นายกฯ คิกออฟ“มาบตาพุด” กนอ.เร่งประมูลเฟส 3 ช่วงที่ 2

นายกฯ คิกออฟ“มาบตาพุด”  กนอ.เร่งประมูลเฟส 3 ช่วงที่ 2

นายกฯ คิกออฟมาบตาพุดเฟส 3 ช่วงที่ 1 ปั้นอีอีซีสู่ศูนย์กลางขนส่งโลจิสติกส์ทางน้ำ หนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็กครบวงจร กนอ.เร่งประมูลช่วงที่ 2 สร้างสาธารณูปโภครองรับพื้นที่เก็บสารเคมี ปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน

โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำ และประตูการค้าเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่และการจ้างงานในท้องถิ่น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิด โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ผ่านระบบออนไลน์ ว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในอีอีซี ก่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ 1 ใน 5 ของอีอีซี รองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร และอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี รวมทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาสู่พื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายโครงการดังกล่าวเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำ และเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ ที่สำคัญยังมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่นให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 

"ผมขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมและใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ผลักดันและส่งเสริมผลประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนคนไทยในทุกด้าน ทำให้อีอีซีและประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุน นักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่ต้องเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงในทุกมิติ สร้างสมดุลในทุกด้าน ทั้งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 บนพื้นที่ 1,000 ไร่ มูลค่าการลงทุน ประมาณ 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งานถมทะเลและขุดลอกร่องน้ำ มูลค่าลงทุน 12,900 ล้านบาท และท่าเรือก๊าซ ลงทุน 35,000 ล้านบาท ส่วนช่วงที่ 2 การลงทุนท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ลงทุน 4,300 ล้านบาท และคลังสินค้าหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง ลงทุน 3,200 ล้านบาท

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า หากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) เสร็จสมบูรณ์ จะรองรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในอนาคต เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับและขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต คาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2567 และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2569 ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่

ทั้งนี้ ล่าสุด กนอ.ได้เริ่มเปิดขายซองประกวดราคาโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ในวันที่ 28 ก.พ.2565 ถึงวันที่ 11 มี.ค.2565 คาดว่าจะมีภาคเอกชน 5-6 ราย สนใจยื่นซองเข้าเสนอราคาโครงการ โดยตั้งเป้าหมายให้โครงการดังกล่าวเปิดให้บริการได้พร้อมกันในปี 2569

นายกฯ คิกออฟ“มาบตาพุด”  กนอ.เร่งประมูลเฟส 3 ช่วงที่ 2 รายงานข่าวจาก กนอ.ระบุว่า การดำเนินงานในส่วนของช่วงที่ 2 เป็นการก่อสร้างสาธารณูปโภคบนที่ดินที่ถมแล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นที่เก็บสารเคมี ปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว มูลค่า 4,300 ล้านบาท และคลังสินค้าหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 3,200 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 แปลง ได้แก่ 

พื้นที่แปลง A เป็นพื้นที่สำหรับท่าเรือสินค้าเหลว มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า ประมาณ 814 เมตร เพื่อรองรับปริมาณสินค้าประมาณ 4 ล้านตันต่อปี 

พื้นที่แปลง C ใช้เป็นคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีเฉพาะพื้นที่หลังท่าประมาณ 150 ไร่ โดยเอกชนที่ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิในการพัฒนาพื้นที่ทั้งสองแปลง เป็นระยะเวลารวม 32 ปี แบ่งเป็นระยะก่อสร้าง 2 ปี และระยะเวลาประกอบธุรกิจ 30 ปี

นอกจากนี้ กนอ.ได้เสนอปัจจัยสนับสนุนหลายด้านที่อำนวยความสะดวกให้เอกชนทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่เชื่อมโยงเต็มรูปแบบมากขึ้นของภาครัฐ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอม และแก่งคอย-มาบตาพุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุววรณภูมิ-อู่ตะเภา) สนามบินอู่ตะเภา โครงการถนนมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด โครงการสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์ และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

สำหรับท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดจัดตั้งขึ้นตามนโยบายภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESB) ในปี 2525 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) 

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในระดับนานาชาติ ที่ผ่านมา กนอ.ได้พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมาแล้วรวม 2 ระยะ ในปี 2535 และปี 2542 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่และทันสมัย นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่อำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้