“กอบศักดิ์”แนะผู้ประกอบการอสังหาฯเร่งลงทุนรับเฟสใหม่ของเศรษฐกิจไทย

“กอบศักดิ์”แนะผู้ประกอบการอสังหาฯเร่งลงทุนรับเฟสใหม่ของเศรษฐกิจไทย

“กอปศักดิ์”ชี้เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวผ่านปลายอุโมงค์ แนะผู้ประกอบการอสังหาฯเร่งลงทุนรับเฟสใหม่ของเศรษฐกิจ ระบุ แม้โอมิครอนระบาดแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้า เชื่อยอดติดเชื้อจะสูงสุดในเดือนมี.ค.นี้

นายกอปศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อมุมมองเศรษฐกิจไทยและอสังหาริมทรัพย์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และเทคนิคการเอาตัวรอดของผู้ประกอบการ ในงานอสังหาริมทรัพย์ดัชนีหลักชี้เศรษกิจปี 2022 ว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยได้เข้ามาใกล้ปลายอุโมงค์มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเรากำลังก้าวเข้าสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจจะมีความผันผวนหลายด้าน แต่ถ้าผ่านไปได้ เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปด้วยดี ซึ่งถือว่า มีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเตรียมตัว

ทั้งนี้ ในช่วงปลายอุโมงค์ของเศรษฐกิจไทยนั้น จะมีการแข่งขันที่มากขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้น คนที่เตรียมตัวได้ดี จะสามารถฟื้นตัวได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้ภาคธุรกิจอสังหาฯได้เตรียมตัวให้ดีในช่วงโค้งสุดท้ายที่จะออกจากวิกฤตทั้งการปรับปรุงกิจการ การลดต้นทุน การรับคนงานใหม่ การล็อกต้นทุนดอกเบี้ย การซื้อสินทรัพย์ การออกไปสู่ภูมิภาคและการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่จะ Lelocate เข้ามา

เขากล่าวด้วยว่า มี 5 คำถามสำคัญที่ผู้ประกอบการอสังหาฯอยากรู้ คือ 1.ถึงเวลาหรือยังที่ต้องเตรียมการลงทุนใหม่ ซึ่งประเด็นนี้ ขอตอบว่า ถึงเวลาแล้ว เพราะประเมินว่า ปัญหาโอมิครอนที่ระบาดหนักนั้น จะเป็นปัญหาในช่วงสั้นๆ เห็นได้จากในต่างประเทศที่ตัวเลขคนติดเชื้อที่สูงในระยะเวลาอันรวดเร็วแต่ก็ลดลงในเวลาอันสั้นเช่นกัน ขณะที่ อัตราการฉีดวัคซีนก็จะมากขึ้นหรือเกือบ 100%ในทั่วโลก หมายความว่า ภูมิต้านทานโรคจะดีขึ้น สำหรับไทยนั้น ประเมินโอมิครอนจะลดลงในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้

คำถามที่ 2 คือ เศรษฐกิจไทยและกำลังซื้อจะเป็นอย่างไร ประเด็นนี้ จะเห็นว่า ดัชนีเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นสอดรับกับ Google Mobility Index ที่ระบุว่า แม้โอมิครอนยังระบาด แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้านยังดี ยกเว้นภาคท่องเที่ยวที่ยังต่ำ อย่างไรก็ดี ในภาคการท่องเที่ยวนั้น ก็เริ่มกลับมาดีขึ้นหลังรัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยว คาดทั้งปี จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 6 ล้านคน

คำถามที่ 3 ต้นทุนและเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร ประเด็นนี้ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าต่างประเทศ และ คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีหรือตั้งแต่เดือนก.ย.จะเริ่มลดลง อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญกับผู้ประกอบการ คือ ราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาราวๆ 10% โดยเฉพาะราคาเหล็ก ซึ่งเป็นผลพวงของการปรับตัวของเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่า น่าจะทรงตัวได้ในช่วงต่อไป เนื่องจาก ราคาปรับขึ้นมามากแล้ว

สำหรับราคาน้ำมันนั้น ขณะนี้ ทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้เรามีปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและเป็นต้นทุนใหญ่ของโลกที่จะกระทบกับภาพรวมต้นทุนการดำเนินการต่างๆ ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น เชื่อว่า จะไม่มีการปรับขึ้นในอีก 1 ปี เพราะคนยังตกงานอยู่มาก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว แต่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรก็ปรับขึ้นไปแล้ว และ จะกระทบต่อต้นทุนหุ้นกู้ของทุกคน

คำถามข้อที่ 4 เรื่องค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าระหว่าง 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลพวงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการดึงสภาพคล่องกลับ

คำถามที่ 5 คือ นโยบายรัฐและLocation ที่มีศักยภาพ ซึ่งหลังจากที่ไทยผ่านความผันผวนต่างๆแล้ว ทุกอย่างจะเดินหน้าไปด้วยดี การลงทุนในหลายโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลก็จะเดินหน้าและจะเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ฉะนั้น จึงเป็นจังหวะสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯที่จะลงทุนใหม่