“บีโอไอ” กระตุ้นลงทุน “อีอีซี” หนุนหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ

“บีโอไอ” กระตุ้นลงทุน “อีอีซี” หนุนหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ

หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายขออีอีซี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีมาตรการส่งเสริมเพื่อยกระดับการผลิต เปิดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนได้ถึงเดือน ธ.ค.2565 ประเมินว่ามีโรงงานในอีอีซีที่เข้าเงื่อนไขถึง 10,000 แห่ง

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงเป็นพื้นที่หลักในการผลักดันการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคการผลิต โดยคำขอรับส่งเสริมการลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในปี 2564 มี 10 โครงการ มูลค่าการลงทุน 0.44 พันล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 13 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1.12 พันล้านบาท

ซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมองว่าจะเติบโตมากขึ้นในปี 2565 โดยบีโอไอมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นให้มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งให้สิทธิประโยชน์เพิ่มหากใช้ของในประเทศถึง 30% จะได้รับสิทธิเพิ่มจาก 50% เป็น 100%
 

นอกจากนี้ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนยังมีการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับให้อุตสาหกรรม อาทิ โครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการอุดหนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีการสำรวจสมาชิกเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยบนฐานของการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ และจะทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอย่างมากสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาค  “บีโอไอ” กระตุ้นลงทุน “อีอีซี” หนุนหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ

นอกจากนี้ บีโอไอร่วมมือกับพันธมิตรเตรียมจัดงาน Subcon Thailand EEC และ งาน Maintenance, Industrial Robotic, and Automation Event (MIRA) ครั้งแรก ในวันที่ 24-26 ส.ค.2565 ซึ่งเป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมชั้นนำในเขตอีอีซี โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการเชื่อมโยงจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศกับผู้ซื้อในประเทศในอีอีซี ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสำคัญ และมีผู้ผลิตรายใหญ่รวมตัวกันอยู่เป็นหลัก และสะท้อนให้เห็นว่าภาคตะวันออกยังเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมไทย

ภายในงานนอกจากจะมีส่วนจัดแสดงนวัตกรรมอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ยังมีกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ คาดว่าจะเกิดการจับคู่ภายในงาน 400 คู่ มูลค่า 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสัมนาหัวข้อที่เน้นการสร้างประสิทธิภาพทางการผลิตและการสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยี

"จะเป็นการแสดงศักยภาพของอีอีซีและภูมิภาคตะวันออกในการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ช่วยผู้ประกอบการต่อยอดพัฒนาศักยภาพการผลิตสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ และเพิ่มโอกาสการจับคู่ธุรกิจแก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกพื้นที่อีอีซีและภูมิภาคตะวันออก”

สมชาย จักรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า สถาบันไทย-เยอรมันมองว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตก้าวทันเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสถาบันไทย-เยอรมันจะร่วมส่งเสริมองค์ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับการบำรุงรักษาในโรงงานอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีล่าสุดที่เกี่ยวกับการผลิต ด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ และโซลูชั่นการบำรุงรักษา เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย

เกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวว่า สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยได้ผลักดันสมาชิกผู้ผลิตชิ้นส่วนในสมาคมโดยมีการจัดตั้งคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายรวม 5 คลัสเตอร์ เช่น คลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบิน และคลัสเตอร์ระบบราง และคลัสเตอร์ระบบอัตโนมัติ 

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นการขับเคลื่อนโดยกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานความรู้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีความคล่องตัว และมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย มีการปรับตัวและพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อโอกาสทางการค้าที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve  

สรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า อินฟอร์มา ผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับโลก พร้อมตอบสนองนโยบายการกระจายการเติบโตและการพัฒนาในตลาดภูมิภาคจึงได้จัดงาน Maintenance, Industrial Robotics, and Automation (MIRA) และ Subcon Thailand EEC ขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออก ซึ่งอีอีซีเป็นหนึ่งในภูมิภาคศักยภาพที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทย และเป็นโครงการสำคัญที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิตและมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 

ขณะเดียวกันการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลก็กำลังได้รับการยกระดับในสามจังหวัดของอีอีซี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อดึงการลงทุนและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการซ่อมบำรุง ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และโซลูชั่นสำหรับภาคอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของไทย เป็นพื้นที่จัดงานเพื่อการการประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในอีอีซีพร้อมเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงจังหวัดภาคตะวันออก

“นอกจากจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการธุรกิจและผู้เข้าเยี่ยมชมงานแล้ว ยังเป็นโอกาสของผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ผู้ให้บริการ และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง มาร่วมจัดแสดงงานเพราะสามารถพบปะพูดคุยกัน”