‘จานด่วน’ จ่อปรับราคาหลังรัฐเลิกตรึง LPG

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะวัตถุดิบอาหาร ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่กำลังจะขึ้นราคา สะท้อนให้เห็นทิศทางค่าครองชีพโดยรวมที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน สวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ราคาไข่ไก่ ราคาน้ำมันพืช ราคาพลังงาน รวมถึงค่าไฟฟ้า

แม้ภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของผู้บริโภคบ้างแล้ว เช่น มาตรการตรึงราคาสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซหุงต้ม ราคาเนื้อไก่ โครงการหมูธงฟ้า แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหมวดค่าอาหาร 

ขณะที่มาตรการดูแลก๊าซหุงต้ม ภาคครัวเรือนที่ตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ 318 บาท/ถัง 15 กก.กำลังจะสิ้นสุดลงวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยจะปรับขึ้นแบบขั้นบันไดครั้งแรก 15 บาทอยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม และขยับระดับต่อไปอีก 30 บาท เป็น 363 บาท/ถัง 15 กก.

จากปัญหาราคาสินค้าแพงรวมถึงก๊าซหุงต้มที่กำลังจะขึ้นราคาเร็วนี้ พ่อค้าแม่ค้าบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น แต่ยังขายอาหารราคาเดิมเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค แม้จะได้กำไรน้อยลง แต่ต้องดูสถานการณ์อีกครั้งหากมีต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอาจจะต้องปรับขึ้นราคาบ้าง ทั้งนี้ อยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลราคาสินค้าไม่ให้แพงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ที่ต่างได้รับผลกระทบ

สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ม.ค. ที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบและราคาสินค้าสูงขึ้น ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ และมีโอกาสเงินเฟ้อครึ่งปีแรกจะสูงถึง 3% โดยประเมินทิศทางความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ. มีแนวโน้มลดลงอีกจากปัจจัยหลักเรื่องของแพง ราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าแพงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ รวมถึงความกังวลเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้รายได้ไม่สูงขึ้น และการแพร่ระบาดโควิด–19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ตัวเลขเริ่มกลับมาระบาดมากขึ้น

ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน