“คมนาคม” ยกเครื่องระบบราง กางแผนลงทุนไฮสปีดเทรน 1,673 กม.

“คมนาคม” ยกเครื่องระบบราง กางแผนลงทุนไฮสปีดเทรน 1,673 กม.

คมนาคมเดินหน้าลงทุนระบบราง ยกระดับการขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูง กางแผนแม่บทพัฒนาครอบคลุมทั้งประเทศ 1,673 กิโลเมตร นำร่องเปิดบริการเส้นแรกกรุงเทพ - นครราชสีมา ภายในปี 2569

กระทรวงคมนาคมเปิดแผนลงทุนในปี 2565 และแผนลงทุนระยะยาวที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้โจทย์ “ชีวิตคนไทยจะดีขึ้นอย่างไรบนแผนคมนาคม” ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญที่มีผลต่อการยกระดับโครงข่ายคมนาคมสู่การบริการประชาชนในมิติใหม่ เห็นจะเป็น “รถไฟความเร็วสูง” โดยปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 1,673 กิโลเมตร 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงมี 2 โครงการที่อยู่ในการจับตามองของประชาชนคนไทยมากที่สุด คือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐบาลประกาศมาตลอดว่าจะสามารถช่วยส่งเสริมในด้านการค้า การขนส่งและช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว กระจายรายได้ไปสู่ชุมชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยเชื่อมโยงประเทศไทยกับภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง กระทรวงคมนาคมได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น

แผนในปี 2565 กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการ คือ

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง งบประมาณ 179,412 ล้านบาท ตามแผนจะแล้วเสร็จปี 2569

2. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ปัจจุบันการออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในปี 2565 และมีแผนให้บริการในปี 2571

3. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ตามแผนจะแล้วเสร็จปี 2571 ส่วนช่วงอู่ตะเภา-ระยอง 40 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน และรายงานผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม

แผนลงทุนในอนาคตกระทรวงคมนาคมยังมีแผนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเพิ่มเติม ประกอบด้วย

1.เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุน

2.เส้นทางหัวหิน - สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 424 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนความเหมาะสมในการดำเนินการ

3.เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 335 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนความเหมาะสมในการดำเนินการ