CPN ปี 64 กำไร 7,148 ล้านบาท ลดลง 25% จากผลกระทบโควิด

CPN ปี 64 กำไร 7,148 ล้านบาท ลดลง 25% จากผลกระทบโควิด

CPN เผยปี 64 กำไรสุทธิ 7,148 ล้านบาท ลดลง 25.2% เหตุรายได้ค่าเช่า - บริการลดลงจากผลกระทบโควิด ล็อกดาวน์ศูนย์การค้าร่วมกว่า 2 เดือน ย้ำลดต้นทุน - ค่าใช้จ่ายเพื่อให้กระทบผลการดำเนินงานน้อยที่สุด

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เปิดเผยว่า บริษัท และบริษัทย่อย รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2564 มีรายได้รวม 28,977 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.6 และกำไรสุทธิ 7,148 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.2 งวดไตรมาส 4 ปี 2564 รายได้รวมเท่ากับ 7,981 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 1,816 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

หากไม่รวมรายการที่มิได้เกิดขึ้นประจำและผลกระทบจากมาตรฐานรายงานทางการเงิน บริษัทมีรายได้รวมและกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 8.1 และ 39.4 ตามลำดับ งวดไตรมาส 4 ปี 2564 รายได้รวมและกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 0.1 และ 5.0 ตามลำดับ

โดยหลักมาจากการที่รายได้ค่าเช่าและบริการปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้มีการปิดให้บริการศูนย์การค้าชั่วคราวในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน

อย่างไรก็ดี บริษัทได้ดำเนินการลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผลการดำเนินงานให้ได้มากที่สุด และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 มีการฟื้นตัวของการเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าอย่างต่อเนื่องภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งช่วงเดือน ธ.ค.2564 เป็นช่วงเทศกาลและมีการผ่อนคลายมาตรการข้อจำกัดต่างๆ จากภาครัฐ

โดยบริษัทได้ให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการเชิงรุกด้านการรักษาความสะอาดและความปลอดภัยของลูกค้าและผู้มาใช้บริการภายในศูนย์อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทุกภาคส่วนเป็นหลัก และมีนโยบายบริหารต้นทุนและจัดสรรทรัพยากรภายในบริษัทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รวมไปถึงการบริหารจัดการกระแสเงินสดให้มีความเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในสภาวการณ์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนปัจจุบันบริษัท บริหารจัดการศูนย์การค้าทั้งสิ้น 36 แห่ง มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวมประมาณ 1.9 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) รวมถึงมีอัตราการเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าในประเทศเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2564 เท่ากับร้อยละ 91

ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย โดยหลักได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดปี โดยมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศถูกจำกัดจากการล็อกดาวน์ประมาณ 2 เดือนในช่วงไตรมาส 3 ปี 2664

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย กอปรกับการกระจายวัคซีนมีความคืบหน้าทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มีการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้าย อาทิ การบริโภคของครัวเรือนและ
ภาคเอกชน การลงทุนของภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้ การใช้จ่ายภาครัฐที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ และการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบแม้ว่าจะเปิดโปรแกรม Test and Go ช่วงกลางปี แต่จากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าช่วงปีก่อนหน้า

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ปี 2564 เศรษฐกิจไทยมีขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยการ
เติบโตของจีดีพีในปี 2564 อยู่ที่ระดับร้อยละ 0.8 ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพระบบการเงินต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์