ก่อน “ยื่นภาษี” รู้หรือยัง? จ่าย-จับ-แจก “ของขวัญปีใหม่” แบบไหนต้องเสียภาษี

ก่อน “ยื่นภาษี” รู้หรือยัง? จ่าย-จับ-แจก “ของขวัญปีใหม่” แบบไหนต้องเสียภาษี

ทั้งกิจการ และพนักงาน ต้องรีบเช็คก่อนยื่นภาษี ทราบหรือไม่ว่า “ของขวัญปีใหม่” ที่นำมาแจกให้กับพนักงาน หรือแม้แต่กระเช้าของขวัญที่นำไปให้กับลูกค้า ล้วนต้องนำมานำยื่นภาษีในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

แม้ว่าจะผ่านช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่2565 กันมาได้สักพักแล้ว แต่หลายๆ กิจการที่ได้มีการจัดงานปีใหม่ มีทั้งจับและแจกของขวัญปีใหม่ให้กับพนักงาน และลูกค้ากันอย่างชื่นมื่น ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้มีผลทางภาษีทั้งของกิจการ และผู้ได้รับของขวัญปีใหม่ด้วย 

​เพราะเนื่องจากของขวัญปีใหม่ที่กิจการนำมาแจกให้กับพนักงาน หรือแม้แต่กระเช้าของขวัญที่นำไปให้กับลูกค้า มีมูลค่าแตกต่างกัน การนำรายจ่ายเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ทางภาษีก็จะแตกต่างกัน ซึ่งภาษีหลักๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย 

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

4. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ดังนั้น ภาษีเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ประเภทไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับกิจการและพนักงาน รวมถึงมีวิธีการนำรายจ่ายเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกัน   ​

  • จับ-แจกของขวัญปีใหม่ให้พนักงาน

​หากกิจการมีการซื้อของขวัญให้พนักงานจับในเทศกาลปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญ หรือ เงินรางวัล เป็นต้น โดยมีการกำหนดไว้ว่าเป็นสวัสดิการแก่พนักงานอยู่แล้ว จะถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการให้แก่พนักงานทุกคน โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีในองค์กร และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานของพนักงาน  

ดังนั้น กิจการสามารถใช้สิทธิทางภาษีได้ โดยต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางด้านของกิจการและพนักงานที่ได้รับของขวัญปีใหม่ ดังนี้

- กิจการ (นายจ้าง)

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล นำมาเป็นรายจ่ายได้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.1 ภาษีซื้อ ในกรณีที่กิจการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อของขวัญจับฉลากปีใหม่ย่อมเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการของกิจการ สามารถนำมาคำนวณหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (เครดิตภาษีขาย) ไม่ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

2.2 ภาษีขาย เมื่อมีการให้ของขวัญปีใหม่กับพนักงาน จะถือเป็นการขายสินค้า (จำหน่าย จ่าย โอน) กิจการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย)และนำส่งภาษีขายภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่ไม่ต้องทำใบกำกับภาษี ยกเว้นให้ของขวัญปีใหม่เป็นเงิน หรือบัตรกำนัล ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กิจการจำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากพนักงาน เมื่อพนักงานได้รับของขวัญปีใหม่แล้ว ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งปกติกิจการจะเป็นผู้ออกค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับพนักงานอยู่แล้ว โดยกิจการสามารถทำได้ ถ้ากิจการมีสัญญาว่าจะออกค่าภาษีให้ แต่ถ้าหากกิจการไม่มีสัญญาว่าจะออกให้ จะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

- พนักงาน (ลูกจ้าง)

ภาษีบุคคลธรรมดา ของขวัญปีใหม่ที่พนักงานได้รับจากการจับฉลากปีใหม่ เมื่อจับได้จะถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานผู้ได้รับจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

  • แจกของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้า

​นอกจากปีใหม่จะมีการสังสรรค์จับฉลากกันภายในองค์กรแล้ว ในทุกๆ ปี กิจการจะต้องมีการนำกระเช้าของขวัญหรือของชำร่วยไปสวัสดีปีใหม่ มอบให้กับลูกค้าผู้ให้การสนับสนุนกันมาตลอดทั้งปี ของขวัญที่นำไปมอบให้กับลูกค้าดังกล่าว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามกฎหมายแล้วกระเช้าของขวัญหรือของชำร่วยที่ให้แก่ลูกค้า ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม แต่สามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ โดยต้องเป็นค่ารับรองตามหลักเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด ดังนี้

- เป็นการให้ของขวัญ หรือรายจ่ายตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป หรือเทศกาลสำคัญต่างๆ

- เป็นการจ่ายรับรองให้กับบุคคลภายนอก

- ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ และมีหลักฐานการจ่ายอย่างถูกต้อง

- ค่าสิ่งของที่กิจการนำค่าใช้จ่ายไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ถ้าเป็นสิ่งของราคาต้องไม่เกิน 2,000 บาท ต่อชิ้น(รวม VAT) และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 0.3% ของยอดรายได้ ยอดขาย หรือทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ขึ้นอยู่ที่ว่ายอดไหนมากที่สุด และต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท

​2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม

​2.1 ภาษีซื้อ ของขวัญหรือของชำร่วยที่กิจการมอบให้ลูกค้าเพื่อสวัสดีปีใหม่ จัดเป็นภาษีซื้อต้องห้ามเพราะทางกฎหมายถือเป็นค่ารับรอง จึงไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้ แต่สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายค่ารับรองได้   

​2.2 ภาษีขาย ในกรณีที่กิจการนำของขวัญ หรือของชำร่วยไปมอบให้ลูกค้าเพื่อสวัสดีปีใหม่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ถือเป็นการขายในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องนำมูลค่าของขวัญดังกล่าวไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมออกใบกำกับภาษี  

ยกเว้นแต่ว่าของขวัญหรือของชำร่วยเหล่านี้ เข้าเงื่อนไขเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้ 

- ต้องเป็นของขวัญหรือของชำร่วยที่เป็นสินค้าจำพวกปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน โดยมีชื่อของผู้ประกอบการ ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่

- มูลค่าของขวัญหรือของชำร่วยที่มอบให้ลูกค้า จะต้องมีราคาไม่สูงเกินสมควร

ทั้งนี้ กิจการสามารถมอบของขวัญที่มีราคาสูงให้แก่ลูกค้าได้ แต่ต้องเสียภาษีมูลเพิ่ม

 3.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของขวัญหรือของชำร่วยที่กิจการมอบให้แก่ลูกค้า เพื่อสวัสดีปีใหม่ตามประเพณี ถือว่าเป็นการขายสินค้า กิจการไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 

สรุป

เมื่อมาถึงตรงนี้ สำหรับ “ภาษีของขวัญปีใหม่” ทั้งแบบที่กิจการซื้อมาเพื่อจับฉลากแจกให้กับพนักงาน และแบบที่มอบให้กับลูกค้าตามประเพณี ภาษีที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เพราะมีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยค่อนข้างซับซ้อน

ดังนั้น แนวทางการประหยัดภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถทำได้คือ

- กิจการควรเลือกให้รางวัลจับฉลากปีใหม่ เป็นเงินหรือบัตรกำนัลกับพนักงานแทนของขวัญ เนื่องจากเงินไม่ถือเป็นสินค้า จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

- ของขวัญหรือของชำร่วยที่มอบให้กับลูกค้า กิจการควรเลือกราคาหรือมูลค่าของขวัญที่ไม่สูงเกินสมควร เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม