนลามลงทุ่ง “ปุ๋ยเคมี” จี้พาณิชย์เลิกคุมราคา

ปมรัสเซีย - ยูเครนลามลงทุ่ง  “ปุ๋ยเคมี” จี้พาณิชย์เลิกคุมราคา

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน กำลังเป็นสาเหตุให้สินค้าหลายรายการเกิดความผันผวนอย่างหนัก แม่ปุ๋ย ที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรมต้องเร่งดูแลเรื่องนี้โดยเร็ว

เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เปิดเผยว่า การนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย มีประมาณ ปีละ 5 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจาก จีน แคนาดา เยอรมนี เบลารุส รัสเซีย ตะวันออกกลาง ยูเออี เป็นต้น ซึ่งความตึงเครียดระหว่างยูเครน กับรัสเซีย ทำให้ราคาปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2564 จนถึงปัจจุบันที่รัสเซียประกาศยึดยูเครน ยิ่งทำให้ราคาปุ๋ยปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกเท่าตัว

ปมรัสเซีย - ยูเครนลามลงทุ่ง  “ปุ๋ยเคมี” จี้พาณิชย์เลิกคุมราคา

เนื่องจากรัสเซียเป็นตลาดใหญ่ 1 ใน 4 ของโลก แม้ว่าไทยพึ่งการนำเข้าจากรัสเซียไม่มาก แต่สหภาพยุโรป(อียู) พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก เมื่อระบบการเงินรัสเซียถูกตัดออกจากระบบการเงินโลกจึงกระทบกระเทือนการค้าไปทั้งโลก ซึ่งไทยที่มีการนำเข้าปุ๋ยจากเบลารุสที่ต้องผ่านเมืองท่าที่ดีที่สุดคือ ยูเครน จึงเกิดปัญหา นำเข้าลำบาก และต้องสั่งซื้อผ่านจีน และสิงคโปร์แทน ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นไปอีก

สุภัค เหล่าดี เลขานุการฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า ในวันที่ 8 มี.ค.สมาคม จะยื่นหนังสือต่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอให้ปลดล็อกราคาปุ๋ยให้เป็นไปตามราคาในตลาด 

ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการปุ๋ยในการนำเสนอต้นทุนการผลิตให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณากำหนดเพดานปุ๋ยขายปลีกในฤดูกาลผลิตที่จะถึงในเดือนพ.ค. นี้เป็นต้นไป

 เนื่องจากสถานการณ์วิกฤติยูเครน กับรัสเซีย ส่งผลให้ ราคานำเข้าแม่ปุ๋ย ขณะนี้ปรับเพิ่มขึ้น เป็น 625 ดอลลาร์ต่อตัน จากเดิม 350-400 ดอลลาร์ต่อตัน หรือเกือบ 100 % ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าตัดสินใจสั่งนำเข้า เพราะกังวลเรื่องราคาขายปลีกในประเทศ

โดยจากปุ๋ยเคมีที่ไทยนำเข้ารวมประมาณ 5 ล้านตันต่อปีนั้น ได้นำเข้าโพแทสเซียม(0-0-60) จากเบลารุส ประมาณปีละ 2 แสนตัน นำเข้าปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 16-20-0 จากรัสเซีย ประมาณ 4-5 แสนตัน โดยรวมแล้วคิดเป็น 14-15% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของไทย

ในส่วนของโพแทสเซียม นั้น ไทยมีแหล่งผลิตเกรดที่ดีที่สุดในอุดรธานี และชัยภูมิ แต่ไม่สามารถขุดออกมาใช้ได้ เนื่องจากถูกต่อต้านจากกลุ่มองค์กรเอกชน(เอ็นจีโอ) โดยมีความกังวลว่า การขุดแร่ดังกล่าวหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จะทำให้เกลือไหลลงสู่พื้นดิน และแพร่กระจายจนเกิดปัญหาดินเค็ม ซึ่งแก้ไขได้ยาก

“ปัจจุบันเทคโนโลยีดีขึ้น ทำให้สปป.ลาว ขุดและขายให้ไทยได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งสมาคมเสนอให้รัฐบาลพิจารณากรณีดังกล่าวหลายครั้ง และหลายรัฐบาลแล้วแต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา”

สุภัค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา การทำนาปรังเกษตรกรยังไม่ต้องการปุ๋ยมากนักแต่ เดือนพ.ค. นี้ซึ่งเป็นช่วงทำนาปีทั้งประเทศจะมีความต้องการมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องสั่งซื้อล่วงหน้ามาเตรียมไว้ ส่วนหนึ่งเพราะต้องแย่งซื้อกับประเทศคู่แข่งอื่น เนื่องจากเบลารุส และรัสเซียมีปัญหา และโดยศักยภาพของผู้ประกอบการไทย คาดว่าพอจะต่อรองได้ไม่ถึงกับทำให้ประเทศไทยขาดแคลน แต่จะได้ในราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องรีบตัดสินใจ

“ที่ผ่านมาสมาคม ให้ความช่วยเหลือนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด ในปีที่ผ่านมาให้การสนับสนุนลดราคาปุ๋ยกระสอบละ 50 บาท ถึง 5 ล้านกระสอบ พร้อมกับตรึงราคาถึง 3 รอบ ซึ่งในปีนี้ หากนำนโยบายเดิมมาใช้อีก คาดว่าคงมีหลายผู้ประกอบการขอถอนตัว เพราะต้นทุนปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากจริงๆ “

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าได้กำหนดให้ปุ๋ยเคมีเป็นสินค้าควบคุมและกำหนดมาตรการให้ผู้ว่าจ้างผลิต/ผู้นำเข้า แจ้งราคาและรายละเอียดสินค้า ส่วนลด และห้ามจำหน่ายแตกต่างจากที่แจ้งไว้ เว้นแต่ได้รับอนุญาต และกำหนดให้ผู้จำหน่ายปลีกปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก

 ทั้งนี้ ในส่วนของการดูแลที่ต้นทาง ( ณ โรงงาน) ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ยเคมี เพื่อดูแลไม่ให้การปรับราคาขายส่ง ณ โรงงาน สูงเกินภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์