โจทย์ "ผู้แทนการค้าไทย" เร่งดึงการค้า-ลงทุนหลังโควิด

โจทย์ "ผู้แทนการค้าไทย"  เร่งดึงการค้า-ลงทุนหลังโควิด

“ผู้แทนการค้าไทย” หรือ Thailand Trade Representative (TTR) เป็นตำแหน่งที่สำคัญในรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่เจรจาการค้าและการลงทุนแทนนายกรัฐมนตรี

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ม.ค.2565 เห็นชอบแต่งตั้ง ม.ล.ชโยทิต กฤดากร อดีตผู้บริหารบริษัทเจพีมอร์แกน ประเทศไทย ให้เป็นผู้แทนการค้าไทย ควบคู่ตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ถือเป็นคนแรกของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ​ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดังกล่าว 

การแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยไม่เกิน 5 คน และแต่งตั้งคนหนึ่งเป็นประธานผู้แทนการค้าไทย

สำหรับอำนาจหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ครอบคลุมการบริหารงานด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน เป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการเจรจากับต่างประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งเรื่องอื่นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ ท่าทีของรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ตามประเด็นที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

 

เกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ผู้แทนการค้าไทยสำคัญมากเพราะเป็นตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี และหากเป็นประธานผู้แทนการค้าเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี โดยการทำงานหากกำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจนจะขับเคลื่อนได้มาก 

"สมัยที่ผมดำรงเป็นประธานผู้แทนการค้าไทย ได้วางแผนร่วมกันกับนายรัฐมนตรีและกระทรวงต่างๆ ทำงานมียุทธศาสตร์จนเข้าไปเปิดตลาดตะวันออกกลางทั้งตลาดสินค้าอาหารที่ไปสร้างคลังเพื่อความมั่นคงในตะวันออกกลาง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุน โดยในการค้าให้มีการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคไปตะวันออกกลาง ขณะที่ธุรกิจก่อสร้างที่ไทยได้ประโยชน์เป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงริเริ่มการเจรจาทวิภาคีและพหุภาคีหลายกรอบ"

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์การค้า การลงทุนและการเมืองระหว่างประเทศแตกต่างกัน ซึ่งผู้แทนการค้าไทยต้องวางยุทธศาสตร์ว่าจะผลักดันเรื่องใดที่มีความสำคัญในระยะเวลาสั้น เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมถึงเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น ไทย-อินเดีย รวมทั้งการเปิดตลาดการค้าในตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้แทนการค้าไทยต้องวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า การตั้งผู้แทนการค้าไทยมีความสำคัญเพราะเป็นกลไกเข้าไปเจรจาเรื่องสำคัญด้านการค้าและการลงทุน

 

 ซึ่งสหรัฐมีผู้แทนการค้าที่ทำหน้าที่แทนผู้นำในการเจรจานอกรอบทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แล้วนำข้อมูลเสนอประธานาธิบดีเพื่อประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรฟื้นการตั้ง "สำนักงานผู้แทนการค้าไทย" ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานในการสนับสนุนการทำงานของผู้แทนการค้าไทย โดยเฉพาะข้อมูลเพราะในการเจรจาต้องมีความรอบรู้ทั้งในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ กลไกการค้า การลงทุน ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้สามารถต่อรองในด้านต่างๆเพราะการเจรจานั้นไปเจรจาแทนนายกรัฐมนตรีซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยตรงของประเทศ

สำหรับความเร่งด่วนของผู้แทนการค้าไทย คือ การเตรียมพร้อมในการหารือกับผู้นำประเทศ นักธุรกิจ และนักลงทุนที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมากในการประชุมเอเปกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะประเด็นที่เราจะให้ความสำคัญเช่น การส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) การเจรจากับชาติสมาชิกที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ไทยจะร่วม CPTPP รวมทั้งการเจรจากับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นในปัจจุบันเช่นในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ได้แก่ เปรู ชิลี

โจทย์ \"ผู้แทนการค้าไทย\"  เร่งดึงการค้า-ลงทุนหลังโควิด

ก่อนหน้านี้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดึงการลงทุนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ว่า ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะตัดสินใจมาลงทุนในไทย เพราะการระบาดรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะไทยแต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหลายประเทศขณะนี้แม้ฉีดวัคซีนไปมากแต่ยังเผชิญกับการแพร่ระบาด

รวมทั้งแม้มีการระบาดระลอกใหม่แต่การทำงานของคณะทำงานชักจูงการลงทุนในประเทศไทยยังทำงานต่อเนื่อง โดยผลักดันแผนชักจูงการลงทุนที่ครอบคลุมมีทั้งเป้าหมายการชักจูงการลงทุนและการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ซึ่งได้รับฟังความเห็นและประชุมออนไลน์ร่วมกับนักลงทุนต่างประเทศเป็นระยะ

“ขณะนี้ทุกประเทศแข่งขันกันโดยเฉพาะอาเซียนโดยธุรกิจเข้ามา คือ กลุ่มอุตสาหกรรม S-curve กลุ่มธุรกิจ 5G ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการให้มาลงทุน และการเข้ามาลงทุนของแต่ละประเทศจะดึงอุตสาหกรรมชั้นนำแต่ละประเทศ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศก้าวหน้ามาก เช่น จีน”

สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นนั้นไทยได้ประโยชน์จากการกระจายการลงทุนและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยถ้าไทยตอบโจทย์การชักจูงการลงทุนที่เป็นเทรนด์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก เช่น การลดคาร์บอน เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล จะทำให้การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกับโลก

“ตอนนี้มีแค่เพียงบางหน่วยงานที่ทำงานแบบนี้เชิงรุก ตอนนี้ต้องทำงานเป็นทีมผมเองเป็นเหมือนกับมดงาน ก็ได้ชี้สิ่งที่เป็นอุปสรรค และสิ่งที่เป็นโอกาสของการลงทุนของไทยให้ทุกฝ่ายได้เห็น”