สกพอ.ห่วงเศรษฐกิจชะลอ เร่งดันลงทุนการลงทุน“อีอีซี”

สกพอ.ห่วงเศรษฐกิจชะลอ  เร่งดันลงทุนการลงทุน“อีอีซี”

การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีแนวโน้มขยายตัว ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีผลกระทบรุนแรงน้อยกว่าการระบาดระลอกที่ผ่านมา และประชาชนมีความระมัดระวังการแพร่ระบาดมากขึ้น ในขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลายประเภทขยายตัวได้ดี

ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัจจุบันได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นและกดดันอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.2565 สูงขึ้น 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 และต้องการเร่งรัดการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอีอีซี

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 9 มี.ค.2565 จะมีวาระการรับทราบภาวะการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) โดยมีมูลค่าการขอรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซีรวม 219,922 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34% คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 34% ของมูลค่าการขอส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดของประเทศ

ขณะที่มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีอยู่ที่ 184,082 ล้านบาท แบ่งเป็นการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (Fist S-Curve) สัดส่วน 44% การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) 10% และอุตสาหกรรมอื่น 48%

อย่างไรก็ตามมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมเกษตร การแพทย์ ท่องเที่ยว และการศึกษามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 517%

ทั้งนี้หากพิจารณาการลงทุนที่กระจายรายจังหวัดในพื้นที่อีอีซี พบว่าการลงทุนในพื้นที่ จ.ระยอง มีการลงทุน 79,012 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44% จ.ชลบุรี มีการลงทุน 65,797 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 36% และ จ.ฉะเชิงเทรา มีการลงทุนรวม 39,273 ล้านบาท คิดเป็น 21%

ขณะที่เครื่องชี้วัดการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดจดทะเบียนรถบรรทุกและเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวลดลงจากเดือนก่อน 

ส่วนเครื่องชี้ด้านอุปทานในธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัว เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน แม้จำนวนผู้ติดเชื่อจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะการฉีดวัคซีนมีการกระจายตัวและมีความครอบคลุมประชากรในสัดส่วนสูง รวมทั้งอาการของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรงมากนัก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า

นักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนสูงสุดในพื้นที่อีอีซี 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนในปีที่ผ่านมา 19,455 ล้านบาท ประเทศจีนมีการลงทุน 14,183 ล้านบาท และการลงทุนจากประเทศเนเธอแลนด์มีการลงทุน 9,624 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรกที่ลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มีการลงทุน 31,703 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน 29,443 ล้านบาท และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มีการลงทุนรวม 12,265 ล้านบาท

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีมีการวางเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้าไว้ที่ 2.2 ล้านบาท โดยในการดึงดูดการลงทุนจะเน้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น New S- Curve มากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื่้อเพลิงชีวภาพ และไบโอเคมิคอล อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 

สำหรับรายงานภาวะเศรษฐกิจในอีอีซีในเดือน ก.พ.2565 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจะรุนแรงน้อยกว่าระลอกก่อนหน้านี้ เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับประชาชนและภาคเอกชนมีการปรับตัวและระมัดระวังด้านสาธารณสุขมากขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามพัฒนาการการแพร่ระมาดของโรค รวมถึงความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน ราคาพลังงานและเงินเฟ้อ

ส่วนเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.2565 ในพื้นที่อีอีซีปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการส่งออกที่ยังเติบโตดี แม้เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2565 ชะลอตัวลงแต่เศรษฐกิจอีอีซี ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งสะท้อนจากเครื่องชี้วัดดัชนีด้านการบริโภคภาคเอกชน อาทิ ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ 

รวมทั้ง Google Mobility Index ที่ขยายตัวสูงกว่าเดือนก่อน และยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งทั่วประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหดตัวน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากรายได้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคกลาง-ภาคใต้ ฟื้นตัวตามภาคการส่งออกที่ขยายตัวดี และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอีอีซี ที่มีภาคอุตสาหกรรมในสัดส่วนสูง

“ในระยะถัดไปเศรษฐกิจไทยและอีอีซี มีแนวโน้มชะลอตัวสะท้อนจากดัชนี Google Mobility" 

โดยดัชนีดังกล่าวที่สะท้อนการเดินทางของประชาชนลดลงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือน ก.พ.2565 ทำให้ภาครัฐต้องยกระดับมาตรการจำกัดการแพร่ระบาด"

อย่างไรก็ดี ภาครัฐยังมีนโยบายคงพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวและเริ่มกลับมาใช้นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไปที่ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซี