“เกษตร”ติวเข้มล้งตะวันออก เปิดเกมรุกตลาดผลไม้ “จีน”

“เกษตร”ติวเข้มล้งตะวันออก  เปิดเกมรุกตลาดผลไม้ “จีน”

กรมวิชาการเกษตร สั่งเปิดอบรมโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก กรุยทางส่งตลาดจีน คาดปีนี้ผลผลิต 1.3 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1 แสนล้านบาท

จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย โดยปี 2564 ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไปจีนมูลค่า 5,075.88 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 83.41% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปจีนทั้งหมด รองลงมาส่งออกไปฮ่องกง มูลค่า 277.61 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 4.56% และที่เหลือเป็นการส่งออกไปตลาดอื่น 732.14 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 12.03%

 

ภัชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้สั่งการให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร จัดประชุมชี้แจงสร้างการรับรู้แนวทางการส่งออกผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2565 แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

“เกษตร”ติวเข้มล้งตะวันออก  เปิดเกมรุกตลาดผลไม้ “จีน”

ทั้งนี้ เพื่อวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีนและป้องกันผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจหลักเกณฑ์กฎระเบียบและขั้นตอนของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในการตรวจติดตาม รวมถึงเฝ้าระวังและควบคุมการส่งออกให้เป็นทิศทางเดียวกัน

รวมทั้งการประชุมครั้งนี้ "มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" จะเป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายแนวทางการส่งออกผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมาผลผลิตลำไยของจันทบุรีมีปัญหาตรวจพบศัตรูพืชทำให้จีนระงับนำเข้าลำไยจากโรงคัดบรรจุที่ได้รับการแจ้งเตือน โดยทางการจีนขอให้กรมวิชาการเกษตรระงับส่งออกชั่วคราวกับโรงคัดบรรจุที่ถูกแจ้งเตือนดังกล่าว เพื่อสอบสวนสาเหตุและกำหนดมาตรการควบคุมให้ทางการจีนพิจารณา ซึ่งจากการที่ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหาทำให้ปัจจุบันส่งออกได้ตามปกติ

 

ดังนั้นจึงต้องป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดอีกในฤดูกาลส่งออกทุเรียนและมังคุดของจันทบุรี กรมวิชาการเกษตรจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบผลผลิตเพื่อป้องกันปัญหาศัตรูพืชควบคู่มาตรการป้องกันโควิด-19 โดยสร้างการรับรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตั้งแต่ที่สวนให้เกษตรกร

 

พร้อมย้ำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามแนวทางของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ในโรงคัดบรรจุอย่างเคร่งครัด โดยหากจีนตรวจพบโควิด-19 ในผลไม้ไทยสินค้าจะถูกทำลาย ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยในจีนด้วย

ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้มีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุพื้นที่ภาคตะวันออก โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุด (DMA) และสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) ฝึกอบรมมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุให้ผู้ประกอบการและผู้ควบคุมคุณภาพประจำโรงคัดบรรจุ 400 คน

 

รวมทั้งจัดทำคู่มือและคลิปวีดิโอ การบริหารจัดการโรงคัดบรรจุที่ถูกต้องตามมาตรฐาน GMP และมาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง

 

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนในการส่งออกผลไม้ โดยจะเพิ่มมาตรการตรวจติดตามโรงคัดบรรจุ GMP Plus (มาตรการ GMP+Covid-19) ควบคู่มาตรการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนเพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนช่วงต้นฤดู ซึ่งจะส่งผลให้ราคาตกต่ำและผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นคุณภาพทุเรียน

 

รวมทั้งได้เตรียมแผนรองรับการตรวจปิดตู้คอนเทนเนอร์ของด่านตรวจพืช และการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) โดยเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงดังกล่าวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอีกหนึ่งเท่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้การส่งออกคล่องตัว

 

นอกจากนี้ข้อมูลการเพาะปลูกไม้ผลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด มีการปลูกไม้ผลส่งออกที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุดและลำไย พื้นที่รวมกว่า 7 แสนไร่ คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีผลผลิตส่งออก 1.3 ล้านตัน ทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยลำไยอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว