“อู่ตะเภา” ชูทราเวลบับเบิล หนุนตลาดใหม่ “อินเดีย-ซาอุฯ”

“อู่ตะเภา” ชูทราเวลบับเบิล หนุนตลาดใหม่ “อินเดีย-ซาอุฯ”

ท่าอากาศยานอู่ตะเภาหวัง “ทราเวลบับเบิล” ดึงผู้โดยสารตลาดใหม่ซาอุดิอาระเบีย - อินเดีย ฟื้นอุตสาหกรรมการบินปีนี้พร้อมเปิดสถิติล่าสุดตลาดในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง สะสม1.5 หมื่นคน

สนามบินอู่ตะเภาถูกกำหนดเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 โดยเริ่มมีการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินซึ่งช่วงที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนเที่ยวบินปรับลดลง แต่ปัจจุบันได้มีการเตรียมแผนเพื่อทำการตลาดรองรับไว้

พลเรือเอก วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เปิดเผยว่า ภาพรวมปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เข้าออกท่าอากาศยานอู่ตะเภาในขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ ขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศยังเป็นเที่ยวบินพิเศษที่ทำการขนส่งผู้โดยสารกลับบ้าน หรือเที่ยวบินทางทหารที่มีการขนส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์

อย่างไรก็ดี ท่าอากาศยานอู่ตะเภาอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการณ์ผู้โดยสารและเที่ยวบินในปี 2565 ภายหลังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 สายพันธุโอมิครอน ซึ่งคาดว่าประมาณการณ์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยเบื้องต้นจะเป็นการปรับประมาณการณ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่อาจไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศฟื้นตัวมากนัก

“ประมาณการณ์เดิมเราทำตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 ซึ่งยังไม่ได้มีการแพร่ระบาดโอมิครอน และคาดว่าจะสามารถเปิดประเทศไทย แต่สถานการณ์ในขณะนี้มีโอมิครอน และยังผ่านช่วงฤดูการท่องเที่ยวไปแล้ว ผู้โดยสารระหว่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางได้ จึงทำให้เราต้องประเมินใหม่”

พลเรือเอกวรพล กล่าวว่า ผู้โดยสารระหว่างประเทศที่จะเดินทางมายังท่าอากาศยานอู่ตะเภาส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติชาวรัสเซียและจีน ซึ่งขณะนี้ผ่านฤดูการท่องเที่ยวของทั้งสองกลุ่มไปแล้ว จึงคิดว่าในปีนี้ตลาดหลักกลุ่มนี้น่าจะยังไม่เดินทางมา แต่ท่าอากาศยานอู่ตะเภายังคาดหวังจากมาตรการทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) ที่อาจจะส่งผลให้สายการบินได้ทำการตลาดใหม่ และนำผู้โดยสารกลุ่มใหม่เข้ามา อาทิ ซาอุดิอาระเบีย และอินเดีย

สำหรับภาพรวมปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานอู่ตะเภารอบ 5 เดือน ของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564 - ก.พ.2565) มีจำนวนผู้โดยสารรวม 15,744 คน แบ่งเป็น ผู้โดยสารภายในประเทศ 15,047 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 697 คน 

ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินมีจำนวนรวม 1,246 เที่ยว แบ่งเป็น เที่ยวบินภายในประเทศ 1,199 เที่ยว และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 47 เที่ยว

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเตรียมความพร้อมรองรับการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้พัฒนามาตรฐานบริการด้านต่างๆ และล่าสุดได้รับ ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ (Public Aerodrome Operating Certificate : PAOC) เป็นเอกสารที่ออกให้กับเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินที่ได้รับอนุญาตในการเปิดให้บริการแก่สาธารณะ ทำให้สามารถยืนยันได้ถึงมาตรฐานความปลอดภัยของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยได้รับเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 

สนามบินอู่ตะเภา นับเป็นสนามบินสาธารณะแห่งที่ 2 และสนามบินนานาชาติแห่งแรกที่ได้รับมอบใบรับรองนี้ภายใต้การพิจารณาด้วยกระบวนการใหม่ตามมาตรฐานสากล ภายหลังการจัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

สนามบินอู่ตะเภา ปัจจุบันได้ให้บริการสาธารณะแก่อากาศยานภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง มีความยาวทางวิ่ง 3,505 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้ทั้ง B777, B787, A330 รวมถึง Antonov 

ในขณะที่สนามบินแห่งนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของอีอีซี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3" ที่เชื่อมต่อกับท่าสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โดย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ ยูทีเอ ได้ออกแบบการพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภามีความชัดเจนแล้วกว่า 80% ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีเอกชนกลุ่มต่างชาติสนใจสอบถามข้อมูลเพื่อเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก โดยแผนลงทุนท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่เดิมยูทีเอประเมินใช้งบ 186,566 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมงบซ่อมบำรุงตลอดสัญญา 50 ปี 61,849 ล้านบาท ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 งบลงทุน 31,290 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขนาด 157,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 งบลงทุน 23,852 ล้านบาท พัฒนาอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี 

ระยะที่ 3 งบลงทุน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี 

ระยะที่ 4 งบลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองของเมืองการบิน เพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีแผนตั้ง บริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ สกพอ.ถือหุ้น 100% โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่คล่องตัวสามารถดึงการลงทุนของเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (MRO) การฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน

รวมทั้งจะบริหารพื้นที่อุตสาหกรรมการบินในสนามบินอู่ตะเภาพื้นที่ 474 ไร่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินที่เป็นโครงการที่อยู่ในสัมปทานของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ที่ได้สิทธิในการพัฒนาและบริหารสนามบิน และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด จะทำงานร่วมกับเอกชนและหน่วยงานอื่นเพื่อให้การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาสมบูรณ์ และช่วยให้ไทยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินได้สำเร็จในอนาคต