'ชโยทิต' ดึงต่างชาติลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

'ชโยทิต' ดึงต่างชาติลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“ม.ล.ชโยทิต” ยันไทยเดินหน้าดึงต่างชาติลงทุน แม้โควิดระบาดระลอกใหม่ หวังอุตสาหกรรมเป้าหมาย - ธุรกิจ 5จี เตรียมชงแผนแก้อุปสรรคลงทุนเข้า ศบศ.ตามคำสั่งนายกฯ ภายใน 1 เดือน

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ในฐาะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดนี้จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากการระบาดรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในหลายประเทศขณะนี้แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้ว แต่ก็ยังเผชิญกับการแพร่ระบาด ก็จะประสบปัญหาเหมือนกัน เช่น ชิลีมีการฉีดไปแล้วกว่า 50% ก็ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แม้จะมีการระบาดเกิดขึ้นการทำงานของคณะทำงานชักจูงการลงทุนในประเทศไทยก็ยังทำงานต่อเนื่อง โดยเร็วๆนี้จะมีการเสนอแผนที่เป็นรูปธรรมให้กับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณา มีทั้งเป้าหมายในการชักจูงการลงทุน และในเรื่องของการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค โดยได้มีการรับฟังความเห็นและประชุมออนไลน์กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นระยะๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ระยะเวลาในการจัดทำแผนงานเชิงปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

"ขณะนี้ทุกประเทศมีการแข่งขันกันอยู่โดยเฉพาะในอาเซียน ธุรกิจที่จะเข้ามา คือ กลุ่มอุตสาหกรรม S-cruve เป็นกลุ่มธุรกิจ 5จี และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราต้องการให้เข้ามาลงทุนจะมาก่อน และการเข้ามาลงทุนของแต่ละประเทศจะดึงเอาอุตสาหกรรมชั้นนำแต่ละประเทศ เช่น ในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก เช่น ประเทศจีน ส่วนที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ก็กำลังดูในส่วนของประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น"

ม.ล.ชโยทิต กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นประเทศไทยได้ประโยชน์ในเรื่องของการกระจายการลงทุน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของต่างชาติ หากเราสามารถตอบโจทย์การชักจูงการลงทุนในเรื่องของการลงทุนที่เป็นเทรนด์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก เช่น ในเรื่องของการลดคาร์บอน เศรษฐกิจสีเขียว และดิจิทัล ก็จะทำให้การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของเราไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาของโลก ซึ่งการเติบโตยิ่งขยายตัวได้เร็ว

ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องแข่งขันและดูการเปลี่ยนแปลงของหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการที่ดีมาก คือ อินโดนิเซีย และทุกประเทศก็คาดหวังให้การลงทุนทางตรง (FDI) เข้าไปลงทุนมาก และหลายประเทศมีเศรษฐกิจที่มีจุดแข็ง เช่น อินโดนิเซียที่มีประชากรมาก และมีทรัพยากรมากทำให้มีโอกาสในการเติบโต มีการดูแลนักลงทุนที่เป็นแบบ one stop service ที่ทำให้การชักจูงการลงทุนได้ผล ซึ่งต่างจากประเทศไทย one stop service ยังไม่เกิดขึ้นจริง